ปัจจุบันการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์ การทหาร และการบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ปี 2562ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 ภายใต้แนวคิด “Robot for a Greener Planet” มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทย จำนวน 88 คน จาก 32 สถาบันการศึกษา มาแบ่งแบบคละสถาบันออกเป็นทีมละ4 คน รวม 22 ทีม เพื่อคัดเลือกตัวแทนทีมประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ International Design Contest RoBoCon 2019 : IDC RoBoCon 2019ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2562 ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทค สวทช. มีภารกิจในการนำความรู้ ความเข้าใจจากผลงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีคุณค่า ทั้งในรูปของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ อาทิ เครื่องมือ อุปกรณ์ระบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ และกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ (RDC) มีเป้าหมายที่จะฝึกฝนทักษะและพัฒนาความสามารถด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษา แต่เป็นทีมแบบคละสถาบันเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีการวางแผน ออกแบบและการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ
สำหรับ RDC 2019 ได้มีการตั้งชื่อทีมเป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เนื่องจากโจทย์การแข่งขันในปีนี้เป็นการจำลองสถานการณ์การขนส่งระบบรองเพื่อพาผู้โดยสารที่อยู่ตามบ้านหรือตามจุดรับ-ส่งต่างๆ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดได้อย่างสะดวกประหยัดและรวดเร็ว ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ 2 ชนิด คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ(Auto Robot) และหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) โดยหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ให้และต้องดีไซน์หุ่นยนต์ให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดย Manual Robot จะปฏิบัติภารกิจในการเก็บลูกบอลซึ่งเป็นตัวแทนของคนจากหน้าบ้านไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด ขณะที่ Auto Robot เปรียบเสมือนรถไฟฟ้าที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางภายในระยะเวลาที่กำหนด การแข่งขันดำเนินการไปอย่างเข้มข้นจนวินาทีสุดท้ายทีม “สถานีสิรินธร”คว้าแชมป์ RDC 2019 ไปในที่สุดโดยทีมประกอบด้วย ธี-หัฏฐะเนตรวิรุฬห์ศรี หัวหน้าทีม จากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, อ้น-ดำรงฤทธิ์แทบทาม หนุ่มวิศวะอารมณ์ดีจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, โปรตอน-พัทธกานต์ เลิศปัญญาวิทย์อนาคตวิศวกรมืออาชีพ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล และสาวน้อยหนึ่งเดียวในทีม ขนุน-ดวงกมล สายะบุตร สาววิศวะจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“RDC 2019” อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ซึ่งถือเป็นเวทีระดับประเทศในการเฟ้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2019 เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เยาวชนไทยก้าวสู่การเป็นบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี