ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ร่วมแถลงข่าวพร้อมด้วย รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม, ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์, นพ.วิญญู ชะนะกุล
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์นิทราเวช ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก World Sleep Day 2018” สร้างความตระหนักเรื่องการนอนหลับอย่างถูกวิธีพิชิตโรคร้าย ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ร่างกายของคนเราจะได้หยุดพักและฟื้นฟู ซ่อมแซม และปรับสมดุลต่างๆ แต่หลายคนกลับมองข้าม การพักผ่อนไม่เพียงพอและปัญหาจากการนอนหลับในเวลากลางคืนที่เราไม่รู้ตัวนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับชีวิตได้
สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine : WASM) จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก : World Sleep Day ขึ้นในวันศุกร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมในทุกๆ ปีเพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ หากไม่เร่งแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้
นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 45% ของประชากรโลกเคยมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการนอน โดยที่ 35% จะเป็นอาการนอนไม่หลับเป็นสำคัญ และพบว่าในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับนั้นจะมีปัญหาขาดงานหรือทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหานอนไม่หลับถึงสามเท่า นอกจากนั้นพบว่าการนอนที่ไม่เพียงพอทำให้ การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิในการทำงานต่างๆ ลดลง หากปล่อยไว้นานยังส่งผลต่อการดำเนินโรคในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าอีกด้วย
ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนอนหลับโลกจัดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยมี Slogan “Sleep Well, Live Fully Awake” หรือเป็นคำขวัญว่า “หลับสนิทชีวิตตื่นตัว” โดยจัดในวันศุกร์ก่อนฤดูใบไม้ผลิ เดือนมีนาคม และมีการจัดงานเป็นประจำทุกปีต่อมา งานวันนอนหลับโลกได้จัดกิจกรรมขึ้นในทั่วโลก ในขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 67 ประเทศ และสถานที่จัดงานจะปรากฏใน www.worldsleepday.org โดยตัวแทนวันนอนหลับโลกในแต่ละประเทศ จะทำงานเพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงปัญหาจากการหลับ ในรูปแบบต่างๆ
ศูนย์นิทราเวช
สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดวันนอนหลับโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และในปีนี้สมาคมฯร่วมกับกรมสุขภาพจิต และศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดสัปดาห์วันนอนหลับโลกขึ้น โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับจากสหสาขาต่าง ๆ ทั้งทางอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ และ โสต ศอ นาสิก และเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเพื่อส่งเสริมการศึกษา และการฝึกอบรมรวมทั้งเผยแพร่วิทยาการเกี่ยวกับความผิดปกติจากการหลับ
ทางด้าน รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม โรคทางการหายใจและภาวะวิกฤติทางการหายใจ/หัวหน้าศูนย์นิทราเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวต่อว่า การจัดงาน “วันนอนหลับโลก “World Sleep Day” ของศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “World Sleep Week” ก็ได้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทางศูนย์นิทราเวช จัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการนอนที่ถูกสุขภาวะ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของการนอนหลับ
โดยกิจกรรมประกอบด้วย “รักษ์การนอน Walk Rally” ในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2561 ตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. ณ บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร และมีการจัด “นิทรรศการวันนอนหลับโลก” ตลอดทั้งสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม 2561 ณ โถงชั้น G อาคาร ภปร และในวันนอนหลับโลกประจำปีซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2561 จัดให้มีกิจกรรม “อบรมให้ความรู้เรื่องโรคความผิดปกติจากการนอนหลับสำหรับประชาชน” ภายใต้หัวข้อ World Sleep Day, Join the sleep world, Preserve your rhythms to enjoy life. เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้อง ประชุม 1301 ชั้น 13 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
สำหรับศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยในพิเศษ 14 ชั้น มีความโดดเด่นด้านการบริการผู้ป่วยด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขา มีแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคความผิดปกติทางการนอนหลับ การให้บริการของศูนย์จะประกอบด้วย คลินิกผู้ป่วยนอก (OPD) เปิดให้บริการในวันจันทร์-อังคาร เวลา 13.00 16.00 น. ห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ(Sleep Laboratory) เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 20.00-07.00 น. นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ฝึกสอนแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีกด้วย