วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
‘เจิมศักดิ์’แชร์บทความ 32 องค์ประกอบไทยใกล้‘ล่มสลาย’หรือยัง แนะหยุดวงจร‘นิ่ง–แจก–ยอม’

‘เจิมศักดิ์’แชร์บทความ 32 องค์ประกอบไทยใกล้‘ล่มสลาย’หรือยัง แนะหยุดวงจร‘นิ่ง–แจก–ยอม’

วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.56 น.
Tag : เจิมศักดิ์ปิ่นทอง องค์ประกอบ ประเทศไทยไทย ล่มสลาย
  •  

‘เจิมศักดิ์’แชร์บทความ 32 องค์ประกอบไทยใกล้‘ล่มสลาย’หรือยัง แนะหยุดวงจร‘นิ่ง–แจก–ยอม’

25 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความ ระบุว่า...


ผมได้รับบทความที่ดีมากๆ

ตรงใจที่อยากจะรู้ว่าประเทศไทย

ใกล้ล่มสลายแล้วหรือยัง

ที่ชอบมากคือข้อแนะนำในตอนท้าย

ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน

????????????????????

ประเทศไทย ใกล้ล่มสลายหรือยัง

(เซฟไว้อ่านเพราะยาวมาก ใช้เวลาอ่านอย่างน้อย 10 นาที)

1 เดือนที่ผ่านมา ผมอยู่กับหนังสือ Why Nation Fails เป็นหลักเพื่อพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่หนังสือเขียนไว้และคิดกลับมายังประเทศของเราว่า วันนี้ประเทศไทยของเรามันใกล้ล่มสลายจริงๆ หรือยัง สุดท้ายสามารถสรุปออกมาเป็น checklist ว่า ประเทศๆ นึงจะล่มสลายโดยสมบูรณ์เหมือนกับที่เราเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นมาแล้ว เกิดจาก 6 มิติ 32 องค์ประกอบ ดังนี้

มิติการเมือง ระบบที่ผูกขาดอำนาจอยู่กับคนกลุ่มเดียวยาวนาน

1. มีชนชั้นนำทางการเมืองผูกขาดอำนาจโดยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล

2. ไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ทุจริตผลการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ

3. รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเอื้อให้อำนาจอยู่กับกลุ่มเดิมตลอดไป

4. ศาลและองค์กรอิสระไม่มีความเป็นอิสระ ถูกควบคุมโดยฝ่ายการเมือง

5. ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อถูกควบคุมหรือบิดเบือน

6. ผู้นำใช้อำนาจผ่านความกลัว เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินซ้ำซาก

มิติเศรษฐกิจ ระบบที่ไม่มีแรงจูงใจให้เติบโต

7. ระบบเศรษฐกิจถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มหรือรัฐเอง

8. ธุรกิจใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากจากอุปสรรคทางกฎหมายหรือใบอนุญาต

9. การลงทุนภาคเอกชนต่ำ เพราะขาดความมั่นใจในสิทธิในทรัพย์สิน แะโอกาสในการเติบโต

10. ระบบภาษีไม่โปร่งใส เอื้อชนชั้นนำ ขูดรีดจากคนตัวเล็ก

11. การคอร์รัปชันฝังลึกในทุกระดับของราชการ ส่งผลต่อต้นทุนการสร้างธุรกิจและคุณภาพชีวิต และทัศนคติต่อการได้มาซึ่งรายได้ ใช้อำนาจ -> ได้เงินง่าย

12. รัฐจงใจให้ค่าครองชีพสูงโดยไม่จำเป็น เช่นค่าไฟ น้ำมัน ประชาชนจ่ายอย่างไม่มีทางเลือก

มิติสังคม ระบบที่บีบให้คนยอมจำนน

13. ประชาชนรู้สึกว่า "ไม่มีประโยชน์" ที่จะพยายาม คนรุ่นใหม่ไม่มีความหวัง ไม่มีแรงบันดาลใจ

14. สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่ตก

15. สื่อและสังคมไม่ให้ค่าคนทำดี แต่ให้ค่าคนมีเงิน ทำให้คนไม่สนที่มาของรายได้ เลือกที่จะโกงหรือทำผิดกฎหมายได้โดยไม่รู้สึกผิด และเน้นนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ

16. การเคลื่อนไหวของประชาชนถูกปราบปรามหรือดูดกลืน คนส่วนใหญ่เลือกรับสื่อที่ไม่มีประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ

17. การย้ายถิ่นฐานของคนเก่ง (Brain Drain) สูงผิดปกติ

มิติการศึกษา สร้างแรงงานเชื่องแทนพลเมืองคิดเป็น

18. ระบบการศึกษามุ่งสอนให้เชื่อฟัง มากกว่าคิดวิเคราะห์

19. ไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับตลาดแรงงาน

20. คนมีวุฒิแต่ไม่มีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจ

21. ผู้มีอำนาจใช้นโยบายการศึกษาเพื่อรักษาระบบเดิม เช่น ล้างสมอง ปิดกั้นความรู้ทางการเมือง ให้ความรู้แค่พอเลี้ยงชีพแต่แข่งขันกับใครไม่ได้

มิติการพัฒนาและสถาบัน องค์กรภาครัฐเป็นวงจรอุบาทว์ไม่สิ้นสุด

22. สถาบันรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม

23. การปฏิรูปมักเป็น “ภาพลวงตา” ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างจริง

24. โครงการแก้ปัญหาถูกทำเพื่อ “แจกแบบหวังผลระยะสั้น” ไม่ใช่ “สร้างแรงจูงใจเพื่อผลระยะยาว”

25. การเปลี่ยนผู้นำไม่เคยนำไปสู่การเปลี่ยนระบบ

26. รัฐไม่สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สาธารณสุข ความปลอดภัย

27. ความพยายามพัฒนาใหม่ ๆ ทุกด้าน ถูกบล็อกโดยกลุ่มคนเดิมที่เสียประโยชน์

มิติด้านศรัทธา สิ้นหวัง ประชาชนแบ่งแยก ซึ่งเป็นสัญญาณเสื่อมขั้นวิกฤต สู่ภาวะรัฐล้มเหลว

28. การใช้อำนาจทหาร-ความมั่นคงกับประชาชน

29. ความขัดแย้งภายในรุนแรง จนเกิดสงครามกลางเมืองหรือการแบ่งแยกดินแดน

30. ความไว้วางใจต่อสถาบันรัฐและผู้นำใกล้ศูนย์

31. คนจำนวนมากเลือกอยู่เงียบ ๆ ไม่มีศรัทธาต่อการเปลี่ยนแปลง

32. ระบบกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ หรือเลือกบังคับเฉพาะฝ่ายตรงข้าม

รวมทั้งสิ้น 32 ข้อ ฉ่ำๆ

หากประเทศใดเข้าข่าย มากกว่า 16 ข้อขึ้นไป เกินครึ่ง) โดยไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยน อาจอยู่ใน “ภาวะถดถอยสถาบัน” (Institutional Decline)

และหากเข้าข่ายเกิน 25 ข้อพร้อมกับวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม

อาจเรียกได้ว่ากำลังเข้า Fail State อย่างแท้จริง

แล้วประเทศไทย ตอนนี้มีกี่ข้อ?

คิดว่า ประเทศไทยเข้าข่ายประมาณ 23–25 ข้อ บางข้อขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน

มิติการเมือง (6/6 ข้อ) ครบ

+ ผูกขาดอำนาจแบบไม่มีกลไกถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ (เช่น ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง)

+ การเลือกตั้งเสรีมีข้อกังขา ทั้งในด้านกติกาและการบังคับใช้

+ รัฐธรรมนูญเอื้อให้อำนาจเดิมอยู่ต่อ เช่น การตั้ง ส.ว. มาเลือกนายก

+ ศาลและองค์กรอิสระถูกมองว่าเอนเอียง และมีการเลือกปฏิบัติ

+ สื่อถูกกดดัน ปิดปาก หรือบิดเบือนผ่านทุนและรัฐ

+ การใช้ความมั่นคง ปราบม็อบ ดำเนินคดีทางการเมือง

มิติเศรษฐกิจ (6/6 ข้อ) ครบ

+ ระบบทุนผูกขาดชัดเจน เช่น ห้างค้าปลีก ค่ามือถือ อุตสาหกรรมอาหาร

+ การออกใบอนุญาต-สัมปทานลำบากสำหรับรายเล็ก ที่ทำให้ยาก เพื่อจะได้คอร์รัปชั่นง่าย

+ นักลงทุนรายย่อยไม่มั่นใจเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดิน-ผังเมือง

+ ระบบภาษีเอื้อรายใหญ่ กดรายย่อย

+ การคอร์รัปชันยังคงอยู่ในระดับ “เป็นปกติ” ในหลายหน่วยงาน ไม่เคยมีการตรวจสอบและลงโทษคนที่เกี่ยวข้อง

+ ค่าครองชีพสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ เช่นค่าเดินทาง ค่าไฟ ค่าการศึกษา

มิติสังคม (4/5 ข้อ)

+ คนจำนวนมากหมดศรัทธาในความพยายาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ขาดแรงบันดาลใจอยู่มาก

+ ความเหลื่อมล้ำรุนแรง ไทยติด Top 10 ของโลก

+ สื่อขาดความรับผิดชอบต่อสังคม 

+ การเคลื่อนไหวถูกกดด้วยคดี ม.112 ม.116 และกฎหมายม็อบ

+ ยังไม่มี Brain Drain ขนาดรุนแรง คนเก่งยังไม่ย้ายออก แต่คนเก่งข้างนอกไม่กลับมา

มิติการศึกษา (3/4 ข้อ)

+ ระบบการศึกษาเน้นเชื่อฟัง มากกว่าวิเคราะห์

+ ไม่สอดคล้องตลาดแรงงาน

+ วุฒิไม่ช่วยให้เข้าระบบเศรษฐกิจหรือหางานได้จริง

+ มีบางส่วนที่ใช้การศึกษาเพื่อคงระบบเดิม (เช่น หลักสูตรที่หลีกเลี่ยงวิจารณ์การเมือง)

มิติพัฒนาและสถาบัน (4/6 ข้อ)

+ สถาบันรัฐจำนวนมากถูกครอบโดยผู้มีอำนาจ

+ การปฏิรูปบ่อยครั้งไม่เปลี่ยนโครงสร้างจริง

+ โครงการพัฒนา “แจกมากกว่าสร้าง” เช่น โครงการแจกฟรี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

+ เปลี่ยนผู้นำแต่ไม่เปลี่ยนระบบ ได้นายกฯ คนใหม่ภายใต้ระบบนิเวศเดิม

+ บริการพื้นฐานบางอย่างดี เช่น สาธารณสุข แต่ระบบโดยรวมยังมีความเหลื่อมล้ำ

+ ประเทศยังมีโครงการพัฒนาใหม่ ๆ ที่พอเดินได้ แต่ทำโดยเอกชนและสู้ด้วยตัวเอง เช่น Start-up หรือ Soft Power แต่ยังเล็ก

เสื่อมขั้นวิกฤต (2/5 ข้อ)

+ การใช้ทหารไม่ถึงขั้นปราบแบบสมัยก่อน แต่ยังมีการใช้โครงสร้างทหารในการเมือง

+ ยังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง

+ ประชาชนจำนวนมากไม่ไว้ใจรัฐ

+ คนจำนวนนึง “ยอมแพ้” แบบเงียบ และยังมีอีกมากที่บังไม่ยอมแพ้

+ ระบบกฎหมายยังทำงานอยู่ แต่มีการเลือกบังคับใช้ชัดเจน ใครมีเส้นสายคือรอด

รวมทั้งหมด: ประมาณ 23–25 ข้อ จาก 32 ข้อ

บางคนอาจให้มากน้อยกว่านี้ แล้วแต่มุมมองส่วนตัว

สิ่งที่ “น่ากลัวกว่านั้น” และไม่อยู่ในหนังสือ แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามันมีอยู่ในประเทศไทย และสอดคล้องกับแนวคิดของการเป็นประเทศล่มสลาย คือ

1. ระบบอุปถัมภ์ฝังลึก (Neo-feudalism disguised as modernization) คนมีอำนาจเข้าสู่ระบบจากเส้นสายมากกว่าความสามารถ ผ่านการใช้ระบบแต่งตั้งมากกว่าสอบแข่งขัน

2. การใช้พลัง Soft Power ไปควบคุม (Co-opted Culture) และกำหนดทิศทางสื่อ รัฐพยายามครอบการแสดงออก เช่น ข่าว, เพลง, หนัง, หรือคอนเทนต์ เปลี่ยนวัฒนธรรมให้เชื่อง แทนที่จะปล่อยให้สร้างแรงบันดาลใจ เช่น ชีวิตมีแค่นี้ก็พอแล้ว แทนที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตสามารถดีกว่านี้ได้ ถ้าขวนขวายพยายาม

3. การซื้อเวลาแบบสิ้นเปลือง (Policy for Survival) แจกเงิน ใช้เงิน แก้เฉพาะหน้าโดยไม่เปลี่ยนระบบหรือทำโครงสร้างทางสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงเอาเงินภาษีไปอุ้มระบบเดิม ไม่ใช่ลงทุนในอนาคต

ถ้าเรามองประเทศไทยผ่านแนวคิดใน Why Nations Fail ซึ่งเน้นว่า โครงสร้างอำนาจ และ สถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมือง ส่งผลต่อความล่มสลายของประเทศมากกว่าตัวบุคคล และประเทศไม่ได้ล้มเหลวเพราะประชาชนโง่ หรือกันดาร ไม่มีทรัพยากร แต่เป็นเพราะผู้นำ "จงใจ" ไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้างที่ทำให้ตัวเองเสียอำนาจ

ประเทศไทยวันนี้ เข้าเงื่อนไขหลักของ “ระบบขูดรีด (Extractive Institutions) คือ

1. อำนาจรวมศูนย์แบบไม่มีแรงต้านที่แท้จริง

รัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้ ชนชั้นนำสามารถคุมอำนาจได้ แม้แพ้เลือกตั้ง

องค์กรอิสระ ศาล ส.ว. ไม่ได้มีที่มาแบบประชาชน แต่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจโดยตรง

2. เศรษฐกิจผูกขาดแบบเป็นระบบ ทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่มครอบตลาดในทุกอุตสาหกรรม

3. ระบบศึกษาและสื่อทำหน้าที่ “เสริมความเชื่อง” มากกว่า “เปิดความคิด” หลักสูตรไม่เปิดพื้นที่ให้คิดวิเคราะห์เรื่องโครงสร้างอำนาจ สื่อถูกควบคุมทั้งทางตรง (กฎหมาย) และทางอ้อม (ทุน)

4. ประชาชนหมดศรัทธาในเกมการเมือง ความหวังของคนรุ่นใหม่ลดลงเรื่อย ๆ ระบบให้สัญญาณว่า “คุณไม่มีอำนาจเปลี่ยนอะไรได้" การลงถนน/ประท้วงกลับถูกดำเนินคดีอย่างหนัก

กลับมาที่คำถามว่า แล้วประเทศไทย “ล่มสลาย” หรือยัง?

ผมคิดว่า ยังไม่ล่มสลายแบบ Fail State เต็มรูปแบบ แต่ก็ใกล้มากแล้ว

เชื่อว่าไม่เกิน 20 ปี หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ที่พูดว่ามีเวลาอีก 20 ปี เพราะยังมีระบบราชการบางส่วนทำงานได้ และภาคเอกชนเรายังมีแรงอยู่

ระบบเศรษฐกิจยังพอหมุนได้ เพราะมีฐานการท่องเที่ยว การผลิต และไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนและใช้ชีวิตของคนหลายๆ ประเทศ เพียงแค่เค้ารอเวลามืดมนของเราหายไปเท่านั้น

ประเทศของเรา แค่กำลังอยู่ใน วงจรอุบาทว์  (Vicious Circle) วงจรแห่งการรวมอำนาจ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญและพัฒนา เพราะชนชั้นอำนาจ กลัวการพัฒนาที่สุดจึงต้องใช้กลไกอำนาจครอบงำสถาบันหลักๆ เพื่อปิดกั้นคู่แข่ง กีดกันและกำจัดคนเก่งออกจากระบบ และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หมดโอกาสโงหัวขึ้น

แต่ แต่ แต่

แม้เราจะยังไม่ใช่ แต่ผมว่าเราอยู่ในขั้นตอน “Pre-Failure State” ประเทศที่อยู่ในช่วงก่อนการล่มสลายของความเชื่อมั่น โดยไม่มี “แรงสั่นสะเทือน” จากภายในหรือภายนอกมาพอจะเปลี่ยนแปลงอะไร

มันเหมือนเอาน้ำคลองเน่าๆ มาใส่ขวดนั่นแหละ

ถ้าไม่เขย่าแรง เราจะไม่เห็นก้อนตะกอนปัญหาในขวด

เมื่อไม่ถูกมองเห็น ไม่ถูกกระตุ้น กดดัน ปัญหาจะไม่ถูกแก้

แต่ถ้าเราเชื่อว่าในขวดมันมีตะกอน เราจะเขย่าให้แรงเพื่อจะได้มองเห็น จนทนไม่ได้และหยิบมันออกในที่สุด

แล้วประชาชนอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง

1. ใช้สื่อในมือให้เป็นประโยชน์ที่สุด แจ้ง แชร์ ฟ้องปัญหาที่อยากให้ถูกแก้ไข พูดให้บ่อย ให้มากจนคนที่เกี่ยวข้องอยู่เฉยไม่ได้ ไม่แนะนำให้ด่า เพราะการด่ามันได้ผลระยะสั้นแต่ไม่จูงใจ และเลิกสนใจข่าวดราม่าเรื่องคนอื่น ยิ่งประชาชนสนใจ สื่อจะยิ่งละเลยบทบาทการนำเสนอเรื่องราวพัฒนาประเทศ

2. ไม่ก้มหัวให้คอร์รัปชั่น ช่วยกันให้ข้อมูลการทุจริตทั้งหมดที่รู้เห็น (ทั้งราชการและเอกชน) ขอให้เชื่อว่ายังมีคนจำนวนนึงที่หน้าไม่ด้านพอที่จะทุจริตเมื่อรู้ว่าคนอื่นกำลังมองเห็น โดยเฉพาะข้าราชการตัวเล็กที่ต้องก้มหน้าทำตามคำสั่งทั้งที่ฝืนใจ คุณคงไม่อยากเป็นแบบนี้ตลอดไปใช่ไหม

3. อย่าเบื่อการเมือง เพราะการเมืองไม่เคยเบื่อคุณ เพราะเมื่อคนดีไม่สนใจการเมือง มันจะเป็นเวลาที่คนชั่วได้อำนาจ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วยสายตาวิจารณ์เพื่อพัฒนา ไม่ใช่แชร์ตามกระแส

4. ปกป้อง “สถาบันตรวจสอบ” เช่น สื่อ ศาล องค์กรอิสระ

ประเทศไม่ล่มเพราะคนโกง แต่ล่มเพราะไม่มีใครกล้าหรือสามารถตรวจสอบคนโกง

สนับสนุนสื่ออิสระให้มีบทบาทกับการนำเสนอมากขึ้น เลิกดูสื่อที่เสนอแต่ข่าวดาราเลิกกัน ใครตบกัน หมาข้างบ้านกัดกัน 3 วันไม่จบ ฯลฯ

5. หยุดวงจร “นิ่ง–แจก–ยอม”

คนไทยเคยถูกหลอกว่า “อยู่นิ่ง ๆ เดี๋ยวรัฐแจก” นี่คือสูตรของ Fail State อย่าให้เศษเงินอุดปากเราได้

6. อย่ากลัวการพูดถึงโครงสร้างอำนาจ ถ้าเราพูดแต่เรื่องคนเลว แต่ไม่พูดเรื่องระบบที่ให้คนเลวขึ้นมา ประเทศจะไม่เปลี่ยน ฝึกให้คนรอบตัวกล้าถามว่า “ทำไมเราต้องอยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ให้เราคิดหรือตัดสินใจ?” หรือ เราต้องอยู่กันแบบนี้ไปตลอดจริงๆ หรือ?

7. สร้าง/สนับสนุนระบบเศรษฐกิจทางเลือกและรายย่อย

หากเราทำให้ทุนผูกขาดน้อยลง ระบบจะเปลี่ยนทางได้ง่ายขึ้น ซื้อของจากผู้ผลิตรายย่อย ลดค่านิยมความสบาย เดินไปกินไปซื้อของจากร้านทั่วไปใกล้บ้าน สนับสนุน #เกษตรกร  #สหกรณ์ #วิสาหกิจชุมชน  #ธุรกิจเพื่อสังคม #ธุรกิจขนาดเล็ก #SME #แบรนด์ไทย ให้มากขึ้น ตามกำลังของเรา

หันมากินของง่ายๆ ใกล้บ้าน ลดการสั่ง grab 

เที่ยวในประเทศ ซื้อของไทย แบรนด์ไทย

ซื้อตรงจากร้านเล็กๆ เลิกสั่งผ่าน platform ให้มากที่สุดที่จะทำได้

รู้ว่ามันยาก มันฝืนพฤติกรรมเดิม แต่ถ้าอยากมีอนาคตที่ดี เราต้องอดทนเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้

คุณอาจจะไม่รู้ว่า กำไร 100 บาท ของร้านเล็กๆ มันมีค่ามหาศาล

แต่ถ้าเป็นของร้านสะดวกซื้อ มันไม่มีความหมายอะไรเลยกับธุรกิจนั้น

8. "การไม่ยอมจำนน" คือพลังเงียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ระบบจะล่ม เมื่อมันไม่สามารถทำให้เรากลัวได้อีกต่อไป

อย่ายอมแพ้ต่อการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย อย่าปรับตัวยอมรับกับความอยุติธรรมจน “ชิน”

อย่ายอมให้ลูกหลานโตมาในประเทศที่บอกว่า “คิดไม่ได้ พูดไม่ได้”

เมื่อไหร่ที่เรายอมแพ้

นั่นคือการนับหนึ่งของการเป็นประเทศที่ล่มสลายโดยสมบูรณ์

Nation Fails ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศใดๆ

และเราทุกคน คงไม่อยากส่งต่อประเทศไทยที่ล่มสลายให้กับลูกหลานของเรา

ด้วยฝีมือของเราเอง

#whynationfails

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • \'เจิมศักดิ์\'เผยแถลงการณ์กลุ่มแพทย์อาวุโสห่วงอิทธิพลการเมืองแทรกแซงแพทยสภา ชี้ต้องโปร่งใส 'เจิมศักดิ์'เผยแถลงการณ์กลุ่มแพทย์อาวุโสห่วงอิทธิพลการเมืองแทรกแซงแพทยสภา ชี้ต้องโปร่งใส
  • เตือน‘สมศักดิ์’! เจิมศักดิ์แนะยกเลิก‘10ขุนพลวีโต้’แพทยสภา ดึงดันระวังไม่มีที่ยืนในสังคม เตือน‘สมศักดิ์’! เจิมศักดิ์แนะยกเลิก‘10ขุนพลวีโต้’แพทยสภา ดึงดันระวังไม่มีที่ยืนในสังคม
  • \'เจิมศักดิ์\'แนะยกเลิกฟรีวีซ่า ให้แต่เฉพาะ\'คนจีนสีขาว\'เข้าไทย 'เจิมศักดิ์'แนะยกเลิกฟรีวีซ่า ให้แต่เฉพาะ'คนจีนสีขาว'เข้าไทย
  • ‘เจิมศักดิ์’ติง‘แพทองธาร’ไม่ทำหน้าที่นายกฯ กรณี‘ทักษิณ’หนีคุก ‘เจิมศักดิ์’ติง‘แพทองธาร’ไม่ทำหน้าที่นายกฯ กรณี‘ทักษิณ’หนีคุก
  • ถึงเวลากำจัดจุดอ่อน!!!‘เจิมศักดิ์’วิเคราะห์‘สงครามภาษี’สหรัฐ ชี้เปรี้ยงนายกฯไทยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ถึงเวลากำจัดจุดอ่อน!!!‘เจิมศักดิ์’วิเคราะห์‘สงครามภาษี’สหรัฐ ชี้เปรี้ยงนายกฯไทยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
  • \'เจิมศักดิ์\'เล่าให้ฟัง! สงกรานต์ให้ข้อคิด...คนต้องก้าวหน้า 'เจิมศักดิ์'เล่าให้ฟัง! สงกรานต์ให้ข้อคิด...คนต้องก้าวหน้า
  •  

Breaking News

สุดยอดพลัง! 'แฟนหงส์'เมืองเลยรวมพล จัดขบวนรถแห่ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกสุดยิ่งใหญ่

'ศิลปินเชียงราย'ระดมพลส่งเสียงถึงผู้บริหารประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาสารโลหะหนักปนเปื้อนแม่น้ำ

'ประธานองคมนตรี'เป็น ปธ.พิธีเปิด'ศาลาปฏิบัติธรรมพระธรรมจาริก' ณ ทุ่งช้าง จ.น่าน

'นายกฯ'พร้อมแล้วศึกอภิปรายงบ ปี 69 ขอฝ่ายค้านทำหน้าที่ตนเอง

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved