พิธีลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ มจธ.
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย ทรงมุ่งมั่นและทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึ่งมีราคาแพง โดยเฉพาะ “โรคมะเร็ง” จึงทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานในการพัฒนายาชีววัตถุภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ” โดยโปรดให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์คิดค้นและพัฒนายาชีววัตถุให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง “Trastuzumab” (ทราสทูซูแมบ) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของประเทศไทย ที่ทำการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยคนไทย เริ่มตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอและพัฒนาเป็นเซลล์ต้นแบบ โดยไม่ใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งได้ลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นับเป็นความสำเร็จในการนำยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นเข้าสู่กระบวนการการผลิต ซึ่ง มจธ. มีโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility : NBF) เพื่อให้ได้ยาในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการนำไปศึกษาความปลอดภัยของยาเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อไป องค์ความรู้ใหม่ๆ นี้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพระดับสากลได้ในราคาที่ไม่แพง และประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุที่ใช้รักษาโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้เอง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจของประเทศ
6 เดือนต่อมา ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ จากห้องปฏิบัติการขยายสู่กระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot Scale) ในถังปฏิกรณ์ ขนาด 50 ลิตร ตามแนวพระนโยบายที่มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถผลิตยาชีววัตถุได้มากเพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาชีววัตถุทางกายภาพ และเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้ สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วย (Clinical Trial) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อไป นับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากการวิจัยสู่การผลิตยาชีววัตถุที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้
นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้พัฒนาขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้นำไปสู่การดำเนินงานร่วมกับทีมงานจากมหาวิทยาลัยMassachusetts Institute of Technology(MIT) ในการก่อตั้ง แอสเทรลลา เทคโนโลยีส์ (Astrella Technologies) เพื่อการคิดค้นและพัฒนาสารชีววัตถุเพิ่มศักยภาพในการวิจัยและลดต้นทุนการนำเข้าสารชีววัตถุของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระดับสูงอื่นๆ ได้ในราคาที่ลดลง ตามนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ทำให้สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ระยะ 20 ปี 2560-2579ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศอันจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ “การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บทสรุปความสำเร็จของการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง Trastuzumab ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ครั้งนี้ เริ่มจากการตัดต่อดีเอ็นเอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนายาชีววัตถุจนพร้อมที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ การพัฒนาการผลิตตามแนวพระนโยบายของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นับเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่ไม่ได้อาศัยการถ่ายทอดหรือซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีสากล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยงบประมาณและนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายสาขาทำงานร่วมกัน โดยคำนึงถึงคุณภาพของยาเป็นหลัก มิใช่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากการลงทุน ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ การศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วย (Clinical Trial) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย จากนั้นจึงนำยาขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบาย และงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องจากภาครัฐ นับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างพื้นฐานสำคัญให้แก่ประเทศอันนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าต่อไปในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี