ปัจจุบันพบว่า สุนัขและแมวของเราอยู่กับเราได้นานขึ้น เนื่องจากเขาได้รับการทำวัคซีนอย่างครบถ้วนและได้รับการป้องกันโรคบางโรค เช่น โรคพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อของเราป่วยก็มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพช่วยในการรักษา เมื่อสุนัขและแมวเข้าสู่วัยชราก็มักพบปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ ฟันโยก โรคปริทนต์ กรามหักอันเกิดจากกระดูกติดเชื้อจากโรคปริทนต์ ฝีรากฟัน ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากสุนัขและแมวของเราได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดีตั้งแต่เด็กจนโตเต็มวัย และการดูแลต้องกระทำต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต
การดูแลสุขภาพช่องปากในสุนัขและแมวประกอบด้วยอะไรบ้าง
การดูแลสุขภาพช่องปากในสุนัขและแมวประกอบด้วย
1.พาไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
2.ได้รับการขูดหินปูนอย่างเหมาะสม
3.การดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองที่บ้าน
ต้องพาสุนัขไปตรวจร่างกายที่อายุเท่าใดบ้าง
โปรแกรมการตรวจร่างกายของลูกสุนัขโดยคร่าวๆประกอบด้วย
1.อายุ 8 และ 12 สัปดาห์
เมื่อลูกสุนัขและแมวมีอายุ 8 สัปดาห์ ควรมีฟันน้ำนมขึ้นครบทั้งหมด และอยู่ในแนวการสบฟันที่เหมาะสม หากฟันน้ำนมขึ้นผิดที่แล้วทำให้การสบฟันผิดปกติไป อาจทำให้เกิดการเจริญของขากรรไกรล่างและ/หรือขากรรไกรบนที่ผิดปกติตามมาได้ จึงควรทำการถอนฟันน้ำนมที่ขึ้นผิดตำแหน่งออก ในการถอนฟันต้องทำการวางยาสลบสุนัขและแมว ดังนั้นจึงต้องทำการตรวจเลือดและทำการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวสุนัขและแมวก่อนการวางยาสลบ
2.อายุ 4 เดือน
เมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 4 เดือน จะเป็นช่วงที่มีการผลัดเปลี่ยนฟัน หากพบว่าฟันแท้ขึ้นแล้วโดยที่ฟันน้ำนมที่ตำแหน่งเดียวกันไม่ยอมหลุด ถือว่าเกิดความผิดปกติที่เรียกว่าฟันน้ำนมค้างขึ้น ควรทำการถอนฟันน้ำนมค้างออกเนื่องจากหากปล่อยไว้ ฟันน้ำนมที่ค้างอาจทำให้ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาได้ เช่น การสบฟันที่ผิดปกติ การเจริญอย่างไม่สัมพันธ์กันของขากรรไกรบนและล่าง ฟันแท้ที่ขึ้นผิดตำแหน่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่ออ่อนข้างเคียงได้แก่เหงือก เพดานปาก ริมฝีปากแล้วแต่ตำแหน่งของฟัน โดยตำแหน่งของฟันที่พบฟันน้ำนมค้างได้บ่อยคือ ฟันตัดและฟันเขี้ยว ความผิดปกตินี้พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา หรือ ปอมเมอเรเนียน ซึ่งเชื่อว่าเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
3.อายุ 6 เดือน
เมื่อลูกสุนัขอายุ 6 เดือน ควรมีฟันแท้ขึ้นครบ หรือเกือบครบ หากพบฟันน้ำนมค้างควรถอนฟันน้ำนมที่ค้างออก ในสุนัขหน้าสั้น เช่น บูลด็อก บ๊อกเซอร์ และสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา หรือ ปอมเมอเรเนียน มักพบการแออัด และการบิดของฟัน ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดปัญหาโรคปริทนต์ตามมา จึงควรทำการถอนฟันที่แออัดออกบางซี่
4.พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี
สุนัขและแมวควรได้รับการขูดหินปูนหรือไม่
เมื่อพบว่าสุนัขและแมวมีหินปูน ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อให้สัตวแพทย์ช่วยประเมินว่าควรได้รับการขูดหินปูนแล้วหรือยัง หากสุนัขและแมวมีหินปูนมาก ควรได้รับการวางยาสลบและทำการขูดหินปูนเนื่องจากหากปล่อยไว้หินปูนจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรคทำให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบ, โรคปริทนต์, กระดูกหักจากการติดเชื้อจากโรคปริทนต์ตามมาได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ววิธีเดียวที่จะกำจัดหินปูนออกได้คือ การขูดหินปูน
การขูดหินปูนในสุนัขและแมวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางยาสลบสุนัขและแมวเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวสุนัขและแมวเอง และผู้ปฏิบัติงาน การวางแต่ยาซึมแล้วทำการขูดหินปูนอาจทำให้สัตว์เครียด หวาดกลัว ดิ้นรน จนทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี