เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีแห่งการสวรรคต 13 ตุลาคม 2561 ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกรชาวไทยมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย
หนังสือพิมพ์แนวหน้าขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนใน หนังสือ “สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 (81 พรรษา 12 สิงหาคม 2556) มาเผยแพร่เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตสู่ความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
ทรงเริ่มวางรากฐานนำสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ย้อนไปเมื่อ 67 ปีก่อน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติยังคงดำเนินไปอย่างเป็นวัฏจักร จนมนุษย์สามารถพยากรณ์ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรายังน่ารื่นรมย์ คนส่วนใหญ่จึงไม่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างอาศัยเกื้อกูลกันแต่พระมหากษัตริย์และพระราชินีของประเทศไทยทรงมองการณ์ไกลถึงผลร้ายของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย และความจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างอาศัยเกื้อกูลกัน จึงทรงเริ่มวางรากฐานเพื่อนำสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาในภายหลัง โดยทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกด้านและทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลากว่า 67 ปีภายหลังจากทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่กันมาตลอด พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงดำเนินการทุกวิถีทางด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและ
ห่วงใยราษฎรของพระองค์ เหมือน “พ่อและแม่ ที่รักและห่วงใยลูกอยู่ตลอดเวลา”โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในทุกหนแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นป่าลึก ขุนเขา หรือต้องทรงพระดำเนินฝ่าหนองน้ำและลำธารอันยากลำบาก เพื่อช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนในทุกๆ เรื่องของราษฎร โดยเฉพาะผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและตรากตรำพระวรกายอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบาก จนอาจกล่าวได้ว่า “ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน” อย่างแท้จริง เพื่อนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าและประชาชนมีความผาสุก ร่มเย็น สมดังพระราชปณิธานที่พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระปฐมบรมราชโองการนี้มีความหมายลึกซึ้ง แสดงถึงพระราชปณิธานตั้งมั่นที่จะทรงอุทิศบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทั่วแผ่นดิน ทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และคิดค้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือเหล่าพสกนิกรให้พ้นจากความยากจน ไปสู่ความพออยู่พอกินและมีความสุข ขณะเดียวกันทรงอนุรักษ์ พิทักษ์รักษา และแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแผ่นดินตั้งแต่ท้องฟ้า ผืนดิน จรดใต้ท้องทะเล เพื่อความสมดุลของสรรพชีวิตให้มีความยั่งยืน
สัจธรรมแห่งการทรงงานเพื่อความสุขของประชาชน การที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทรง “เข้าใจและเข้าถึง” ความเดือดร้อนและความต้องการของราษฎร เพื่อที่จะทรงใช้ทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงที่พระองค์มีอยู่มาช่วยเหลือ หรือ “พัฒนา” เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้พ้นจากความยากจน โดยทรงยึดหลักการสำคัญคือ ความสอดคล้องกับภูมิสังคมที่แตกต่างกัน และจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนามีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนา รวมทั้งทรงยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
หลักการสำคัญของพระองค์ทรงคำนึงถึงความสอดคล้องเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาตลอด ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติและสภาวะตามธรรมชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จึงทรงนำความรู้จริงในความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาใช้ในการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติให้เข้าสู่ระบบปกติ ทรงใช้หลัก “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” อันเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยทรงใช้หลักอธรรมปราบอธรรม คือการใช้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนามาหักล้างกันให้มีผลออกมาเป็น “ธรรม” ได้ ตลอดจนทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนโดยการใช้วิธีปลูกป่าในใจคน และใช้หญ้าแฝกแก้ไขปัญหาดินพังทลาย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ “การบริหารแบบบูรณาการ” โดยทรงมีวิธีคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำตามลำดับขั้น และจัดบริการรวมที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกและประโยชน์แก่ประชาชน และไม่ว่าจะทรงงานใดก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทรงทำทุกวิถีทางเพื่อ “มุ่งผลสัมฤทธิ์” เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ไม่ทรงคำนึงถึงผลกำไรที่เป็นตัวเงิน ไม่ทรงยึดติดตำรา เป็นการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพแห่งธรรมชาติ และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน และหัวใจสำคัญของการทรงงานคือพระองค์โปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาของทุกโครงการ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า การพัฒนาก็คือการทำสงครามกับความยากจน หากสามารถช่วยให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีได้ จึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เป็น “ชัยชนะของการพัฒนา” อย่างแท้จริง พระองค์จึงทรงงานอย่างหนักในการต่อสู้กับความยากจน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ให้สามารถพึ่งตนเองได้ อันจะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
พระราชทาน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เส้นทางสู่ความยั่งยืน จุดหมายของการพัฒนาที่มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความ “กินดีอยู่ดี” หรือ “พออยู่พอกิน” นั้น เป็นพระราชดำรัสที่ทรงชี้แนะให้ประชาชนนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตมาเกือบ 40 ปีแล้ว และต่อมาพระราชทานให้ใช้คำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยในปัจจุบันได้มีภาคส่วนต่างๆ น้อมนำไปปฏิบัติเป็นจำนวนมาก
การพัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นั้น คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน
ในตัวที่ดี ตลอดจน ใช้หลักวิชาความรู้มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความเพียร อย่างรอบคอบ ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและในการกระทำ ทำงานอย่างมีความสุข รู้ รัก สามัคคี ก็จะนำไปสู่ ความก้าวหน้าอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วประเทศ เป็นการทรงงานเพื่อรับทราบทุกข์สุข และปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงของประชาชน ด้วยการศึกษาข้อมูลจากสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่แท้จริง ตามสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของแต่ละภูมิภาค เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด จนมีคำกล่าวว่า “ไม่มีที่ไหนในประเทศไทยที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปไม่ถึง”
นับเป็นการทรงงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับความยากจน ความด้อยโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งทำให้ราษฎรจมอยู่กับความทุกข์ยาก พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ไปโอบอุ้มและดึงเขาเหล่านั้นขึ้นมาให้ได้พบกับความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืน ต่อมาได้ขยายไปสู่โครงการพัฒนาด้านต่างๆ ครอบคลุมวิถีชีวิตทุกด้านของประชาชน ซึ่งขอยกตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่นับเป็นโครงการแรกที่สำคัญใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมทั้งผลสำเร็จที่นำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนพอสังเขป ดังนี้
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก คือ โครงการถนนห้วยมงคลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานเมื่อปี 2495 เพื่อให้ราษฎรใช้สัญจรและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวก ปีถัดมาได้พระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรก โดยมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในปี 2498 มีพระราชดำริให้ศึกษาทดลองการทำฝนเทียมหรือฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้แก่พสกนิกร ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะถึง 14 ปีจึงประสบความสำเร็จในปี 2512 หลังจากนั้นได้พระราชทานฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้แก่ราษฎรจวบจนถึงปัจจุบัน
ปี 2506 ได้พระราชทานโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 ที่บ้านแม้วดอยปุย ตำบลหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กชาวเขา ซึ่งนับเป็นโรงเรียนพระราชทานแห่งแรก และปี 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ทูลเกล้าฯ ถวายปลานิล จึงทรงทดลองเลี้ยงในสวนจิตรลดา จนได้ผลดีจึง พระราชทานปลานิลแก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ จนถึงวันนี้ปลานิลได้กลายเป็นปลายอดนิยมของคนไทยทีเดียว
ปี 2512 มีพระราชดำริพัฒนาให้ชาวเขาปลูกกาแฟแทนฝิ่น จากนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงแนะนำและทรงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2515 ได้พระราชทานความช่วยเหลือชาวเขาและชาวไร่ด้านเกษตรกรรม และจัดให้มีตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคายุติธรรม อีกทั้ง ทรงจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 ณ อำเภอฝาง ซึ่งนับเป็นโรงงานหลวงพระราชทานแห่งแรกจากนั้นสินค้าภายใต้ชื่อ “ดอยคำ” ก็แพร่หลายในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ปี 2516 ทรงเปิดโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกที่บ้านหนองแคน ตำบลดงหลวง จังหวัดนครพนม อันเป็นการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยขณะนั้นเป็นทางผ่านของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และได้พระราชทานพระราชดำรัสอันเป็นที่มาของยุทธศาสตร์“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และในปี 2518พระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดสร้างสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง อันเป็นสหกรณ์การเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก ก่อนที่จะมีสหกรณ์การเกษตรเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา
ปี 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น“มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อส่งเสริมงานศิลปาชีพให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎร รวมทั้งทรงก่อตั้งโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาและศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ โดยมีการดำเนินงานนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ช่วยให้ราษฎรมีรายได้ดี จนบางครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลัก
ปี 2522 มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกที่เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นตัวอย่างความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งต่อมาได้พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในภาคต่างๆ รวมเป็น 6 แห่ง จนถึงปี 2556 มีผลการศึกษาวิจัยถึง 1,240 เรื่อง
ปี 2525 มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการป่ารักน้ำ เริ่มทดลองเป็นครั้งแรกที่บ้านน้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้เป็นบริเวณต้นน้ำลำธาร กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เดิมไว้ ขณะเดียวกันก็ปลูกป่าเสริมด้วย โดยราษฎรเป็นผู้ลงแรงปลูกและดูแลบำรุงเลี้ยง บนพื้นดินที่ทรงซื้อและทรงเช่าพระราชทาน รวมทั้งพระราชทานเงินเดือนแก่ราษฎรผู้ยากจนที่เข้าโครงการ ช่วยให้มีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ โครงการนี้ได้ขยายไปอีกหลายพื้นที่ มีราษฎรเข้าร่วมโครงการและถวายที่ดินเป็นจำนวนมาก
ปี 2531 มีพระราชดำริให้พัฒนาบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาและจัดทำเป็นศูนย์สาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดของเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก ประชาชนได้ใช้เป็นที่ศึกษาดูงานจนเกิดความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองเป็นจำนวนมาก
ปี 2534 มีพระราชดำริให้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ จนถึงปัจจุบันมีการส่งเสริมและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกไปแล้ว 4,500 ล้านกล้า อนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกกว่า 200 เรื่อง
ปี 2535 เสด็จฯ ไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมให้ราษฎรพัฒนาอาชีพการเกษตรทฤษฎีใหม่ และระหว่างปี 2546-2549 ได้พัฒนาให้มีความจุมากขึ้น และผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มาเพิ่มเติมให้พื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยัง และได้พระราชทานภาพร่างฝีพระหัตถ์ตัวยึกยือ เป็นแนวทางพัฒนาล่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร-นครพนม โดยการสร้างประตูระบายน้ำเป็นตอนๆ กักเก็บน้ำได้รวม 68.3 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ 165,000 ไร่
นอกจากนี้ มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งแรก ที่บ้านทันสมัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เพื่อให้คน ป่า และสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอาศัยเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพเสริมให้กับประชาชน เพื่อมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้ประชาชนหยุดการบุกรุกทำลายป่าไม้ และช่วยดูแลรักษาให้มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม จนปัจจุบันได้ขยายการดำเนินงานไปในหลายพื้นที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่บนแผ่นดินไทย
ปี 2536 มีพระราชดำริให้พัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แก้ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าไปในลำน้ำ ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรและนาร้าง 1.9 ล้านไร่ แบ่งเขตทำกินระหว่างการเลี้ยงกุ้งที่ใช้น้ำเค็มและการเกษตรที่ใช้น้ำจืด อันเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ มีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ชะล้างดินเปรี้ยว และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 185,000 ไร่
ปี 2537 มีพระราชดำริให้พัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทราย จังหวัดมุกดาหาร โดยสร้างอ่างเก็นน้ำ 7 แห่ง ความจุรวม 24.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำได้ 8,900 ไร่ พัฒนาอาชีพแบบบูรณาการและฟื้นฟูป่าไม้ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ช่วยเหลือการประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อีกทั้งพระราชทานโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อให้บริการด้านความรู้ ปัจจัยการผลิต พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตประชาชนลาว 9 หมู่บ้าน เป็นการขยายผลการพัฒนาสู่สากล และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ต่อมา สปป.ลาว ได้ขยายผลโครงการไปยังแขวงอื่นๆ ทั่วประเทศ
ปี 2542 มีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ความจุ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 174,500 ไร่ รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนแห่งแรกขึ้น ในพื้นที่บ้านมะโอโคะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และบ้านปางคอง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านจัดตั้งใหม่บนเขา เพื่อให้ชาวเขาที่อยู่ตามแนวชายแดนร่วมปกป้องรักษาประเทศ ด้วยการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัยและการพัฒนาอาชีพ และต่อมาจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ช่วยสร้างความผาสุกให้แก่ราษฎรชาวเขา อีกทั้งสร้างสำนึกรักป่า และที่สำคัญยิ่งคือช่วยปกป้องรักษาแผ่นดินไทยตามแนวชายแดนเป็นอย่างดี
ปี 2546 มีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ความจุ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 75,000 ไร่ และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง นอกจากนี้ มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ ณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยขณะนี้มีจำนวน 17 แห่ง กระจายอยู่ใน 6 จังหวัดทางภาคเหนือ ช่วยสร้างความผาสุกให้แก่ราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก ชาวไทยภูเขาได้มีอาชีพเกษตรตามหลักวิชาการแผนใหม่ ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย มีอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ดีขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปี 2554-2555 นอกจากโครงการที่มีพระราชดำริดังตัวอย่างข้างต้น ยังมีโครงการที่ทรงรับฎีการาษฎรไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2554-2555 มีจำนวน 79 โครงการกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาค
4,350 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ประมวลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่างๆ จนถึงเดือนกันยายน 2555 รวมแล้วมีจำนวนถึง 4,350 โครงการ และจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทุกจังหวัดของประเทศ ประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดคือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 2,955 โครงการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหมายที่พระองค์มีพระราชดำริว่า “น้ำคือชีวิต” ซึ่งทรงให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ทั้งในมิติของน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย
โครงการที่มีจำนวนมากรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา 395 โครงการ โครงการพัฒนาส่งเสริมด้านอาชีพ 325 โครงการ โครงการพัฒนาแบบบูรณาการและอื่นๆ 234 โครงการ โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 165 โครงการ โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 145 โครงการ โครงการพัฒนาด้านคมนาคมและการสื่อสาร 76 โครงการ และโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 55 โครงการ
หากพิจารณาถึงการกระจายตัวของโครงการไปในภูมิภาคต่างๆ แล้ว ปรากฏว่า มีโครงการในภาคเหนือมากที่สุดถึง 1,660 โครงการ รองลงมาตามลำดับได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,088 โครงการ ภาคใต้ 822 โครงการ ภาคกลาง 766 โครงการ และไม่ระบุภาค 14 โครงการ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เป็นการเรียนรู้ที่มีรากฐานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย แนวพระราชดำริอันเป็นสัจธรรมแห่งการพัฒนาเกิดจากพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ลุ่มลึก และรอบด้าน ทรงแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จวบจนวันนี้ได้ปรากฏผลสัมฤทธิ์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในทุกๆ ด้าน
ผู้ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงงานเพื่อประชาชนที่พระองค์ทรงรักอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้รับจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายดังกล่าว รวมทั้งจากการที่พระองค์ทรงร่วมมีบทบาทในการแนะนำแนวทางเพื่อพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ย่อมเป็นประจักษ์พยานว่า การทรงงานพัฒนาประเทศเพื่อต่อสู้กับความยากจนของพระองค์ได้ประสบชัยชนะแล้วอย่างงดงาม
จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งยังแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ การทรงงานพัฒนาของพระองค์ได้หยั่งรากการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยอย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันทรงสอนให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง อันนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
พระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่หนังสือเล่มนี้ได้นำมาเสนอ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของแนวพระราชดำริและโครงการพัฒนาเท่านั้น ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “การทรงงานช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ เป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ควรค่าที่พสกนิกรชาวไทยจะน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และน้อมนำมาแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตสู่ความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี