ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์พัฒนาความร่วมมือด้านบริการทางการแพทย์และภาคีเครือข่าย และงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดยะลา โรงพยาบาลยะลา จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรม “การตรวจนักอัลตราซาวนด์ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา” รุ่นที่ 1 จำนวน 26 คนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ในหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้มอบประกาศนียบัตรฯ เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ พร้อมด้วย พญ.ประนอม คำเที่ยงรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมร่มประดู่ ชั้น 7 โรงพยาบาลยะลาอำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา
การจัดฝึกหลักสูตรระยะสั้นการตรวจอัลตราซาวนด์ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รุ่นที่ 1 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตนักอัลตราซาวนด์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการในโรงพยาบาลทุกระดับ ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการดูแลอนามัยแม่และเด็กในหน่วยบริการปฐมภูมิ พัฒนาหลักสูตรโดยงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสูตรประกอบด้วย ภาคทฤษฎี จำนวน 22.5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ จำนวน 30 ชั่วโมง ซึ่งจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2565 และฝึกอบรมภาคปฏิบัติระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2565 ณ โรงพยาบาลยะลา โดยมีทีมวิทยากรซึ่งเป็นแพทย์งานสูตินรีเวชกรรมนำโดย พญ.ราชาวดี ตันวิสุทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทีมแพทย์โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลเบตง ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยตรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ได้รับการคัดกรองจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในหลายช่วงอายุครรภ์ เนื่องจากได้รับการตรวจหาความผิดปกติในไตรมาสแรก ลดการเกิดผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้ รวมถึงการกำหนดอายุครรภ์และการประเมินความสมบูรณ์ทารกในครรภ์เพื่อลดปัญหาอนามัยแม่และเด็กโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีอัตราการเสียชีวิตมารดาและทารกในครรภ์สูง นอกจากนี้ผู้ฝึกอบรมจะได้การเสริมทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือในการการวินิจฉัยเบื้องต้นจนนำไปสู่การวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำตลอดจนเสริมสร้างเจตคติที่ดีในการบริการมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย