ฉัตรมงคลรำลึก 4 พฤษภาคม 2565 ‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’
ฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 ถือเป็นพระราชพิธีครั้งที่ 12 นับตั้งแต่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มา 237 ปี นับจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ประเทศไทยก็ได้ว่างเว้นจากพระราชพิธีนี้มานานถึง 69 ปี
รัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมจัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 โดย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มี พระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษก 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 ในปีถัดไปจะเป็น วันระลึกวันบรมราชาภิเษก และจะเรียกว่า“วันฉัตรมงคล” ตลอดไปในรัชกาลนี้
ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคลนั้น ก่อนหน้ารัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคล ถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัวไม่ถือเป็นงานหลวง จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรกในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2393 โดยมีพระราชดำริว่า “วันบรมราชาภิเษก เป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ” แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้ง เผอิญที่วันบรมราชาภิเษก ไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคล เป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคล มาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช
พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธี 3 วัน คือ วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหารวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
นับเนื่องตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ และทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาทรงปฏิบัติ ทรงแสดงความมุ่งมั่นพระราชหฤทัย ที่จะทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริใน สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีให้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทั้งด้วยพระราชดำรัส พระบรมราโชบาย แนวพระราชดำริ ตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง
สืบสาน คือทรงนำองค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสืบสานในการทรงงาน รักษา คือพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เกิดความยั่งยืนต่อยอด คือสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้สัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์
เมื่อวันฉัตรมงคล เวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2565 พสกนิกรชาวไทย ต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี