วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
พ่อแม่ ครู สังคม และหนังสือคือเครื่องหล่อหลอมเด็กและเยาวชน

พ่อแม่ ครู สังคม และหนังสือคือเครื่องหล่อหลอมเด็กและเยาวชน

วันเสาร์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ครู เด็ก เยาวชน
  •  

เด็กที่ใช้ความรุนแรงก้าวร้าวต่อคนอื่น เขาน่าจะมีปัญหาอะไรบ้างอย่างในตัวเขา เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้เขา ไม่ผลักเขาออกไป ไม่ทิ้งเขา 

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ไปสนทนากับ ดร.อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในประเด็นเบ้าหล่อหลอมเด็กและเยาวชนที่สำคัญคือครอบครัว โรงเรียน และสังคมรอบๆ ตัวเด็ก


l กราบเรียนถามอาจารย์ในฐานะผู้เป็นครูตลอดชีวิต อาจารย์มองว่าสังคมไทยมีปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนหรือไม่ครับ สาเหตุที่ถามเรื่องนี้ เพราะได้ยินคนในสังคมบ่นว่ามีปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนอยู่เสมอๆ 

ดร.อุทัย : ผมจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 2506 ผมเคยสอนหนังสือในโรงเรียนเล็กๆ อยู่นอกอำเภอแห่งหนึ่งที่ตรัง ยุคนั้นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา แต่ที่หน้าเสาธงโรงเรียนมีบ่อน้ำของชุมชนทุกคนในหมู่บ้านต้องใช้น้ำจากแหล่งนี้ ครูก็จึงรู้จักพ่อแม่ของเด็กนักเรียนทุกคนค่อนข้างดี เป็นความสัมพันธ์ในชุมชนที่ค่อนข้างแนบแน่น มีอะไรก็คุยกัน เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานคนย่านนั้นไม่กล้าทำผิด เพราะกลัวครูฟ้องผู้ปกครอง แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี ไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป แล้วยิ่งเมื่อมีน้ำประปามาถึง ก็ยิ่งเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ที่เคยใกล้ชิด ก็ห่างออกไป แต่ก่อนชาวบ้านแบ่งปันข้าวของให้กันและกัน แต่ภายหลังก็เปลี่ยนเป็นค้าขาย สมัยก่อนมีผักไปแลกไข่เป็ด มีปลาไปแลกไก่ แต่เปลี่ยนเป็นขายเพื่อหาเงินนำไปซื้อตู้เย็น เตารีดไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า มันคือการเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ชัดเจน ระยะหลังๆ เด็กนักเรียนไม่เกรงกลัวว่าครูจะฟ้องพ่อแม่เขา เมื่อเด็กทำผิด เพราะรู้ว่าครูไม่ค่อยพบเจอกับพ่อแม่ เพราะไม่ต้องไปตักน้ำที่บ่อหน้าโรงเรียนอีกแล้ว ทุกคนใช้น้ำประปา การติดต่อกันที่บ่อน้ำโรงเรียนก็จบลง นี่คือการเปลี่ยนโครงสร้างสังคม ถามว่าผมเห็นว่าปัญหาของเด็กในสังคมหรือไม่ ก็พอจะเห็นบ้าง แต่ก็ต้องดูว่าอะไรคือรากเหง้าของปัญหาที่ว่านั้น เด็กไม่น่าจะเป็นปัญหาด้วยตัวของเขาเองมากนัก เพราะเขาถูกหล่อหลอมจากสังคม จากคนใกล้ชิด ดังนั้นหากจะบอกว่าเป็นปัญหาจากเด็ก ก็ต้องกลับไปดูรากของปัญหาก่อน

l อาจารย์คิดว่าตัวของผู้ปกครอง ครู และสังคมมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน มากน้อยแค่ไหนครับ โดยเฉพาะครูต้องมีหน้าที่ดูแลอบรมเด็กมากขึ้นใช่ไหมครับ เพราะเด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน ยิ่งระยะหลังๆ มีข่าวเรื่องเด็กนักเรียนแสดงพฤติกรรม bully (ใช้ความรุนแรง) กระทำต่อเด็กอื่นบ่อยๆ 

ดร.อุทัย : ทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองเด็ก แม้เขาจะไม่ใช่ลูกหลานโดยตรงก็ตาม แต่เขาคือทรัพยากรของสังคมของเรา ผมมองอย่างนี้นะ เช่น เด็กชายกอไก่ หรือเด็กหญิงขอไข่ มีพฤติกรรมระรานเด็กอื่นๆ ที่เราเรียกว่า bully เราต้องดูว่าเขา bully อย่างไร เช่น กระทำระรานระหว่างเพศ เช่น เด็กชายรังแกเด็กหญิง หรือระรานระหว่างวัย เช่น เด็กโตกว่าระรานเด็กเล็กกว่า รวมถึงพวกมีพฤติกรรมระรานผู้อื่น เนื่องจากเห็นว่าตนเองมีฐานะครอบครัวดีกว่า หรือเป็นลูกคนใหญ่คนโตในสังคม ก็ระรานคนที่ฐานะด้อยกว่า เมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าคนที่ระรานคนอื่นนั้น ก็เป็นคนมีปัญหาในตัวเอง คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าเด็กที่ถูกระรานต้องมีปัญหา แต่จริงๆ แล้วคนระรานคนอื่นก็คือตัวปัญหาด้วย ผมมองว่าเราต้องช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมระรานคนอื่น ให้เข้าปรับพฤติกรรมให้ได้อย่าปล่อยให้เขาระรานไปเรื่อยๆ เพราะมันจะไม่จบ คนที่ระรานคนอื่นก็คือพวกมีปัญหาที่เราต้องให้ความเห็นใจ และช่วยแก้ปัญหาให้เขา สังคมทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก เราถูกทำให้อยู่ในระบบการแข่งขันสูงมาก ชิงดีชิงเด่น อวดรวยอวดเก่ง นักเรียนคนไหนมี iPhone 14 มีกระเป๋าแบรนด์เนมหรูๆ สารพัดชนิด กลายเป็นคนวิเศษไปเลย เมื่อสังคมยอมรับสิ่งนี้แล้วทำให้เกิดการแบ่งฐานะกันมากขึ้น ใช้เรื่องวัตถุนิยมเป็นการบ่งบอกตัวตน คนมีฐานะดี มีตำแหน่งสูงๆ หรือพวกได้คะแนนสูงๆ บางคนลืมตัว กลายเป็นเหยียดคนอื่น แน่นอนว่าชนชั้นกลางย่อมมีฐานะดีกว่าคนระดับล่างที่ยากจนมากๆ เมื่อเป็นเช่นนี้คนชั้นกลางจึงมีการศึกษาดีกว่า เรียนดีกว่า แต่คนยากคนจนจะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ เพราะเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างหนัก คนจนที่เรียนดีจริงๆ มีไม่มากนัก เพราะไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ไม่มีเงินเรียน ถ้าเรามองว่าเด็กเรียนไม่ดีเป็นคนโง่ คนเลวไม่ขยัน เราก็เหมือนผลักเขาออกไป เขาก็ไปรวมตัวกันเอง เพราะเราไม่เอาเขา ตัวอย่างหนึ่งน่าสนใจมากคือเด็กที่เรียนอาชีวะ คนกลุ่มนี้มักถูกสังคมมองว่าโง่ ไม่เอาไหน พ่อแม่บางคนก็ยังมองว่าลูกโง่ ไม่ฉลาดเหมือนพี่น้องที่เรียนหมอ เรียนวิศวะ เรียนบัญชี บางคนฟันธงไปเลยว่า ถ้าเอ็งไม่โง่เอ็งจะเรียนอาชีวะหรือ คิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ ที่สำคัญคือครูในโรงเรียนอาชีวะบางคนถึงแม้ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าเด็กของตนโง่ แต่ก็แสดงออกด้วยสายตาและการกระทำบางอย่าง ทำให้เด็กอาชีวะเข้าใจว่าตนเองไม่ได้เรื่องในทางที่ดี ก็จึงทำตัวให้เด่นดังในทางตรงข้ามไปเสียเลย ผมย้ำว่าการให้การยอมรับในตัวตนของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญมาก คนทุกคนต้องการการยอมรับจากสังคม หากสังคมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว มันคือตัวการสร้างปัญหาให้กับคนที่ถูกปฏิเสธ ผมเน้นว่าคนทุกคนต้องการการยอมรับในแง่ใดแง่หนึ่งตามสิ่งที่เขามีความเด่น และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ คือเขาต้องมีที่ยืน ต้องมีตัวตนในสังคมตามแบบของเขา เช่น เขาเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม เป็นสามีภรรยาที่ดี  สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง เขาจึงรู้สึกว่าเขามีตัวตนในสังคม เมื่อไม่นานมานี้ผมดูรายการ TED Talk ของสหรัฐฯ เขาเชิญแขกร่วมรายการรายหนึ่งมาสัมภาษณ์ คนคนนี้เล่าให้ฟังว่า ชีวิตเขาล้มเหลวมาตลอด ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มาจากครอบครัวแตกสลาย เปลี่ยนโรงเรียนมากเป็นสิบแห่ง เขามองว่าสังคมไม่ต้องการเขา เขาเป็นเด็กจรจัด เขาคิดว่าต้องทำลายสังคม เพราะสังคมไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขา วันหนึ่งเขานำปืนไปโรงเรียน กะว่าจะยิงทุกคน แต่เมื่อไปถึงโรงเรียนแล้วได้เจอเพื่อนคนหนึ่งเข้ามาชวนเขาไปกินข้าวเช้าด้วยกัน พูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ จนเขาเปลี่ยนใจไม่ใช้ปืนยิงใคร การพูดคุยระหว่างเขากับเพื่อนช่วยเปลี่ยนความคิดร้ายๆ ของเขาได้ เมื่อเขารู้ว่ามีคนเป็นเพื่อนเขา เป็นห่วงเขา ล่าสุดเขามีครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุขดี ส่วนเพื่อนที่ชวนเขากินข้าวในวันนั้นก็นั่งอยู่ในห้องส่งออกอากาศด้วย นี่คือการทำให้คนคนหนึ่งมีความรู้สึกว่าเขามีตัวตน มีคนเป็นเพื่อน ไม่ใช่คนที่สังคมปฏิเสธ เขาได้รับการยอมรับจากสังคม คนที่ bully คนอื่น มักมาจากสังคมที่แข่งขันสูงมาก อาจจะมาจากครอบครัวที่มีปัญหา มีความรุนแรงตลอดเวลา เขาอาจจะมีฐานะดีก็จริง แต่ไม่มีความอบอุ่น พบเห็นแต่ความรุนแรงทุกวัน ทำให้เขาใช้ความรุนแรงกับคนอื่นต่อๆ ไป เขาน่าจะมาจากสังคมที่ไม่เอื้อเฟื้อกัน สังคมขาดความสัมพันธ์ที่ดี ประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าครูจะต้องตระหนักให้มาก การที่เราจะสอนลูกให้ดีสอนนักเรียนนักศึกษา ไม่ว่าจะเด็กเล็กเด็กโตก็แล้วแต่ให้เป็นคนดี ต้องมีตัวบ่งชี้ตัวแรกคือความหลากหลาย ในธรรมชาติมีความหลากหลาย ในระบบนิเวศมีความหลากหลายในชีวภาพกุหลาบมีหลายชนิด มะม่วงมีหลายชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นรากเหง้า เป็นเสาหลักของระบบนิเวศ ความหลากลหลายทางวัฒนธรรมก็สำคัญ วิถีชีวิตเรามันมีรากฐานสำคัญมาจากระบบสังคมที่เราอยู่อาศัย ผมเห็นว่าสังคมไทยมีความแปลกประหลาดอย่างมาก เรามักจะอ้างว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่เราไม่ยอมรับความหลากหลาย แปลกมากครับ หลายคนไม่ยอมรับความหลากหลายทางความคิด ผมเห็นว่าพ่อแม่และครูต้องปลูกฝังให้เด็กเห็นว่าความหลากหลายเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ ต้องอดทนและยอมรับความหลากหลายได้ เราไม่ต้องดูถูกเยาะเย้ยเพื่อนที่แต่งกายผิดแปลกจากเรา ไม่ล้อเลียนเพื่อนที่โพกหัวหรือเพื่อที่เดินเท้าเปล่า ไม่ต้องตื่นเต้นจนเกินไป เมื่อเห็นเพื่อนใช้ของราคาแพงมากๆ ต้องถือว่ามันคือความหลากหลายตามแต่วิถีของแต่ละคน ต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่มีใครดีหรือเลวกว่าใคร ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน เราอยู่คนเดียวไม่ได้เราต้องพึ่งพากันและกัน  ในโรงพยาบาลไม่ใช่มีแค่หมอ ยังมีพยาบาล มีคนเข็นเตียง มีสารพัดอาชีพ เรื่องนี้ต้องสอนให้เด็กเข้าใจว่าทั้งหมดต้องพึ่งกันและกัน และต้องยอมรับความแตกต่างได้ และต้องสอนเรื่อง self regulation คือการจัดการตัวเองได้ให้สอดคล้องต้องกับธรรมชาติ เราจะเห็นว่าธรรมชาติสามารถจัดการตัวเองได้ หากไม่โดนทำลายจนเสียสมดุลจนทุกอย่างผิดปรกติไปทั้งหมด เราเห็นใช่ไหมว่ากุ้งหอยปูปลาในทะเลมีให้เรากินตลอด ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเพาะพันธุ์ให้มัน มันจัดการตัวเองได้ ตราบเท่าที่เราไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียหายจนเกินไป เราเห็นว่าหมาแมว เมื่อไม่สบายมันก็ไปหาหญ้าหาใบไม้กิน เพื่อให้มันอ้วกแล้วมันก็รักษาตัวเองไปตามวิถีของมัน เพราะฉะนั้นเราต้องยอมให้คนมีอิสระ มีความภูมิใจ ต้องยอมรับความสำเร็จของเขา ต้องให้เขาภูมิใจในตัวเอง และสอนให้เขารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของโลก ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ผมมองว่าเด็กเล็กจะมีการเรียนรู้แบบแนวตั้ง เรียนจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เมื่อเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่น จะมีการเรียนรู้แนวระนาบ เรียนจากเพื่อน เรียนจากแบบเรียน ไม่ค่อยฟังพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้เขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ ต้องสอนด้วยการให้เขาเห็นแบบอย่างดีๆไม่ใช่ออกคำสั่งใช้อำนาจ ต้องเป็นต้นแบบให้เขาเห็น ส่วนครูก็เช่นกันต้องเป็นต้นแบบที่ดี ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก เพราะเด็กเห็นเราเป็นตัวอย่าง พอเด็กโตขึ้น เราต้องทำให้เขาเห็นด้วยการจัดกิจกรรมให้เขาทำ เช่น กิจกรรมระหว่างเพศ วัย และระหว่างคนต่างฐานะ เขาจะสามารถเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนเข้าใจสังคมได้มากขึ้น ต้องให้เขาเห็นว่าเพื่อนคนนี้ขูดมะพร้าวเก่ง คนนี้ขึ้นต้นไม้เก่ง แม้เรามีฐานะดีกว่าเขา แต่เราทำบางเรื่องไม่ดีเท่าเขาต้องยอมรับความเป็นตัวตนของเขา แต่ทุกวันนี้มันแข่งขันกันเสียทุกเรื่อง แข่งกันจนเครียด ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน ครูเองก็แข่งกันจนลืมบทบาทของครูที่ดี ต้องเร่งทำตำแหน่งวิชาการจนลืมเอาใจใส่ลูกศิษย์ ต้องเร่งเป็น ผศ. รศ. เป็น ศ.เร่งหาตำแหน่งจนลืมความเป็นครูที่แท้จริง

l อาจารย์ครับ เราจะแก้ปัญหาครูสนใจตัวเองมากจนลืมภาระทำให้ลูกศิษย์เป็นคนดีได้อย่างไรครับ และทำอย่างไรจะให้เด็กของเรามีนิสัยรักการอ่าน

ดร.อุทัย : ครูต้องย้ำกับตัวเองเสมอๆ ว่า หน้าที่ของครูคือทำให้ลูกศิษย์เป็นคนดี แม้ไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่ต้องเป็นคนดี ต้องเน้นเรื่องคุณธรรมมากกว่าวัตถุนิยม ผมเห็นใจครูมากนะครับ เพราะครูก็ถูกระบบ bully จึงต้องเอาตัวรอด จนลืมหน้าที่สำคัญของครู โครงสร้างข้างบนมันบีบบังคับให้ครูต้องเป็นไปในทิศทางที่ราชการกำหนด แต่กำหนดแบบไม่ได้สนใจว่าครูจะสามารถเป็นครูที่ดีสำหรับลูกศิษย์ได้หรือไม่ ครูที่ไม่กล้าสู้เพื่อความถูกต้องจึงต้องทำตามระบบไปแบบไม่มีทางเลือก ผมเองนั้น ไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการ ผมก็ทำงานของผมไปโดยตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด เมื่อผมเกษียณราชการ เงินเดือนผมตันแค่ระดับ C 7ผมได้เงินบำนาญประมาณ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกับ หากผมจะพูดให้คนอื่นหมั่นไส้คือ ผมเชื่อว่าผมเก่งกว่ามาก (หัวเราะ) แต่เพื่อนผมมีตำแหน่งวิชาการ เมื่อเขาเกษียณราชการจึงได้เงินบำนาญ 40,000-50,000 บาท นี่คือความเป็นจริงของสภาพสังคมที่ต้องแข่งขันกันมากๆ ทุกคนจึงเกิดความกดดัน ทุกคนต้องหารถยนต์คันใหญ่ๆ หาบ้านหลังโตๆ หรูๆ ต้องมีเงินมากๆมีเครื่องประดับเยอะๆ แข่งขันกันจนเครียด ไม่มีเวลาสนใจเด็กนักเรียน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เราต้องกลับมาทบทวนว่า ทำอย่างไรให้ครูเป็นครูที่ดีของนักเรียน มีความเอาใจใส่ต่อเรื่องราวและความทุกข์ยาก รวมถึงรับรู้ปัญหาของนักเรียน แล้วช่วยแก้ปัญหาให้ได้บ้าง ครูต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ต้องเป็นที่ปรึกษาของนักเรียนได้ ยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่งคือ เมื่อผมเป็นครูครั้งแรก มีเพื่อนครูลงโทษเด็กนักเรียน โดยบอกว่าเด็กไม่ส่งการบ้าน จึงทำโทษเด็ก ผมถามว่าครูสอบถามเด็กหรือไม่ว่าทำไมจึงไม่ทำการบ้าน ติดขัดปัญหาอะไรหรือ ครูไม่สอบถามเด็ก แต่ลงโทษเลย ครั้นเมื่อมารับรู้ภายหลังว่าเหตุที่เด็กไม่ทำการบ้าน เพราะต้องดูแลแม่ที่ป่วยหนักทั้งคืน อันที่จริงเราต้องยกย่องเด็กคนนี้ที่กตัญญูต่อแม่ โรงเรียนต้องยกย่องเด็กคนนี้ ไม่ใช่ทำโทษเขา แต่เพราะความที่ครูไม่เคยใส่ใจเรื่องสำคัญเช่นนี้ จึงทำให้ลงโทษเด็ก ถามว่าถ้าเด็กไม่ดูแลอาการป่วยของแม่ แล้วเอาเวลาไปทำการบ้านหากแม่ของเด็กทรุดหนักลง เราจะโทษใคร ทุกวันนี้ เรามักใช้อำนาจเป็นตัวตัดสินใจ สังคมของเราเป็นสังคมบ้าอำนาจ ทุกคนเลยอยากมีอำนาจ อยากใช้อำนาจ ผมเสนอว่าเราต้องลดการใช้อำนาจลง แล้วฟังเหตุผลของกันและกันให้มาก การใช้อำนาจเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เช่น เมื่อลูกเราเถียง เราเกิดความโมโห แล้วเขกหัวลูก หากเราใช้อำนาจกับลูก ลูกของเราก็จะใช้อำนาจกับคนอื่นๆ ต่อไปเป็นทอดๆ ฉะนั้นเราพยายามใช้ยุติการใช้อำนาจแบบเรื่อยเปื่อยอีกอย่างคือ ระบบการประเมินในสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้นผมเห็นว่ามันสร้างภาพมากกว่า ไม่ได้ทำงานกันอย่างจริงๆ จังๆผมเคยเป็นบอร์ดให้กับสถาบันการศึกษาบางแห่งมา 2 สมัย ผมเห็นปัญหาที่ว่านั้นดี แล้วเมื่อช่วงที่ผมเป็นอธิการบดีก็พบกว่าการทำข้อมูลเพื่อเสนอนั้น มันเป็นการทำแบบเฉพาะหน้า ทำแบบขอไปที ไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างจริงๆ จังๆ มันเป็นการสร้างแรงกดดันไปที่ครูโดยไม่เกิดประโยชน์แม้แต่น้อย อีกเรื่องคือ ครูอยู่ในสังคมที่แข่งขันด้านวัตถุนิยมมากเกินไป คุณเฉลิมชัยคงทราบว่าทุกวันนี้ครูเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์กันเยอะมาก ถามว่าครูเงินเดือนน้อยหรือ ไม่น้อยนะครับ เงินเดือนเฉลี่ยของครูประมาณ  25,000 บาท หากคนมีเงินเดือนเท่านี้ ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว แล้วชาวไร่ชาวนา คนงานระดับล่างจะอยู่กันอย่างไร จะมีหนี้มากกว่านี้กี่เท่า หากเราคิดว่าครูเป็นหนี้เพราะเงินเดือนน้อยแล้วเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หรือให้กู้เงินจากสหกรณ์ กู้จากธนาคารออมสิน กู้จากคุรุสภา และกู้จากสารพัดที่ ก็ไม่แก้ปัญหาหนี้สินของครู การที่ครูจำนวนหนึ่งเป็นหนี้มากๆ มันไม่ได้มาจากความยากจน แต่มันมาจากการใช้ชีวิตของแต่ละคน ผมมีคำถามว่า เวลาคุณซื้อของ คุณซื้อของตามคุณค่าการใช้งาน หรือซื้อตามแฟชั่น สำหรับผม ผมซื้อนาฬิกาตาม function คือใช้เพื่อบอกเวลา นาฬิกาของผมเรือนละไม่กี่บาท แต่บอกเวลาได้ว่าตอนนี้กี่โมงกี่ยาม บอกเวลาได้ไม่ต่างจากนาฬิกายี่ห้อแพงๆ เรือนละหลายแสนบาท ผมใช้เสื้อผ้าที่ขายตามตลาดทั่วไป ตัวหนึ่งไม่ถึงร้อยบาท ผมสวมได้ ไม่มีปัญหา ผมซื้อของตาม function ไม่ซื้อตาม fashion ผมไม่นิยมการเป็นหนี้ แต่สำหรับบางคนนิยมซื้อของตาม fashion ใช้กระเป๋าราคาแพงมาก แต่ไม่ค่อยมีเงินติดกระเป๋า ถามว่าทำไปทำไมครับ เสื้อผ้ามีเท่าที่พอใจก็พอแล้ว รองเท้าก็เหมือนกัน มีเท่าที่พอใช้ ไม่ต้องขนซื้อมากมาย มี 5-10 ชุดก็เหลือจะพอแล้ว ทั้งหมดนี้ผมเห็นว่าเราเลือกได้ เราปรับการใช้ชีวิตได้ หากครูไม่มีปัญหาการดำรงชีวิต ครูจะมีเวลาไปดูแลเอาใจใส่กับเด็กๆ ได้มากขึ้น การเป็นครูดีเด่นที่มีแต่ตำแหน่งบ้าๆ บอๆ ไม่เป็นประโยชน์กับเด็กแม้แต่น้อย ครูดีต้องให้เวลากับเด็ก ต้องเอาใจใส่เด็ก ต้องทำตำราดีๆ มีคุณภาพให้เด็ก ผมเคยเสนอไว้นานแล้วว่า นักเรียนทุนที่กลับมาเป็นครู ต้องแปลตำราภาษาต่างชาติตามที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกตำราไว้เช่น จบระดับปริญญาโท ต้องแปลตำราต่างชาติ 1 เล่มจบระดับปริญญาเอก ต้องแปลตำราต่างชาติ 2 เล่ม หากเป็นแบบที่ผมเคยเสนอ รับรองว่าวันนี้เรามีหนังสือแปลดีๆ ให้เด็กอ่านมากมายแล้ว เมื่อมีตำราดีๆ มีมาตรฐานโลก เด็กของเราก็มีหนังสือดีๆ อ่านทั้งเมือง ตำราที่แปลก็ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบภาษาการแปลด้วย เพื่อให้ได้มาตรฐาน เราต้องให้เด็กของเรารักการอ่าน ผมนั้นเป็นคนอ่านหนังสือมาตั้งแต่สมัยอยู่ประถม อ่านหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นนิยาย หรือหนังสือเรียน อ่านดะไปหมด เราต้องปลูกฝังนิสัยรักษาการอ่านให้เด็กๆ ของเรา เมื่อเขารักการอ่านแล้ว เขาจะเกิดสติปัญญาในที่สุด ปัญหาอย่างหนึ่งในโรงเรียนของเราคือ ไม่อนุญาตให้มีหนังสือจำพวกประโลมโลก สำหรับผม ผมไม่ต่อต้านหนังสือประโลมโลก เพราะมันอ่านสนุก ขอให้เด็กๆ ได้อ่านก่อน ฝึกนิสัยรักการอ่านไว้จากนั้นเขาจะอ่านไปเรื่อยๆ อ่านหนังสือต่างๆ หลากหลายชนิดทุกภาษาที่เขาสามารถอ่านได้ เมื่อเด็กรักการอ่านแล้ว เขาจะอยู่กับตัวเองได้ ไม่ต้องไปมั่วสุมในสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ไปยุ่งกับเรื่อง bully ใดๆ แล้วเราจะเป็นสังคมที่มีคนรักการอ่านหนังสือจำนวนมาก หนังสือดีๆ สามารถช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนของเราได้อย่างดี คนรักการอ่านจะมีสติปัญญาสูงและไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้สังคม 

คุณจะได้ชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น.ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่YouTube ไลฟ์ วาไรตี

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'ทักษิณ'หมดทางแล้ว! 'เสรีพิสุทธ์' ชี้ยัดคุกได้เลย

'สว.จิระศักดิ์-สว.วุฒิชาติ'ปิดบ้านเงียบ! กกต.-ดีเอสไอ แปะหมายเรียกหน้าบ้าน

หวดไทยพร้อมลุย! สู้ศึกชิงแชมป์โลกที่คาซัคฯ

'จุลพันธ์'พร้อมคุย'อนุทิน'ทำประชามติ กม.คอมเพล็กซ์ ไม่ใช่เป็นการเสนอขึ้นมาลอยๆ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved