เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ครบ 46 ปี ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันวิภาวดี” ขึ้นเพื่อสดุดีและบำเพ็ญพระกุศลถวาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ดังเช่นที่ได้จัดมาทุกปี ณ ลานพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระยุพราช อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุลรัชนี) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ)รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2463ทรงมีอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันหนึ่งองค์คือหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว จึงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษาที่โรงเรียนนี้เพิ่มเติมอีก 3 ปี ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2485
ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้ทรงรับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการประพันธ์ในนาม “น.ม.ส.” ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีเอก” ผู้หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คล้ายพระบิดา พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงพระปรีชาสามารถหลายประการ โดยเฉพาะทางอักษรศาสตร์ ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อพระชันษาเพียง 14 ปี และทรงใช้นามปากกา “ว.ณ ประมวญมารค” ทรงพระนิพนธ์นวนิยายอมตะเรื่อง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ ฯลฯ อีกทั้งสารคดีเรื่อง ตามเสด็จอเมริกา ตามเสด็จปากีสถาน ต่อมา ทรงพระนิพนธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง พระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพราะรัก ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องสั้นรวมทั้งบทละครวิทยุด้วย
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เสกสมรสกับหม่อมเจ้า ปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2489 โดยทรงเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีธิดา 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ในราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ.2500 และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศรวม 25 ประเทศ
ในระยะ 10 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในด้านการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารภาคใต้ ทรงนำหน่วยพระราชทานไปช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ที่ห่างไกลและทุรกันดารที่สุด โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากในการเดินทางหรือที่พักแรม เมื่อพระองค์ท่านเสด็จที่ใดก็ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาความเจริญก็ค่อยๆ ไปถึงที่นั้น จนในที่สุดชาวบ้านจึงได้ขนานพระนามว่า “เจ้าแม่” พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชน พาแพทย์ไปรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วย จัดสิ่งของหยูกยาไปช่วยชาวบ้านที่ยากไร้หรือประสบภัย แจกอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียน แนะนำการงานอาชีพและส่งเสริมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือน สมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดน แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่ามีตำรวจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด 2 นาย ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บเกรงว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที จึงรับสั่งให้นักบินเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ 2 นายนั้น ไปส่งโรงพยาบาล ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำใกล้บ้านเหนือคลอง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาต้องพระองค์ ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ก่อนเสด็จถึงโรงพยาบาล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2520 และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์และประถมาภรณ์ช้างเผือกและรัฐบาลในขณะนั้น โดย ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้อัญเชิญพระนามมาตั้งชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เชื่อมต่อถนนในกรุงเทพฯ กับถนนไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเทิดพระเกียรติและเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระประวัติ ผลงาน และการเสียสละของพระองค์ท่าน
ถึงแม้ว่าพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้สิ้นพระชนม์ไป 46 ปีแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวใต้ ชาวสุราษฎร์ฯ ได้กำหนดวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของทุกปี คือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็น“วันวิภาวดี” เพื่อทำพิธีสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวาย ณพระอนุสาวรีย์ 5 แห่งทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี