พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงติดตามการอนุรักษ์ฯ
จากการที่กองทุนพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการคัดลอกลายเส้นภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดป่าแดด เพื่อเก็บใช้เป็นต้นแบบศึกษาและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นได้ทำให้การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงให้ความสนพระทัยและเสด็จไปทรงติดตามการดำเนินการบูรณะวิหารและหอไตรของวัดป่าแดด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ครั้งนั้นพระองค์ได้ถวายปัจจัยแด่พระขจร คุณธาโร เจ้าอาวาสวัดป่าแดด เพื่อสมทบทุนสร้างหลังคาคลุมวิหารและหอไตรชั่วคราว รวมทั้งใช้ในการทำนุบำรุงวัดและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามพระดำริถึงการป้องกันน้ำฝนรั่วไหลเข้าสู่ภายในวิหารและหอไตร โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากรได้ดำเนินการติดตั้งนั่งร้านเพื่ออนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ด้วยการผนึกผนังให้แข็งแรงทำความสะอาดตะไคร่ที่เกาะผนัง และซ่อมสีบางส่วนให้ภาพมีความสมบูรณ์ตามแบบเดิมมากที่สุดตั้งแต่เดือเมษายน2561 จนแล้วเสร็จ
คณะติดตามการอนุรักษ์ฯ
วัดป่าแดดแห่งนี้เดิมชื่อวัดใหม่เมืองแม่แจ่ม หรือวัดเหนือ ตั้งคู่กันกับวัดใต้หรือวัดยางหลวงพระยาเขื่อนแก้ว อยู่ที่บ้านยางหลวง ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ วัดป่าแดด เป็นวัดสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 มีประวัติเล่าว่า เดิมชื่อวัดใหม่ เป็นวัดเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2370โดยพระยาเขื่อนแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองแจ่มได้ซื้อที่ดินทุ่งนาทุ่งป่าแงสร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2400แล้วนิมนต์ ครูบากุณา จากวัดอุโบสถอ.สันป่าตอง มาเป็นประธานสงฆ์ในการจัดสร้างวัด และมีพระสงฆ์อีก 3 รูป เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารจนแล้วเสร็จและฉลองเมื่อ พ.ศ.2428ต่อมาได้มีการสร้างหอไตรเมื่อ พ.ศ.2450 และเมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในพ.ศ.2530 จึงสร้างอุโบสถหลังใหม่ไว้นอกกำแพงเมื่อ พ.ศ.2543
คัมภีร์โบราณในหอไตร
สำหรับวิหารวัดป่าแดดแห่งนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยแบบล้านนาโบราณ หลังคาทรงเครื่องไม้ที่มีการจัดผังอาคารและหลังคาที่แตกต่างออกไปคืออาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบยกเก็จ โดยลดขนาดความกว้างของช่วงเสามีหลังคาสองตับสามชั้น ไม่มีมุขหน้าเป็นระเบียงโถงและไม่มีมุขหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนาโบราณ ภายในวิหารมีช่องเขียนภาพจิตรกรรมสีฝุ่นแบบล้านนาฝีมือช่างพื้นบ้านอายุกว่า 134 ปี ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากในเมืองแม่แจ่ม เขียนโดยช่างแต้ม นัยว่าเป็นชาวไตใหญ่ แต่จารึกอักษรอธิบายใต้ภาพนั้นเป็นอักษรล้านนา เรื่องราวของภาพนั้นเขียนเป็นภาพไตรภูมิ พุทธประวัติ เวสสันดรชาดกวิฑูรบัณฑิตในทศชาติ นิทานพื้นบ้านเรื่องย่าปู่จี่ หรือจันทคาธฯ และภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มก่อน 100 ปี ซึ่งมีภาพการทำนา และการแต่งกายคือผู้หญิงใส่เสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวนุ่งผ้าซิ่นลายขวางลำตัวเรียกว่า“ซิ่นต๋า” และสวมหมวกสานเรียกว่า “กูบ” ส่วนผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อยกเว้นอากาศหนาวเย็นและนิยมนำผ้ามานุ่งแบบถกเขมรเรียกว่านุ่งแบบ “เค็ดม้าม” ให้เห็นรอยสักที่มีการสักตั้งแต่เหนือเข่าจนถึงบริเวณสะดือ อันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นนิยม รวมมีภาพจิตรกรรมทั้งหมด 8 ช่อง ส่วนด้านหลังวิหารนั้นสร้างหอไตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ภายในมีคัมภีร์ใบลานรุ่นเก่า ภายนอกเขียนด้วยสีบนพื้นปูนเปียกมีปูนปั้นรูปเทวดา ลวดลายหน้าบันปั้นด้วยดินเหนียวอันเป็นเทคนิคช่างล้านนาโบราณ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงติดตามการอนุรักษ์ฯ
สำหรับการต่อยอดนั้นได้จัดแสดงข้อมูลให้เรียนรู้ถึงคุณค่าของจิตรกรรมฝาผนังทั้งด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรม ศิลปกรรม และการศึกษา ซึ่งมีภาพแสดงทั้งหมด 14 ภาพในงานจุลกฐินประจำปีของ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้นนั้นได้ใช้วัดป่าแดดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมวัฒนธรรมจนมีชื่อเสียงรู้จักกันดี ปัจจุบันวัดนี้ได้รับการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี