พระปรางค์วัดอรุณฯ ศิลปะรัตนโกสินทร์
ในแม่น้ำเจ้าพระยานอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวังในฝั่งพระนครแล้ว พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ก็คือ ความสง่างามของกรุงธนบุรีและบางกอก ด้วยความสำคัญดังกล่าวการบูรณะพระปรางค์ที่กำลังจะทำการปฏิสังขรณ์นั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ อาทิตย์นี้ขอตามหาภูมิสถาปัตยกรรมพระปรางค์รัตนโกสินทร์ ที่วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ที่สร้างสรรค์จากปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นเพื่อสักการะพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ กับมหาเจดีย์ที่สร้างด้วยศรัทธาในธรรมแห่งพุทธศาสนา ทำให้เกิดศิลปกรรมรูปแบบใหม่ ของพระพุทธปรางค์แบบใหม่ของศิลปะรัตนโกสินทร์ พระปรางค์ใหญ่องค์นี้หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอยู่ด้านหลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อยที่สร้างคราวเดียวกันอยู่ในวัดอรุณราชวราราม ด้วยลักษณะและภูมิสถาปัตยกรรมที่งดงามของศิลปะเฉพาะตัวของกรุงรัตนโกสินทร์แห่งเดียวนี้ ทำให้ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯหรือบางกอกในที่สุด
ปรางค์ทิศรอบปรางค์ประธาน
พระพุทธปรางค์องค์นี้ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ จุดเด่นที่สำคัญคือส่วนยอดขององค์พระปรางค์นั้นมีมงกุฎปิดทองครอบอยู่เหนือ “ยอดนภศูล” อันเป็นนัยแห่งการยอมรับในความเป็นเจ้าฟ้า ของสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ อันมีสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ปรางค์เดิมสมัยอยุธยาของวัดเดิมคือ วัดมะกอกนั้นสูงเพียง 8 วา ในสมัยกรุงธนบุรีได้ทำให้วัดนี้อยู่ในเขตพระราชวังเดิม จึงทำให้สถานะของวัดได้กลายเป็นวัดประจำพระราชวังเหมือนวัดพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อมีการสถาปนาพระนครใหม่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาองค์ปรางค์ให้สูงใหญ่สมเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทำได้เพียงวางฐานรากโดยกำหนดพื้นที่เตรียมขุดรากก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯทำการปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวรารามเป็นการใหญ่เพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างองค์พระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์สูงถึง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว หรือประมาณ 67 เมตร แล้วยกยอดนภศูล แต่ยังไม่ทันฉลองพระปรางค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีรับสั่งให้จัดการต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด ลักษณะปรางค์ใหญ่ที่รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์นั้นมีรูปแบบให้พระปรางค์ใหญ่อยู่กลางพระวิหารคด และเก๋งจีน 3 ด้าน องค์พระปรางค์ใหญ่นั้นก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อย่างประณีตบรรจงด้วยลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ สวยงาม สำหรับยอดพระปรางค์ นั้นตามแบบแผนโบราณแล้วต้องสร้าง “ยอดนภศูล” แต่ปรางค์องค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำมงกุฎปิดทอง ของพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดนางนอง มาสวมครอบต่อจากยอดนภศูลอีกชั้นหนึ่ง สมัยนั้นจึงโจษจันกันว่า รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์ให้คนทั้งหลายเข้าใจโดยนัยว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ จะเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ การปฏิสังขรณ์ในรัชกาลต่อมานั้นยังรักษารูปแบบและใช้วัสดุตกแต่งอย่างเดิมทุกประการ โดยเฉพาะองค์พระปรางค์นั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายงดงามไม่แตกต่างกัน นับเป็นพุทธปรางค์แห่งสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ที่โดดเด่นจากภูมิปัญญาช่างไทยโดยแท้
ปรางค์ประธานที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 2 ผู้สถาปนาพระปรางค์
กระเบื้องเคลือบที่นำมาตกแต่งเป็นดอกไม้
รูปกินรีในสมัยรัชกาลที่ 5
รูปพระนารายณ์ทรงช้างในซุ้มปรางค์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี