เสื้อยืดและกระเป๋าเป้จากคอลเลคชั่นรักษ์โลกที่อัพไซคลิ่งจากขยะพลาสติกในเมืองไทย
ปัจจุบัน “พลาสติก” เข้ามามีบทบาทในแทบทุกกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะ “ขวดเครื่องดื่ม” โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเฉลี่ย 4 พันล้านใบต่อปีแต่อีกด้านหนึ่ง “พลาสติกกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก” ประการหนึ่งที่สำคัญคือ “ขยะมูลฝอย” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “พลาสติกใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย” ดังนั้นหากขวดพลาสติกที่ใช้แล้วถูกทิ้งลงสู่ธรรมชาติจะเป็นปัญหามาก
ทิ้งลงทะเลก็กลายเป็นขยะบกตกทะเล ซึ่งไทยถูกระบุว่าเป็นชาติที่ทิ้งลงสู่ทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือถึงจะทิ้งบนบกการจัดการอย่างไม่ถูกวิธีก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หากนำไปเผาจะเกิดควันพิษจากสารเคมีเป็นอันตรายต่อร่างกายสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม “หากบริหารจัดการให้ดีพลาสติกก็จะมีมูลค่ามหาศาล” และทำได้มากกว่าการนำกลับมาใช้ซ้ำ (รีไซเคิล - Recycle) อันเป็นกระบวนการที่หลายคนคุ้นเคย
จิรายุ ตั้งศรีสุข, นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์, อุสรา ยงปิยะกุล, สุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ และ ปฏิภาณ สุคนธมาน ร่วมเปิดไฟต้นคริสต์มาสรีไซเคิล
ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนหันมาตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอลจำกัด (มหาชน) ที่รู้จักกันในชื่อ “จีซี” (GC) หรือ “พีทีทีจีซี” (PTTGC) ได้เปิดตัวเสื้อผ้าและกระเป๋าจากโครงการ “Upcycling the Oceans, Thailand” นำขวดพลาสติกที่นักดำน้ำและประชาชนจิตอาสาร่วมกันเก็บขึ้นมาจากใต้ทะเลและบริเวณชายหาด ทั้งจากเกาะเสม็ด จ.ระยอง และในพื้นที่ จ.ภูเก็ต อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกของไทย นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสวมใส่ใช้งานได้จริง
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) บอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า “พลาสติกนั้นไม่ได้ผิดอะไรในตัวเอง หากเราไม่ไปทำให้กลายเป็นขยะ” พีทีทีจีซีในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก จึงอยาก “สร้างความตระหนักรู้”แก่สังคมในเรื่องนี้
เจมส์จิ ออกแบบลวดลายเสื้อ
โครงการ Upcycling the Oceans,Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ ECOAF เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก.พ. 2560 รวบรวมขวดพลาสติกที่ถูกมองว่าเป็นขยะได้มากถึง 20 ล้านตัน นำมาผ่านกระบวนการ “อัพไซคลิง” (Upcycling) ที่หมายถึง “การนำสิ่งที่ดูไม่มีคุณค่ามาผ่านกระบวนการแปรรูปพร้อมใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป” จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
“จีซีเราอยากมีส่วนร่วมตรงนี้ เป็นการฝึกให้เห็นว่าสิ่งที่ยากที่สุดเพราะขวดพลาสติกเป็นขยะไปเรียบร้อยแล้ว เรายังนำกลับมาสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้ลองนึกภาพถ้าเราไม่ทำให้เป็นขยะ พลาสติกที่เราใช้แล้วเราเก็บแยกแล้วนำไปส่งโรงงานที่ทำรีไซเคิล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่าย เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้เองในครัวเรือน นั่นคือสิ่งที่เราจะดำเนินในขั้นตอนต่อไป”
ภายในงานมีการเปิดตัวคอลเลคชั่นเสื้อยืด “Upcycling the Oceans, Thailand”ที่เสื้อ 1 ตัว จะทำจากขวดพลาสติก 14 ขวด แบ่งเป็น 3 แบบคือ “Upcycling the Oceans, Thailand” บ่งบอกถึงพลังใจของผู้คนที่ร่วมกันเก็บขยะขวดพลาสติกในทะเลเพราะอยากให้ท้องทะเลสะอาดและสวยงาม “From Trash to Trashion” มาจากการนำภาษาอังกฤษ 2 คำคือ “Trash” หมายถึงขยะ และ “Fashion” หมายถึงแฟชั่นมาผสมกัน หรือก็คือการเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าแฟชั่นได้อย่างลงตัว
สุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ ปธ.จนท.และกก.ผจก.ใหญ่บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล และอุสรา ยงปิยะกุล ปธ.จนท.บริหารบจ.สยามพิวรรธน์ รีเทล โอลดิ้ง ร่วมแถลงข่าว
และแบบที่ 3 “Trash to Treasure”ที่ถือเป็นไฮไลท์ของงานและเรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะได้ดารานักแสดงหนุ่มชื่อดังอย่าง “เจมส์จิ” จิรายุ ตั้งศรีสุขมาร่วมออกแบบลวดลายบนเสื้อด้วย โดยเป็นรูป “นาฬิกาทราย” สื่อความหมายการนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งมาเปลี่ยนให้เป็นสินค้าแฟชั่นที่สวยงามมีมูลค่าสูง ซึ่งนักแสดงหนุ่มเปิดเผยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงที่กำลังถ่ายทำละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะ
“โจทย์คือ Trash to Treasure ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาขวดพลาสติกมาทำเป็นอะไรดี หรือจะทำเป็นรูปอะไรดีจนสุดท้ายก็ได้สิ่งนี้มา เป็นรูปนาฬิกาทรายที่ด้านบนมีมือยื่นออกมาเหมือนการทิ้งขยะ เรียกว่าคล้ายๆ กับโลกปัจจุบันนี้ที่เรากำลังทิ้งขยะลงไป ซึ่งถ้าเรานำมาใช้อย่างถูกที่ถูกทาง หรือว่านำกลับมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพของมันจริงๆ เหมือนรูปข้างล่างที่ผมตีไปว่าสามารถสร้างเมืองเลยก็ได้ หรือว่าสร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาได้” เจมส์จิ กล่าว
กระเป๋าเป้จากคอลเลคชั่นรักษ์โลก
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงต้นคริสต์มาสในคอนเซ็ปต์ “Gift to Circular Living #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก” ซึ่งทำมาจาก “กล่องใส่แผ่นซีดี” สูง 10 เมตร กว้าง5 เมตร โดยดีไซเนอร์ชื่อดัง ธนวัต มณีนาวาจากแบรนด์ “TAM : DA (ทำดะ)” เปิดเผยว่า เหตุที่เลือกกล่องใส่แผ่นซีดีเพราะปัจจุบันแผ่นซีดีค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆมีผู้ใช้งานน้อยลง ดังนั้นกล่องใส่แผ่นซีดีซึ่งทำจากพลาสติกจึงมีแนวโน้มกลายเป็นขยะไปด้วยโดยปริยาย โดยต้นคริสต์มาสนี้ใช้กล่องใส่แผ่นซีดีประมาณ 2,500 กล่อง
ขณะที่ อุสรา ยงปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกับทางจีซีในการสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องของพลาสติก เช่น ภายในสยามดิสคัฟเวอรี่มีการจัดโซน “Ecotopia”สำหรับจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ต้นคริสต์มาสรีไซเคิล ทำจากกล่องใส่ซีดีเหลือใช้
ส่วนต้นคริสต์มาสที่ทำจากกล่องใส่แผ่นซีดีที่นำมาจัดแสดงในพื้นที่สยามดิสคัฟเวอรี่นั้นมุ่งหวังกระตุ้นเตือนให้ผู้คนรู้จักสังเกตและนำสิ่งของเหลือใช้รอบตัวมาสร้างประโยชน์ และนอกจากต้นคริสต์มาสแล้วบริเวณงานยังประดับประดาด้วยพลาสติกหลากสีสัน ซึ่งหลังจากจบงานแล้วกล่องใส่ซีดีทั้งหมดจะถูกแปรรูปเป็นถังขยะต่อไป ส่วนพลาสติกอื่นๆ จะถูกนำไปรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างคุณค่าให้พลาสติกอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์แฟชั่นรักษ์โลกในโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand สามารถเลือกซื้อที่ได้ Ecotopia ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่,ร้านภัทรพัฒน์ ทุกสาขา รวมถึงที่เฟซบุ๊ค แฟนเพจ “Upcycling the Oceans Thailand” และนอกจากเสื้อยืดแล้ว เร็วๆ นี้จะมีกระเป๋าเป้สุดเท่ที่ทำจากขวดพลาสติกออกมาวางจำหน่าย ส่วนจะเป็นเมื่อใดขอให้รอติดตาม!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี