วัดคือสถานที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมชาวพุทธ ดังนั้นวัดจึงถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาอย่างสูงสุดของเหล่าพุทธศานิกชน วัดจึงเป็นศูนย์รวมของงานพุทธศิลป์ และงานศิลป์ชั้นยอดของแต่ละสังคมและชุมชนในแต่ละยุคสมัย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า หากมนุษย์ต้องการจะย้อนกลับไปดูความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมและงานศิลป์ของยุคสมัยต่างๆ จึงต้องกลับไปดูที่วัดสำคัญๆของแต่ละชุมชน
วัดไหล่หิน หรือวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง คือหนึ่งในพุทธสถานสำคัญที่งดงามบริบูรณ์ไปด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโดยแท้ งดงามถึงขนาดที่ว่าช่างศิลป์ชั้นยอดของแผ่นดินไทยยอมยกให้เป็นต้นแบบแห่งหนึ่งของแก้วงามแห่งงานศิลป์ล้านนา
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดบ่งบอกว่าวัดไหล่หินก่อสร้างในปี พ.ศ. ใด แต่นักโบราณคดีชาวตะวันตก ดร.ฮันส์ เพนธ์ ได้พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ที่สุดของวัด ระบุไว้ว่ามีการพูดถึงวัดนี้ตั้งแต่จุลศักราช 833 หรือ พ.ศ. 2014
วิหารของวัดแห่งนี้มีขนาดเล็กมาก ซึ่งมีที่นั่งให้ผู้เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ไม่เกิน 15 คนเท่านั้น (ขนาด 3 คูณ 5 เมตร) อันแสดงให้เห็นว่าการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาในพระวิหารในสมัยนั้นน่าจะอนุญาตให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องจริงๆ เท่านั้นเข้าไปอยู่ในเขตกระทำพิธีกรรมได้
สถาปัตยกรรมของวัดไหล่หินคือพุทธสถานศิลปะล้านนา ซึ่งประกอบไปด้วย ลานกว้าง หรือข่วงใช้สำหรับทำกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งอยู่ด้านหน้าพระวิหารนอกกำแพงแก้ว ส่วนในเขตกำแพงแก้วจะมีวิหารโถง ศาลาบาตร และลานทราย ส่วนหลังวิหารมีเจดีย์หนึ่งองค์ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ อันที่จริงความคิดในเชิงสถาปัตยกรรมเช่นนี้ก็คือการจำลองจักรวาลนั่นเอง คือวิหารเปรียบเสมือนชมพูทวีป ส่วนเจดีย์ก็เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ส่วนลานทรายในเขตกำแพงแก้วก็เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร
ศิลปะล้านนาแบบสกุลช่างลำปางปรากฏชัดที่วัดไหล่หิน คือ ในเขตพุทธาวาสจะก่อสร้างด้วยอาคารขนาดเล็กกะทัดรัด แต่เน้นความงดงาม อาคารสร้างด้วยอิฐแล้วฉาบปูน ประดับลวดลายปูนปั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ งานศิลป์สกุลช่างลำปางจะอ่อนช้อยน้อยกว่าสกุลช่างเชียงใหม่ สังเกตได้จากหลังคาวิหารที่แอ่นโค้งน้อยกว่างานช่างของเชียงใหม่ ซึ่งเรียกในภาษาชาวลำปางว่าฮ้างปู้ หมายถึงลักษณะรูปร่างของผู้ชาย วิหารเป็นอาคารโล่งมีผนังเพียงแห่งเดียวอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปประธาน ส่วนหลังคาวิหารซ้อน 3 ชั้น 2 ตับ มุงกระเบื้องดินเผาปลายตัด หน้าบันประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่แสนวิจิตร ชายคาเป็นไม้ฉลุลวดลายวิจิตรตามเชิงช่างลำปาง แต่หลังจากมีการซ่อมแซมบูรณะพระวิหาร ทำให้เครื่องลำยองของวิหารถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ คล้ายกับโบสถ์วิหารแบบศิลป์ของภาคกลาง
สำหรับจุดเด่นอีกอย่างของวัดนี้คือซุ้มประตูโขงที่มีลักษณะละม้ายกับซุ้มประตูโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ซุ้มประตูวัดไหล่หินประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นพญานาค หงส์ และตัวเหงา ลายพรรณพฤกษา และมีตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ประดับไว้บนซุ้มประตูโขง กำแพงแก้วด้านนอกข้างประตูโขงทั้งสองข้างมีรูปปั้นกินรีแบบนูนต่ำประดับ และเมื่อไปถึงวัดแห่งนี้แล้ว ขอย้ำว่าอย่าลืมดูคันทวย ลวดลายนาคตัน ที่อยู่รอบพระวิหาร และอาคารเก่าแก่ด้านซ้ายของพระวิหาร(ด้านซ้ายเมื่อหันหน้าเข้าหาพระวิหาร)
ความสำคัญอีกประการของวัดนี้คือ ในอดีตนั้นเป็นที่เก็บคัมภีร์โบราณไว้มากมาย จึงมีพระและเณร รวมถึงผู้คนที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าไปศึกษาเล่าเรียนจากพระคัมภีร์กันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันคัมภีร์โบราณบางส่วนยังเก็บรักษาไว้ที่หอธรรมของวัด คัมภีร์โบราณได้แก่ คัมภีร์สกาวกณณี มีจำนวน 7 ผูก(364 หน้า) จารด้วยภาษาบาลี และตัวอักษรล้านนา เมื่อ ปี จ.ศ. 601 หรือ พ.ศ. 1782
อันที่จริงความวิจิตรของวัดไหล่หินที่ได้บรรยายมานี้ นับได้เพียงว่าเป็นแค่เศษเสี้ยวความงามที่แท้จริงเท่านั้น หากคุณสนใจจะไปท่องเที่ยวแบบเจาะลึกในวัดแห่งนี้ และสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้คุณได้ทั้งความบันเทิงใจ และทั้งสาระที่ลึกซึ้ง เป็นการเที่ยวแบบกลุ่มเล็กๆ เน้นความเป็นกันเอง เที่ยวแบบไม่รีบไม่ร้อนรน โปรดติดต่อ 091-7233615
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี