วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
แนวหน้าสุดสัปดาห์ : มีนํ้า มีชีวิต มีรายได้ มีความมั่นคงยั่งยืน

แนวหน้าสุดสัปดาห์ : มีนํ้า มีชีวิต มีรายได้ มีความมั่นคงยั่งยืน

วันเสาร์ ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ยโสธร ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย
  •  

บ้านเมืองของเราไม่ว่าจะภูมิภาคไหน ล้วนได้รับความเมตตาจากฟ้า จากเทวดาไม่ต่างกันมากนัก แต่ปัญหาของเราคือ เราเก็บรักษาน้ำจากฟ้าไว้ไม่ได้ เมื่อน้ำมามากก็เกิดน้ำท่วม แล้วจากนั้นไม่นานก็แล้ง ซ้ำซากวนเวียนแบบนี้มานาน ถ้าเราบริหารจัดการน้ำได้ดี บ้านเมืองเราจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไป

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ไปสนทนาและลงพื้นที่จังหวัดยโสธร กับ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามความคืบหน้าเชิงประจักษ์หลักสูตรชลกร


l กราบเรียนถามคุณหญิงถึงความคืบหน้าเชิงประจักษ์ของโครงการหลักสูตรชลกรกับการแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรมในจังหวัดภาคอีสานครับ วันนี้สิ่งที่ผมและคณะได้พบคืออีสานโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งบริหารจัดการน้ำได้ ไม่มีปัญหาน้ำแล้ง ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง

ดร.คุณหญิงกัลยา : คำว่าอีสานแห้งแล้งกันดารมันเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น ผู้สร้างวาทกรรมนี้คิดเอาเองว่าอีสานต้องแล้ง เพราะอยู่บนที่ราบสูง จึงต้องขาดน้ำ แต่ความจริงไม่ใช่ตามวาทกรรมนั้นเทวดาท่านไม่ได้ลำเอียง ท่านให้น้ำจากฟ้ากับคนทุกคนทั่วทั้งประเทศไม่ต่างกันมากนัก จากสถิติน้ำฝนโดยเฉลี่ย 10 ปีย้อนของสำนักงานทรัพยากรน้ำและการเกษตร ระบุว่าประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยแล้ว 245,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเมื่อดูจากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาในระยะ 30 ปี พบว่าปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 1,500-2,000 มิลลิเมตรต่อปีแต่ทั้งประเทศเก็บน้ำฝนได้ 5.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปล่อยทิ้งไป 95 เปอร์เซ็นต์ สำหรับภาคอีสานเก็บน้ำในได้แค่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือทิ้งไปหมด จึงทำให้เกิดวาทกรรมอีสานแล้ง แต่ความจริงมันคือการไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีน้ำแล้วเก็บรักษาไว้ไม่ได้ มันก็ขาดน้ำ แล้วก็กลายเป็นปัญหาความแห้งแล้ง ตรงกันข้ามเมื่อมีฝนมาก แต่ไม่มีที่เก็บรักษาน้ำไว้ ก็เกิดน้ำท่วม

l จากข้อมูลที่ผมได้พบและได้คุยกับชาวบ้านที่มหาชนะชัย เขาบอกว่า เมื่อก่อนคนในชุมชนประสบปัญหาเรื่องน้ำทุกปี แต่เมื่อมีโครงการขุดบ่อขนาดใหญ่ที่ขุดลงไปถึงระดับความลึกของชั้นหินอุ้มน้ำ และทำบ่อปิดกระจายในชุมชนมากขึ้น ปัญหาเรื่องน้ำบรรเทาไปได้เยอะมาก คุณหญิงมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรครับ

ดร.คุณหญิงกัลยา : จริงตามที่ชาวบ้านที่คุณเฉลิมชัยไปคุยด้วยบอกทุกประการค่ะ หลักการที่ชาวบ้านบอกก็คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้นานแล้ว คือหาที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล สร้างแหล่งกักเก็บน้ำโดยเก็บน้ำไว้ใต้ดินประการแรกคือต้องดูว่าทิศทางน้ำไหลจากไหนไปไหน แล้วขุดบ่อเก็บน้ำ โดยต้องขุดด้วยพื้นฐานความรู้ด้านธรณีวิทยาที่แท้จริง ไม่ใช่ขุดไปเรื่อยเปื่อย เพราะหากไม่สามารถขุดลงไปได้ถึงชั้นของหินอุ้มน้ำแล้ว ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ น้ำจะมีในบ่อแค่ช่วงหน้าฝน เมื่อหมดฝนก็หมดน้ำ ดิฉันเน้นว่าต้องขุดบ่อโดยอาศัยหลักความรู้ด้านธรณีวิทยาประกอบให้ชัดเจน เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี ดินของพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะทางธรณีวิทยาต่างกัน จึงต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อนขุดบ่อขนาดใหญ่ ดิฉันน้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวไปทำเป็นหลักสูตรชลกรให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่อยู่ในโครงการทดลอง ซึ่งหลักสูตรนี้เปิดสอนมาแล้วสองปี

ดังนั้นในปีนี้จะมีผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกประมาณ 200 คน แต่ที่น่าปลื้มใจมากที่สุดคือ ผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตรชลกรสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง จนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้สำเร็จในชุมชนของตน และทำให้มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อจัดการเรื่องน้ำได้ดี ก็ทำให้เพาะปลูก เลี้ยงปศุสัตว์ได้ดีมีรายได้ มีอาหารการกินในครัวเรือนที่สมบูรณ์มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อหาอาหารการกินจากภายนอกบ้านได้อย่างจริงจัง ตัวอย่างความสำเร็จของการมีบ่อเปิดขนาดใหญ่ในชุมชนคือทำให้มีน้ำใช้ทั้งปี ลดค่าใช้จ่ายจากการสูบน้ำจากแม่น้ำหรือแหล่งน้ำไกลๆ เพื่อนำน้ำเข้าไปใช้ในชุมชน เพราะการสูบน้ำต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำ แต่เมื่อมีแหล่งน้ำในชุมชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ อีกต่อไป เมื่อมีเงินเหลือก็นำไปลงทุนผลิตการเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ คือลดค่าใช้จ่าย แล้วเพิ่มรายได้มากขึ้น

l บ่อเปิดขนาดใหญ่ที่ผมไปดูมามีขนาดใหญ่มาก กว้าง 60 เมตร ยาว 100 เมตร ความลึกทั่วไป 7 เมตร ส่วนตรงกลางบ่อขุดเป็นบ่อซ้อนลงไปอีก มีขนาดกว้าง 15 เมตร ลึกอีก 4 เมตร บ่อใหญ่แบบนี้ต้องใช้งบประมาณขุดมาก ชาวบ้านไม่สามารถทำเองได้ ต้องอาศัยงบฯ จากทางราชการกราบเรียนถามคุณหญิงเรื่องนี้ด้วยครับ

ดร.คุณหญิงกัลยา : ใช่ค่ะ การขุดบ่อใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้นภาคราชการต้องให้การสนับสนุน โดยต้องขุดลงไปให้ถึงชั้นหิน
อุ้มน้ำ ขอกลับไปพูดเรื่องบ่อสำหรับเก็บกักน้ำแบ่งได้สองประเภทคือ บ่อเปิด และบ่อปิด บ่อเปิดขนาดใหญ่ต้องลงทุนค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของบ่อ ยิ่งขนาดใหญ่และลึกมากก็ต้องใช้ทุนมากดังนั้นทางราชการต้องเข้าไปช่วยจัดการให้ ส่วนบ่อปิดมีขนาดเล็ก เพียง 1 คูณ 1 เมตร คือกว้างและลึก 1 เมตร ขุดเป็นพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร ส่วนล่างของบ่อใส่วัสดุย่อยสลายยาก เช่น ยางรถยนต์ เสาคอนกรีตหัก หรือเศษอิฐจากการก่อสร้าง แล้วชั้นถัดขึ้นมาใส่ท่อนไม้ขนาดกลาง และหินก้อนใหญ่ เพื่อให้มีโพรงใต้ดินสำหรับขังน้ำ ส่วนชั้นบนใกล้ผิวดินให้นำตะแกรงตาใหญ่วางไว้ แล้วนำดิน ทราย ใบไม้แห้งและหญ้าปิดไว้ข้างบน ให้มีผิวหน้าดินเสมอกับพื้นดิน โดยต้องฝังท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้วไว้ เพื่อเติมน้ำลงไป หรือเพื่อการระบายอากาศ บ่อน้ำใต้ดินแบบปิดเช่นนี้ สามารถทำเองได้โดยลงทุนไม่มาก และสามารถทำได้หลายบ่อในพื้นที่ขนาดเล็ก จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผืนดินได้เป็นอย่างดี และสามารถเก็บน้ำไว้ได้

เมื่อมีธนาคารน้ำใต้ดินชนิดนี้ไว้จำนวนมากพอ จะช่วยให้ที่ดินตรงนั้นมีความชุ่มชื้น ปลูกต้นไม้ได้ดีขึ้น ลดความแห้งแล้งได้ดีมาก และที่สำคัญคือสามารถใช้เก็บน้ำที่ถูกปล่อยทิ้งจากครัวเรือนไว้ใต้ดิน โดยไม่สร้างมลภาวะให้กับชุมชน อย่างไรก็ตาม เราต้องดูโครงสร้างของดินจากหลักการธรณีวิทยาด้วย สำหรับดินในภาคอีสานนั้น เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 7-8 เมตร จะพ้นชั้นดินเหนียว แล้วพบชั้นหินอุ้มน้ำ ชั้นนี้จะมีน้ำเก็บกักอยู่และเมื่อขุดลงไปถึงชั้นนี้จะช่วยเติมน้ำลงใต้ดินได้ เมื่อน้ำลงไปถึงชั้นนี้ น้ำจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยแรงทั้งสาม คือ แรงโน้มถ่วงของโลก แรงเหวี่ยงของโลกเมื่อโลกหมุนรอบตัวเอง และแรงที่สามคือน้ำหนักของน้ำยิ่งมีน้ำมาก น้ำก็จะยิ่งแพร่กระจายไปในชั้นดินตรงนี้ได้ไกลมาก อาจจะมากถึง 10 กว่ากิโลเมตร ยิ่งนานวันก็จะยิ่งแพร่กระจายไปไกลเรื่อยๆ มีตัวอย่างให้เห็นที่ตำบลเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่นั่นขุดบ่อเปิดขนาด 100 ไร่ เพื่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน

เมื่อขุดบ่อเรียบร้อยแล้วมีการเติมน้ำลงไปในชั้นใต้ดิน จากนั้นไม่นานพบว่าพื้นที่รอบๆ ที่ห่างไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีน้ำพุ่งขึ้นมาจากบ่อบาดาลที่เคยเจาะไว้ แต่กลับแห้งไปเมื่อหลายปีก่อน โดยมีน้ำพุ่งขึ้นมาจากปากบ่อเดิม เพราะว่าน้ำจากบ่อเปิดที่เราขุดไว้ ไหลเชื่อมไปถึงบ่อบาดาลเดิม น้ำที่พุ่งขึ้นมามีความแรงมาก นายกองค์การบริหารตำบลรองน้ำไว้แล้วนำมาให้ดิฉันดื่ม ดิฉันลองดื่มแล้วพบว่าน้ำมีความสะอาดเมื่อมองด้วยตาเปล่า จึงบอกว่าควรนำไปให้กรมวิทยาศาสตร์บริการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อหาว่ามีสารพิษใดตกค้างหรือไม่ และตรวจด้วยว่ามีสารตัวใดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ เพราะหากไม่มีสารพิษตกค้างก็น่าจะนำไปผลิตเป็นน้ำแร่เพื่อจำหน่ายต่อไปได้ 

l ผมไปดูไร่นาสวนผสมของนักเรียนหลักสูตรชลกรรายหนึ่ง พบว่าเขาขุดบ่อเปิดขนาดสามงาน แล้วมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร เขาบอกว่าหน้าแล้งปีนี้เขายังสามารถปลูกพืชต่างๆ ได้อย่างดี มีบ่อเลี้ยงปลาด้วย ทำให้เขามีรายได้จากการทำการเกษตรโดยไม่ต้องละทิ้งบ้านไปหางานทำในเมืองอื่นๆ 

ดร.คุณหญิงกัลยา : นี่คือประจักษ์พยานว่าการที่เรามีน้ำพอกินพอใช้ เราก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นมีงานทำในพื้นที่ของเรา ไม่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเรือน และยังลดค่าใช้จ่ายประจำวันได้ ทำให้ครอบครัวไม่แตกสลายอยู่กันอย่างอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตา ทุกคนมีความสุขตามอัตภาพ นี่คือความสุขอย่างหนึ่งของสังคมของเราและที่สำคัญคือเกษตรกรไม่ต้องขายที่ดินให้กับนายทุน ทำให้ยังคงเก็บรักษาที่ดินของปู่ยาตายายไว้เป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคต เมื่อมีที่ดิน มีน้ำก็มีอาชีพ มีของกิน มีรายได้ มีความอบอุ่น สังคมก็มีความสุขในระดับหนึ่ง

l เขายังบอกว่าหลักสูตรชลกรช่วยให้เขาและคนในชุมชนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความรู้ และที่สำคัญคือเขาสามารถเรียนได้แม้จะยังอยู่ในชุมชน เนื่องจากโครงการส่งครูอาจารย์ไปอบรมให้ความรู้ถึงในพื้นที่ 

ดร.คุณหญิงกัลยา : ใช่ค่ะ เมื่อมีผู้สนใจเข้ารับการเรียนรู้ เรายินดีส่งครูไปสอนให้ความรู้ถึงในชุมชนเพื่อให้บริการกับสังคม และจะได้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนต่างๆ ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย เท่ากับช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุดตรงประเด็น ขอย้ำว่ามีน้ำ ก็มีชีวิต แก้ปัญหาความยากจนได้ แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ และประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สิ่งที่เขาประสบด้วยตนเองอย่างชัดเจนอีกเรื่องคือการทำบ่อน้ำใต้ดินระบบปิด ให้ความชุ่มชื้นกับดินในบริเวณบ้านเขาเป็นอย่างดี สามารถเก็บน้ำใช้แล้วซึ่งเป็นน้ำโสโครกไว้ใต้ดิน ไม่เกิดปัญหามลภาวะ ไม่มีปัญหากับชุมชนหรือบ้านเรือนใกล้เคียง น้ำใช้แล้วจากครัวเรือนถูกเก็บไว้ในบ่อปิด ทำให้รอบๆ บ่อปิดมีความชุมชื้น ปลูกพืชสวนครัวได้ดีมาก มีตะไคร้งามมาก มีพริกขี้หนูดกมาก ประหยัดเงินจากการซื้อหาของเหล่านี้ได้ดี และยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้อีกด้วย 

l ผู้สำเร็จหลักสูตรชลกรรุ่นแรกจำนวน 200 คน จะทำหน้าที่อะไรบ้างครับ

ดร.คุณหญิงกัลยา : ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความรู้ความสามารถด้านบริหารจัดการน้ำในชุมชนได้เป็นอย่างดี สามารถทำงานในองค์กรที่ต้องบริหารจัดการน้ำได้อย่างแน่นอน หรือหากไม่ต้องการทำงานกับองค์กรใดๆ ก็สามารถทำงานในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับชลกรรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการโดยดิฉันจะทำ MOU (Memorandum Of Understanding) กับ อบต. มาบตาพุด ระยองวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ได้ฝึกงาน และเรายังได้หารือกับโครงการช่วยเหลือพัฒนาเกษตรกร โดยมีหน่วยงานของ กทม. เข้าร่วมประชุมด้วย ทาง กทม. แจ้งว่ายินดีรับผู้สำเร็จหลักสูตรเข้าทำงานโดยไม่ต้องสอบ เพราะมั่นใจคุณภาพของผู้สำเร็จหลักสูตร ขณะเดียวกัน เราพยายามพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น โดยประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำจากสหรัฐฯ แต่สำหรับพื้นฐานความรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องมีคือ ด้านเครื่องกลการเกษตร อุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำผิวดิน ธนาคารน้ำใต้ดิน การบริหารจัดการน้ำเสีย การจัดการดิน และที่สำคัญคือความรู้เรื่องศาสตร์พระราชา

จากการที่ดิฉันร่วมประชุมระดับผู้อำนวยการและผู้บริหารของวิทยาลัยเกษตรฯผู้บริการวิทยาลัยฯ ให้ความเห็นตรงกันว่า วิทยาลัยเกษตรฯ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านชลกรได้ และพร้อมให้บริการกับชุมชนในจังหวัดที่วิทยาลัยเกษตรฯ ตั้งทำการอยู่ รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการความรู้ด้านชลกร เราได้ทำโครงการนี้ไปยังชุมชนต่างๆ ทั้งในหมู่บ้าน หน่วยงาน เช่น หน่วยทหาร และองค์กรที่ต้องการความรู้ด้านบริหารจัดการน้ำ ผู้รับการอบรมแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ทำให้ชุมชนแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างน่าพอใจ คนในชุมชนให้ความร่วมมือ เพราะได้รับผลประโยชน์ด้วยกัน ทุกคนยินดีให้พื้นที่ของตนเพื่อทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือทำแก้มลิง บ่อพวงขนาดต่างๆ เพราะประจักษ์แล้วว่าเมื่อมีน้ำในชุมชนก็ทำให้เกิดความบริบูรณ์ในชุมชนตามมา มีงานทำ มีเงินใช้จ่าย มีอาชีพยั่งยืน มีความสุขในชุมชน และครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

คุณจะได้ชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี้

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'หมอวรงค์'สอนมวย'นพดล' หยุดถูไถ!ก้มหน้าก้มตาปกป้อง'คนชั้น 14'

'สืบตม.อุบลฯ'ลุยตรวจสถานประกอบการ สกัดกันค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย

'พิพัฒน์'ขับเคลื่อนความร่วมมือแรงงานอาเซียน พบ'รมว.เกาหลี–มาเลเซีย' เตรียมยกระดับแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล

'สมเด็จพระสังฆราช'ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved