นักแสดงชื่อดัง แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ร่วมกิจกรรม
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ฝ่ายจักษุวิทยา และภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการโรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus Meeting) และกิจกรรมเสวนาให้ความรู้และแนวทางการรักษาเกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งกับประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่16-17 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ บริเวณหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา ตึก 14 ชั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โดย รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวว่า ทางศูนย์เลเซอร์สายตาฯ ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยในวันแรกจะเป็นกิจกรรมภาควิชาการ คือ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการของจักษุแพทย์ (Workshop) เรื่อง “การใส่วงแหวนเพื่อรักษากระจกตาโก่งครั้งแรกของประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะการใส่วงแหวนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จักษุแพทย์ที่สนใจก็จะได้เรียนรู้ ได้ฝึกปฏิบัติจริง และพัฒนาศักยภาพในการรักษาร่วมกันเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
ส่วนกิจกรรมในวันที่สองของงานนั้นจะเป็นกิจกรรมภาคประชาชนภายใต้ชื่อ “KC FamilyDay” จัดขึ้น ณ โถงชั้นล่าง บริเวณหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา ตึก 14 ชั้น ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. ภายในงานจะพบกับกิจกรรมที่หลากหลายเช่น การเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางกระจกตาและข้อแนะนำเพื่อการดูแลรักษาดวงตา โดยมีนักแสดงชื่อดังอย่าง แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ร่วมเสวนา และมี Mini Concert โดย โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ (นักร้องนำวง Cocktail) ร่วมด้วย พร้อมทั้งกิจกรรมร่วมสนุกชิงรางวัลอีกมากมายจากผู้สนับสนุน
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะกระจกตาโก่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับการขยี้ตาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มักขยี้ตาด้วยการใช้ข้อนิ้วกดลูกตา จนเกิดการโก่งของกระจกตา อันจะส่งผลต่อค่าสายตา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้กระจกตาพิการและตาบอดได้
สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระจกตาโก่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.อายุ 10-20 ปี กลุ่มนี้โรคมักมีอาการรุนแรง มีอาการสายตาสั้นและมักจะต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากค่าสายตาจะเปลี่ยนเร็ว 2.อายุ 20-30 ปีโรคจะนิ่งๆ ไม่เป็นมาก แต่เป็นกลุ่มคนที่เริ่มมีรายได้แล้วหันมาทำเลสิกแก้ไขปัญหาสายตาสั้นซึ่งก่อนที่จะทำเลสิก จักษุแพทย์จะทำการตรวจและพบว่ามีกระจกตาโก่ง โดยผู้ที่กระจกตาโก่งจะห้ามทำเลสิก เพราะการทำเลสิกจะทำให้กระจกตาบางลง และผู้ที่กระจกตาโก่งจะกระจกตาบางอยู่แล้ว และ 3 กลุ่มที่ไม่แสดงอาการรู้ตัวเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจวัดทางจักษุแพทย์
ส่วนวิธีการรักษาแบบใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงจักษุแพทย์ ก็คือ การใส่วงแหวนขึงกระจกตาและการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Crosslinking) ถือเป็นอีกทางเลือกที่ให้ผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีความซับซ้อนและต้องรอคอยกระจกตาจากผู้บริจาคอวัยวะนั่นเอง
นอกจากนี้ รศ.พญ.งามจิตต์ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ผู้ที่สายตาสั้นหรือเอียง แล้วต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ เนื่องจากค่าสายตาสั้น หรือสายตาเอียงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือ 100 หรือ -1.0 ต่อปี อาจต้องพึงระวังโรคกระจกตาโก่ง และเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียด และแนะนำว่าไม่ควรขยี้ตาอย่างรุนแรงด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี