ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผิวหนังเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นผิวก็จะเริ่มแก่ขึ้น ผิวที่แก่ขึ้นนอกจากจะสร้างความแก่จะหย่อนคล้อยของผิวหนังแล้ว ยังนำมาสู่โรคและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ทำให้บางครั้งเกิดความกังวลว่าโรคเหล่านี้เป็นอันตรายหรือไม่
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แนะนำให้รู้จักกับ 7 โรคหรือภาวะผิวหนังที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เจตน์ วิทิตสุวรรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยว่า โรคที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคกระเนื้อ จะพบได้ทั้งในและนอกร่มผ้า ทั้งบริเวณที่โดนแดดและไม่โดนแดด โดยมีลักษณะเหมือนก้อนดินน้ำมันติดอยู่ที่ผิวหนัง เมื่อดูในรายละเอียดจะเห็นว่าก้อนกระเนื้อจะมีผิวที่ขรุขระดังนั้น ถ้าพบโรคในลักษณะแบบนี้ไม่ต้องกังวล เนื่องจากเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้คือ ประวัติครอบครัวที่มักจะพบในกลุ่มญาติหรือพ่อแม่ที่เป็นโรคเหล่านี้ด้วย กระเนื้อไม่มีอันตรายแต่บางครั้งอาจจะมีการอักเสบและระคายเคืองจนทำให้แดงขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สงสัย สามารถมาพบแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ทั่วไปเพื่อตรวจวินิจฉัยได้
โรคติ่งเนื้อ จะเป็นตุ่มยื่นหลายๆ ตุ่มบริเวณซอกพับของร่างกายไม่ว่าจะเป็นลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบ ถึงจะเป็นโรคที่ไม่มีอันตราย แต่ในบางครั้งติ่งเนื้ออาจจะเกิดการระคายเคืองได้เมื่อถูกับเสื้อผ้าหรือสร้อยคอที่สวมใส่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแดงและอักเสบได้
ไฝแดง หรือ Cherry Angioma เกิดจากการที่ผิวหนังมีอายุมากขึ้น และเกิดการเพิ่มจำนวนหรือการขยายของเส้นเลือดบริเวณผิวหนังชั้นบน ทำให้เกิดตุ่มแดงๆ ขึ้นตามร่างกายโดยเฉพาะตามลำตัว เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่จะเป็นก็ต่อเมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่บางครั้งอาจเกิดการอุดตันในหลอดเลือดของไฝแดงทำให้ไฝเปลี่ยนเป็นสีดำและมีอาการเจ็บ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรมาตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนว่าเป็นไฝแดงหรือเป็นโรคอื่น
ต่อมไขมันขยายขนาดโตขึ้น โรคนี้มักพบบริเวณใบหน้าและพบได้เสมอเมื่อผิวแก่ ต่อมไขมันที่โตขึ้นจะมีลักษณะเป็นตุ่มเหลืองๆ มักมีหลุมตรงกลางที่เรียกว่าเป็น UmbilicatedPapule ลักษณะคล้ายเป็นร่องลงไป โดยเป็นการขยายขนาดของต่อมไขมันเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีอันตราย แต่บางครั้งอาจจะทำให้ดูคล้ายมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อย ในชื่อ basal cell carcinoma ได้หากสงสัยให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
โรคก่อนมะเร็งผิวหนัง ส่วนใหญ่เกิดบริเวณผิวหนังที่โดนแดดไม่ว่าจะเป็นบริเวณแขน ใบหน้า หรือหนังศีรษะในกรณีที่ไม่ค่อยมีเส้นผมหลงเหลืออยู่แล้ว ลักษณะของโรคนี้จะเป็นกลุ่มของตุ่มสีแดงๆ มีพื้นผิวขรุขระ ถ้าใช้มือลูบสัมผัสจะรู้สึกว่ามีสะเก็ดให้ความรู้สึกหยาบและสาก
โรคมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma จะมีลักษณะเป็นก้อนโตเร็ว บางครั้งมีอาการเจ็บแล้วอาจแตกออกเป็นแผลได้ อาจพบบริเวณผิวหนังที่ปกติหรือผิวหนังที่มี Actinic Keratisis (แอกทินิกเคอราโทซิส) หรือบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยร่วมด้วย
โรคมะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มใสๆ แล้ว
ก็มีสีแดงๆ ของเส้นเลือดที่ขยายตัว บางครั้งผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นไฝ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าไฝไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าเห็นตุ่มลักษณะคล้ายไฝดูมันๆ ให้พบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจาก Basal Cell Carcinoma แม้จะพบบ่อยแต่ก็สามารถรักษาได้ง่าย และไม่มีอันตราย ถ้าตรวจวินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์อายุรกรรมใกล้บ้านได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี