วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
ถ้าบังคับให้เด็กต้องเล่นดนตรี เขาอาจจะเกลียดดนตรีไปตลอดชีวิต

ถ้าบังคับให้เด็กต้องเล่นดนตรี เขาอาจจะเกลียดดนตรีไปตลอดชีวิต

วันเสาร์ ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag :
  •  

เวลาเฟิร์นสอนดนตรีเด็ก และเจอเด็กที่ไม่ต้องการเล่นดนตรี เราจะคุยกับเขาดีๆ แล้วไม่บังคับเขาแต่จะบอกเขาแค่ว่าลองเล่นดูสัก 5 นาทีไหม พอครบ 5 นาทีก็เลิกเล่น แต่สุดท้ายวิธีนี้ทำให้เด็กสนใจดนตรีในที่สุด

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยชวนคุณไปสนทนากับ คุณศศิภา รัศมิทัต หรือ เฟิร์น นักเปียโน ประจำวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) 


l เรียนถามในฐานะนักเปียโน การเล่นเปียโนเป็นอาชีพในสังคมโลกนี้ มีกี่ชนิดครับ

คุณศศิภา : นับแบบหลักๆ มีนักเปียโนเดี่ยว ที่เราเห็นเล่นเดี่ยวตามโรงแรม ตามห้องอาหาร หรือเล่นกับออร์เคสตราก็ได้ แล้วก็มีแบบที่เล่นกับวงออร์เคสตรา เรียกว่านักเปียโนออร์เคสตรา หรือนักเปียโนเชมเบอร์ก็ได้ เชมเบอร์มิวสิกคือเล่นเป็นวงจะวงเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่เชมเบอร์มิวสิกมันก็จะแบ่งเป็นอีกหลายแบบ สำหรับตัวของเฟิร์นถือเป็นนักเปียโนออร์เคสตรา และยังมีอีกชนิดหนึ่งคือ collaborative pianist หรือ เรียกว่า accompany pianist เรียกสั้นๆ ว่า accom painist กลุ่มนี้จะเล่นเปียโนเพื่อ support ให้เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เช่นไวโอลิน แซกโซโฟน ฟลุต และเครื่องดนตรีเดี่ยวอื่นๆที่ไม่สามารถเล่นแบบให้จังหวะได้ด้วยต้วเอง บอกได้เลยว่า accom pianist กำลังเป็นที่ต้องการมากในสถาบันการศึกษาที่สอนวิชาดนตรีในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันตก และในบ้านเราก็เป็นที่ต้องการเช่นกัน

l เล่นเปียโนมาตั้งแต่อายุประมาณเท่าไหร่ครับ

คุณศศิภา : เริ่มจับเปียโนครั้งแรกอายุประมาณ 8 ขวบค่ะ ตอนอายุ 6 ขวบก็เล่นอิเล็กโทนก่อน เพราะเห็นว่ามีเสียงดังสนุกดี ก็เล่นไปเรื่อยๆ จน 8 ขวบ ก็เริ่มเล่นเปียโน ก็ถือว่าเริ่มต้นไม่ช้าเกินไปนะคะ แต่เดี๋ยวนี้เด็กสามขวบก็เริ่มเล่นเปียโนแล้ว แต่บ้านเฟิร์นนั้น พ่อแม่ไม่ใช่นักดนตรี แต่เมื่อเขาเห็นว่าเราสนใจดนตรีก็เลยให้ไปเรียนเพิ่มเติม แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกว่าอะไรคือเปียโน แค่เห็นว่าเคาะและมีเสียงดังสนุกดี ก็เลยเรียนไปเล่นไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเริ่มต้นช้ากว่าเด็กที่เรียนเปียโนจริงๆ จังๆ เล็กน้อยแต่ก็ไม่ช้ามากนัก 

l อายุกับการเล่นดนตรีมีผลมากไหมครับ ถ้าเล่นตั้งแต่เด็กๆ กับเริ่มเล่น หรือเรียนเมื่ออายุ 10 กว่าขวบ หรือเริ่มเล่นจบปริญญาตรี มีความแตกต่างกันมากไหมครับ 

คุณศศิภา : พูดจากประสบการณ์ตรงแล้วกันนะคะ อายุมีผลต่อการเล่นดนตรีพอสมควรค่ะ หากเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ สรีระของเด็กก็จะค่อยๆ ปรับตัวไปเรื่อยๆ คือกล้ามเนื้อกำลังเสริมสร้าง และเขาก็จะมีความชำนาญกับเครื่องดนตรีมากกว่าจับในช่วงโตแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้เริ่มตั้งแต่เด็ก ก็จะมีพื้นฐานการเล่นที่ดีกว่าเล่นตอนโตแล้ว เด็กๆ มีพื้นฐานกล้ามดีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วก็จะน้อย แต่ถ้าเทียบกันระหว่างเด็กเล็กกับคนที่โตแล้ว ต้องยอมรับว่าความเข้าใจของเด็กมีน้อยกว่าคนโตกว่า สมมุติว่าฝึกเล่นดนตรีตอนโต เช่น อยู่ชั้นมัธยมต้น มัธยมปลายหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่จบมหาวิทยาลัยแล้วมาเริ่มเรียนก็จะมีความเข้าใจดีกว่าเด็ก แต่กล้ามเนื้อนิ้วก็จะไม่ชำนาญเหมือนเด็กที่เล่นมาตลอดเวลา ผู้ใหญ่ที่เรียนดนตรีจึงต้องใช้ความอดทนมาก หากอดทนได้ดีถึงระดับ ก็สามารถเล่นดนตรีได้ดีแน่นอน แต่ย้ำว่าต้องอดทนสูงมาก

l เรียนเปียโนมาโดยตรงในระดับมหาวิทยาลัยใช่ไหมครับ  

คุณศศิภา : เรียนโดยตรงค่ะ ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปัจจุบัน กำลังเรียนปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรีเรียน performance ปริญญาโทเรียนเรื่อง collaborative pianist ขณะนี้เรียนปริญญาเอกด้านดนตรีอยู่ที่จุฬาฯ ค่ะ

l เล่นเปียโนต้องใช้กำลังมือและกำลังอื่นๆ มากไหมครับ หลายคนบอกว่าเล่นเปียโนไม่ใช้กำลังมากจริงไหมครับ 

คุณศศิภา : หลายคนคิดแบบนั้น คือคิดว่าเล่นเปียโนไม่ต้องใช้กำลังมาก แต่จริงๆ แล้วไม่เลยค่ะเพราะต้องใช้กำลังมากมายเลย หลายคนบอกว่านักเปียโนต้องนิ้วเรียวๆ สวยๆ แต่เมื่อไปดูมือของนักเปียโนระดับโลกจะพบว่ามือใหญ่มาก หนามากนิ้วมือใหญ่มาก เพราะต้องใช้แรงที่มือและแขนมากในขณะเล่น เวลาเล่นเปียโนที่ต้องใช้พลังมากๆ นั้น ต้องใช้พลังทั้งร่างกายเลยนะคะ ตั้งแต่ปลายเท้าถึงปลายมือเลยค่ะ และยังต้องใช้พลังจากตัวอีกด้วย เล่นเปียโนไม่ใช่ใช้พลังจากแค่ปลายนิ้วมือเท่านั้นค่ะ (หัวเราะ)

l ดังนั้นเวลาเห็นนักเปียโนที่นั่งท่าสวย กรีดนิ้วไปบนคีย์ ก็เป็นเพียงการแสดงในหนังโรแมนติกเท่านั้น ใช่ไหมครับ

คุณศศิภา : (หัวเราะ) จริงค่ะ แต่ก็ขึ้นกับจังหวะที่เล่นเปียโนด้วยนะคะ ขึ้นอยู่กับอารมณ์เพลงด้วย เพลงหวานๆ ช้าๆ อาจใช้พลังไม่เท่ากับเพลงเร็วๆ จังหวะร้อนแรง หรือเพลงที่เล่นยากๆ ก็ต้องใช้พลังมากเช่นกัน 

l เรียนถามเรื่อง accom piano ที่เราได้กล่าวไปคร่าวๆ ในช่วงแรก คุณเฟิร์นบอกว่าอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากในโรงเรียนสอนดนตรีในประเทศแถบตะวันตก ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับว่าทำไมเป็นที่ต้องการมาก

คุณศศิภา : คือว่า accom pianist หรือ collaborative pianist เป็นเรื่องจำเป็นมากในเวลาจะสอบวิชาดนตรี โดยเฉพาะการสอบเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถให้ทั้งทำนองและเสียงประสานได้ในขณะเดียวกัน เครื่องดนตรีที่ให้ทั้งทำนองและเสียงประสานได้ในเวลาเดียวกันคือเปียโนและกีตาร์ ส่วนเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น ไวโอลิน เชลโล ทรัมเป็ต แซกโซโฟน เครื่องเป่าอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเครื่องกระทบให้จังหวะก็ต้องใช้ accom pianist ในการสอบ คล้ายๆ กับเวลาเราร้องเพลงเราต้องมีทำนองและต้องมีเครื่องดนตรีให้เสียงประกอบด้วย นักเปียโนแอคคอม คือคนที่เล่นประกอบให้เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ในประเทศตะวันตกมีการเรียนการสอนดนตรีมาก ก็จำเป็นต้องใช้ accom pianist มาก แต่ในบ้านเราคือประเทศไทย ก็เริ่มมีการเรียนดนตรีกันมากขึ้นในสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ดังนั้น accom pianist ก็จึงเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ปัจจุบันยังไม่มีการสอนด้านนี้ในระดับมหาวิทยาลัยมากนักก็ตาม

l นักเปียโนแอคคอม น่าจะเป็นอาชีพหนึ่งที่ตลาดต้องการในอนาคต ใช่ไหมครับ  

คุณศศิภา : ใช่ค่ะ อย่างเช่นในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่สอนด้านดนตรี เขาจะมี accom pianist ประจำคณะของเขา และมี assignment ชัดเจนว่า ในแต่ละภาคการศึกษาจะต้องเล่นให้นักศึกษากี่คน เป็นเหมือนการให้บริการกับนักศึกษาดนตรีที่เรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ แต่สำหรับประเทศไทยในยุคปัจจุบันยังไม่มี accom pianist แต่เข้าใจว่าน่าจะมีการเตรียมการเรื่องนี้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นเมื่อนักศึกษา และนิสิตดนตรีในไทยที่จำเป็นต้องสอบการใช้เครื่องดนตรี ก็๋ต้องจ้าง accom pianist จากภายนอกมาใช้ประกอบการเล่นดนตรีเพื่อสอบ ความถนัดหรือ skills ของ accom pianist กับนักเปียโนทั่วไปจะต่างกันมาก เพราะแต่ละคนก็มีความถนัดเฉพาะตัว ซึ่งนักเปียโนทั่วไปก็อาจทำหน้าที่ accom pianist ไม่ได้ 

l ขอถามเรื่องที่พ่อแม่บางบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีฐานะดีมักบังคับให้ลูกเล่นดนตรี โดยเฉพาะเล่นเปียโน เพราะมองว่าเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง แสดงฐานะได้ดีกว่าเล่นดนตรีชนิดอื่น ในขณะที่ลูกไม่ต้องการเล่น และต่อต้านด้วย คุณเฟิร์นในฐานะครูสอนเปียโนเด็กเล็กๆ มองปัญหาเรื่องนี้อย่างไรครับ 

คุณศศิภา : ถามถูกคนเลยค่ะ เพราะเฟิร์นเจอเด็กที่ดูเสมือนถูกบังคับให้เรียนเปียโนบ่อยมาก เด็กหลายคนบอกกับเฟิร์นว่าไม่อยากเรียน หรือไม่ก็เป็นเด็กที่ซนมาก มากจริงๆ (หัวเราะ) ซนจนครูคนอื่นรับไม่ไหว แต่เมื่อเฟิร์นเจอเด็กกลุ่มนี้ เฟิร์นจะคุยกับเขาก่อน ค่อยๆ ปรับทัศนคติ เช่น บอกเขาว่า ลองเคาะฟังเสียงของเปียโนดูก่อนไหม ถ้าไม่ชอบเดี๋ยวมาว่ากันใหม่ ลองเคาะแค่ 5 นาทีเท่านั้น เอานาฬิกามาตั้งเลยเมื่อครบ 5 นาทีก็หยุดเล่นเลย เวลาเจอเด็กกลุ่มนี้ต้องใจเย็นสุดๆ เราไม่บังคับให้เขาเล่น ไม่บังคับในตอนเริ่มต้นต้องเล่นนานเป็นชั่วโมงๆ ไม่บังคับว่าต้องซ้อมวันละ 3 ชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กที่ถูกบังคับให้ต้องเรียน เราก็นึกย้อนถึงเราสมัยเด็กๆ ว่าถ้าถูกบังคับ เราก็ไม่ชอบ (หัวเราะ) เฟิร์นจำได้ดีว่าตอนเด็กๆ ชอบเล่นเปียโนมาก แต่ไม่ชอบซ้อม คือขี้เกียจซ้อมมาก ดังนั้นเราจึงเข้าใจเด็กๆ กลุ่มที่ถูกบังคับได้ดีมาก เลยบอกเขาว่า เล่นแค่ 5 นาทีพอ ครบ 5 นาทีปุ๊บ หยุดเล่นเลย เมื่อเด็กๆ รับเงื่อนไข 5 นาทีได้ แล้วเขาเริ่มอยู่กับมันได้ ถ้าเขาชอบบ้าง เขาจะค่อยๆ เล่นต่อไปเรื่อยๆ เราแค่ต้องการให้เขามี routine เท่านั้น เมื่อเขารู้ว่าไม่ได้บังคับเขา เขาจะค่อยๆ อยากเล่นให้นานขึ้น เขาจะมาบอกว่า ครูครับครู 5 นาที มันน้อยไป มันไม่พอ ขอเวลานานกว่านี้อีกก็จะเริ่มรู้สึกว่าครูขา หนูขอเล่นเกินอีกหน่อยได้ไหม อะไรอย่างนี้เป็นต้น ถ้ามาแบบนี้แสดงว่าเขาเริ่มชอบแล้ว และอยากเล่นต่อไป แต่ก็มีนะคะ เด็กผู้ชายบางคนร้องไห้เมื่อต้องนั่งเล่นเปียโน เขาบอกว่าเขาต้องการเล่นอย่างอื่น เราก็พยายามให้เขาเล่นสัก 5 นาทีแต่เขาไม่รับเลย แบบนี้เราก็ต้องคุยกับพ่อแม่โดยตรงว่า ลูกไม่มีความสุขกับการเล่นเปียโน เพราะฉะนั้นต้องดูว่าเด็กต้องการเล่นอะไร แล้วให้เขาเล่นดนตรีที่เขาชอบ เขาก็สามารถเล่นได้ดี และมีความสุข คือเราต้องให้เขาเล่นดนตรีที่เขาอยากเล่น มากกว่าบังคับให้เขาเล่นในสิ่งที่เขาไม่ชอบ เมื่อเขาเจอดนตรีที่ชอบเขาก็จะเล่นดนตรีอย่างมีความสุข มีความรื่นรมย์เขาไม่จำเป็นต้องเล่นเปียโนก็ได้ ต้องยอมให้เขาเล่นดนตรีที่เขารักอยากจะเล่นดีกว่า 

l บางครอบครัววิตกว่าลูกเรียนดนตรีแล้วจะไม่มีงานทำเป็นงานประจำ คุณเฟิร์นมองเรื่องนี้อย่างไรครับ 

คุณศศิภา : สำหรับเฟิร์นเป็นพวกชอบทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เมื่อชอบแล้วก็ทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็เข้าใจบางครอบครัวที่คิดแบบนั้น แต่ขอยืนยันว่าถ้าคนเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบแล้ว เราจะทำสิ่งนั้นได้ดีที่สุด เฟิร์นเป็นสายแบบที่ว่า ถ้าชอบอะไร เราจะทำ และเชื่อว่ามันจะมีทางไปเสมอถ้าเราทำสิ่งที่เราชอบ คือไม่ใช่ว่าเราไม่เคยรู้สึกว่ามันติดขัด มันก็มีเหมือนกันค่ะ แต่เมื่อเราเชื่อว่าเวลาเราเล่นศิลปะดนตรีที่เราชอบ เราจะเล่นให้ดีที่สุด ให้มีคุณภาพดีที่สุด แล้วก็จะมีงานทำด้วย ถ้าเรามีคุณภาพจริงๆ เชื่อว่าเราจะมีงานเข้ามาตลอดเวลา อย่างงานเล่นดนตรีตามโรงแรมในสมัยนี้ ก็ยังมีงานอยู่ เพียงแต่สัญญาอาจจะไม่ยาวเหมือนสมัยก่อน แต่ก็ขึ้นกับฝีมือของนักดนตรีด้วย ถ้าฝีมือดีจริง ก็มีงานรออยู่มากมาย แล้วในยุคนี้โอกาสของการมีงานทำก็มีมากพอสมควร เพราะโลกเปิดกว้างกว่าเดิมมาก เราสามารถใช้ช่องทาง social media นำเสนอผลงานเราได้ สามารถเข้าถึงคนได้หลากหลายและมากมายโดยรวดรวดด้วย สรุปคือไม่ต้องกลัวไม่มีงานทำ ถ้าเรามีฝีมือดี

l มีคำถามว่า บางบ้านอาจจะยังไม่แน่ใจว่าลูกชอบเล่นเปียโนหรือไม่ ก็เลยลองซื้อออร์แกน หรืออิเล็กโทนให้ลูกเล่น เพื่อทดสอบความสนใจ แบบนี้ถือว่ามาถูกทางไหมครับ

คุณศศิภา : ก็เป็นทางเลือกหนึ่งค่ะ บางบ้านก็ใช้เปียโนไฟฟ้า ในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องดูความสนใจของเด็กด้วย หรือไม่ก็พาไปสมัครเรียนเปียโนที่โรงเรียนสอนดนตรี ขอเข้าไปซ้อมเล่นก่อน เพื่อดูว่าเด็กสนใจจริงไหม เฟิร์นเชื่อว่าโรงเรียนสอนดนตรียินดีให้พาลูกหลานไปลองเล่นเปียโนก่อน แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปกครองมีเวลาพาลูกหลานไปหรือไม่ 

l นักเปียโนไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากลในยุคนี้มีหลายคนไหมครับ 

คุณศศิภา : มีหลายคนนะคะ และมีมากขึ้นเรื่อยๆ นักเปียโนรุ่นใหม่ก็มีฝีมือดีมาก หลายคนชนะโปรแกรมระดับโลก เราเริ่มมีนักเปียโนไทยที่ไปได้ถึงขนาดนั้น กำลังไปได้ดีเลยค่ะ แต่ก็ต้องให้เวลาอีกสักหน่อย แต่ยืนยันว่าบ้านเรามีนักเปียโนฝีมือดีๆไม่น้อยเลย

l เวลาคุณเฟิร์นไปแสดงในต่างประเทศ นักเปียโนต่างชาติเขามองนักเปียโนไทยอย่างไร

คุณศศิภา : เขาไม่ได้แบ่งแยกนะคะก็สามารถเล่นร่วมกันได้ดี เวลาเฟิร์นไปเรียนดนตรีในต่างประเทศ ครูก็พยายามสอนให้เรามั่นใจว่าเราต้องเล่นได้ดี อย่างตอนที่ไปเรียนในเนเธอร์แลนด์สิ่งแรกที่ครูบอกคือ เธอกับเราเท่ากันนะ บางคนอาจจะมองว่า accom pianist ด้อยว่านักเปียโนเดี่ยวซึ่งไม่จริงเลย เพราะแต่ละคนมีรูปแบบการเล่นต่างกันไป และคนยุโรปเขามองนักเปีนโนจากไทยว่ามีทักษะการเล่นดนตรีที่ดีมาก เขาดูจากฝีมือมากกว่าดูว่ามาจากไหน เฟิร์นว่านักดนตรีเป็นมนุษย์เพียงไม่กี่กลุ่มที่คุยกันได้ง่ายมาก เพราะคุยกันด้วยภาษาดนตรีเมื่อเล่นดนตรีจบ เราจะรวมกลุ่มไป party กันทุกครั้งแม้ระหว่างการแสดงอาจจะเจอปัญหาบ้าง แต่เมื่อแสดงจบ ก็เฮฮากันตลอด

l สุดท้าย อยากให้ฝากข้อคิดสำหรับบ้านที่พ่อแม่บังคับลูกให้เล่นดนตรีอีกสักครั้ง

คุณศศิภา : ดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ซึมซับค่ะ เราไม่บังคับกัน พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเห็นบรรยากาศของเสียงดนตรีในบ้านก่อน เริ่มจากการฟัง และพาลูกๆ ไปดูการแสดงดนตรีต่างๆ ทั้งคลาสสิก pop music และดนตรีอื่นๆ ด้วย แล้วดูว่าลูกสนใจไหม เฟิร์นเชื่อว่าเด็กทุกคนมีดนตรีอยู่ในตัวเอง เขาอาจต้องการการจุดประกายเพื่อดึงความสนใจของเขา แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเขาไม่ชอบจริงๆ ก็ไม่บังคับเขา แล้วให้เขาเลือกในสิ่งที่เขารักที่จะทำ เรื่องแบบนี้อยู่ที่พ่อแม่ด้วยว่าสามารถพูดโน้มน้าวได้ไหม การสอนให้เด็กเข้าใจความสำคัญของดนตรีไม่ใช่แค่เพียงทำให้เด็กเป็นนักดนตรีที่ดีเท่านั้น แต่หมายความว่าเขาจะทำให้สังคมของเรารักเสียงดนตรีมากขึ้นด้วย 

คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตีออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • มอบเงินให้โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ มอบเงินให้โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ
  • ยิปซีพยากรณ์\'ดวงรายวัน\' ประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568 ยิปซีพยากรณ์'ดวงรายวัน' ประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568
  • ไอคอนสยาม ชวนชมนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ‘กาลครั้งหนึ่ง’ ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของตัวตนผ่านงานศิลปะ ไอคอนสยาม ชวนชมนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ‘กาลครั้งหนึ่ง’ ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของตัวตนผ่านงานศิลปะ
  • EAT OUT กับแมริออท บอนวอย กลับมาอีกครั้ง! พบกับเทศกาลความอร่อยตลอด 3 เดือนทั่วไทย EAT OUT กับแมริออท บอนวอย กลับมาอีกครั้ง! พบกับเทศกาลความอร่อยตลอด 3 เดือนทั่วไทย
  • ‘อมารี พัทยา’ จุดหมายแห่งการพักผ่อนเหนือระดับ ที่ซึ่งความเป็นไทยไทยร่วมสมัยผสานเข้ากับความสง่างามและมนต์เสน่ห์แห่งท้องทะเล ‘อมารี พัทยา’ จุดหมายแห่งการพักผ่อนเหนือระดับ ที่ซึ่งความเป็นไทยไทยร่วมสมัยผสานเข้ากับความสง่างามและมนต์เสน่ห์แห่งท้องทะเล
  • ปักหมุด! ฉลองเดือนแห่งความหลากหลายและเท่าเทียม \'LOVE PRIDE ♡ PARADE, BANGKOK 2025\' ปักหมุด! ฉลองเดือนแห่งความหลากหลายและเท่าเทียม 'LOVE PRIDE ♡ PARADE, BANGKOK 2025'
  •  

Breaking News

จับโค้ช18มงกุฏตุ๋นเหยื่อร่วมลงทุนก่อนเชิดเงินหนี

เสียงร้องจากก้นหลุม! ถึงเวลาทบทวนความปลอดภัย

ประณามเหตุรุนแรง! 'อิสราเอล'ยิงปืนขู่ คณะนักการทูตเยือนเวสต์แบงก์

หนุ่มปริศนา! ‘นั่งดับภายในรถ’ ชาวบ้านเล่า!ลักษณะคล้ายมีโรคประจำตัว

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved