เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคลประจำปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้า เหล่าพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ขอกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท ถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ตะลอนเที่ยวสัปดาห์นี้ ขอพาคุณ ๆ ไปรู้จักหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อเป็นที่ประทับ ใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ และทรงใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในพระบรมราชจักรีวงศ์
หมู่พระมหามณเฑียรเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเป็นแนวตรง และแนวขวางต่อเนื่องกัน มีมุขแล่นถึงกันโดยตลอด ประกอบด้วย หมู่พระวิมานที่บรรทม และท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก มีท้องพระโรงหลัง พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา หมู่พระมหามณเฑียรสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน และชั้นกลาง เดิมเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกัน 3 องค์ ชื่อว่า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนาม แยกออกเป็นองค์ ๆ คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน คือพระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทย องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น 3 องค์แฝด ภายนอกเป็นระเบียงรายล้อมด้วยเสานางจรัลทุกด้าน เดิมเป็นพระวิมานที่บรรทมของรัชกาลที่ 1
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางทิศเหนือ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญ หรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกจนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ 3 อย่าง คือ พระสยามเวทาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศอุทมพรราชอาสน์ พระที่นั่งภัทรบิฐ
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางทิศเหนือ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนาง ออกมหาสมาคม ออกบำเพ็ญพระราชกุลต่าง ๆ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ 2 องค์ คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และพระแท่นมหาเศวตฉัตร
พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ และพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล เดิมคือ เรือนพระปรัศว์ซ้ายและขวาที่ต่อกับท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เดิมใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน ต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ว่า พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ (องค์ทิศตะวันออก) พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล (องค์ทิศตะวันตก)
พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ สร้างเพื่อเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธาร หรือทรงพระราชยาน เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา และยังใช้เป็นพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ ในบางโอกาสด้วย
พระที่นั่งราชฤดี เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบพลับพลาตรีมุข เป็นพระที่นั่งโถง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทอง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีชานยื่นเลยจากองค์พระที่นั่งสองด้าน ด้านเหนือเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ออกทรงประกอบพิธีสังเวยเทพยดา ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งแท่นสรงพระมูรธาภิเษกสนาน
พระที่นั่งสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ประทับสำราญพระอริยาบถ ทรงงานช่างตามที่ทรงโปรด บางครั้งเป็นที่เสด็จออกขุนนาง แทนการเสด็จออกที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน และเป็นสถานที่สำหรับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือกรมพระวังหน้าประทับพักก่อนเข้าเฝ้าฯ ในห้องพระโรง พระที่นั่งสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหอพระธาตุมณเฑียร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเครื่องนมัสการสำหรับถวายบังคมพระบรมอัฐิในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระที่นั่งสนามจันทร์อีกแห่งหนึ่งด้วย
หอพระสุลาลัยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์น้อย (พระแก้วมรกตองค์น้อย) พระชัยเนาวโลหะ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล และพระพุทธปฏิมากรสำคัญอื่นๆ
หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก่อสร้างและตกแต่งเหมือนกับหอพระสุราลัยพิมานทุกประการ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1, 2, 3 โดยระหว่างหอพระธาตุมณเฑียรกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสันต่อเนื่องกัน ผนังด้านเหนือเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตกเรียกว่าสีหบัญชร ใช้เป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าเป็นการฉุกเฉินในยามวิกาล
หอศาสตราคม หรือหอพระปริตร ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระที่นั่งโถงลักษณะเดียวกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างหอศาสตราคม เพื่อให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายทำพิธีสวดพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงพระพักต์ และน้ำสรง ตลอดทั่งประพรมรอบพระมหามณเฑียร ในอดีตเมื่อมีการศึกสงครามได้ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังเพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ด้วยเหตุนี้จึงเขียนลายเครื่องอาวุธโบราณไว้ที่บานประตูหน้าต่างทุกบาน
เก๋งนารายณ์ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้านทิศตะวันตกระหว่างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับหลังหอพระธาตุมณเฑียร สันนิษฐานว่าเป็นเก๋งที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในปลายรัชกาลสำหรับเป็นที่ทรงงานศิลปะ เก๋งนารายณ์เป็นอาคารโถงขนาดเล็ก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปแบบสถาปัตยกรรมจีน มีฝาสามด้าน ด้านหลังเป็นด้านประธาน มีแท่นก่ออิฐฉาบปูน ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ทับทิมและบริวาร
หมายเหตุ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือหมู่พระมหามณเฑียรมิใช่หมู่พระมหาปราสาท หมู่พระมหาปราสาทคือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งราชการัณยสภา และเรือนจันทร์ .พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นต้น
Mr. Flower อยากเรียนเชิญให้คนไทยทุกคนพาตัวเองและลูกหลานไปชมความวิจิตรงดงามที่ยากจะหาคำบรรยายได้ในเขตพระบรมมหาราชวัง ขอรับรองว่าเมื่อไทยพบได้เห็นแล้ว คุณ ๆ จะขนลุกด้วยความปลื้มปิติ และจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี