วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
มีนํ้า มีชีวิต มีความผาสุก มีกิน มีใช้

มีนํ้า มีชีวิต มีความผาสุก มีกิน มีใช้

วันเสาร์ ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กระทรวงศึกษาธิการ
  •  

หากเราดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เราจะมีความสุข และเราจะมีกินมีใช้ตลอดไป บ้านเมืองของเราจะมีความสุขด้วย เพราะเราสามารถปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ มีของกินตลอดปี และมีรายได้ตลอดปี เมื่อเรามีแหล่งน้ำใช้ในครัวเรือนและชุมชน

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงประเด็นธนาคารน้ำใต้ดินกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินไทย


l กราบเรียนถามคุณหญิงครับ ทราบว่าล่าสุดดอกผลของหลักสูตรชลกรได้ปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว โดยมีการลงนามใน MOU (บันทึกความเข้าใจ) กับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้สำเร็จหลักสูตรนี้ไปฝึกงาน ขอความกรุณาคุณหญิงเล่าเรื่องนี้ให้ฟังด้วยครับ 

คุณหญิงกัลยา : ก่อนอื่นต้องขอบคุณมากที่รายการนี้ติดตามความคืบหน้าของหลักสูตรชลกรมาอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้สาธารณชนได้เห็นถึงความสำคัญของหลักสูตร สำหรับการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เราทำกับหลายหน่วยงาน ทั้งของรัฐและเอกชน โดยทำกันที่มาบตาพุด ระยอง หลักสูตรชลกรคือการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่สอนในระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเน้นหนักในวิชาทั้ง 6 สาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ เรื่องฝน เรื่องดิน เช่น ความรู้ ด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ น้ำผิวดินน้ำฝน น้ำใต้ดิน การบริหารจัดการน้ำเสีย และศาสตร์พระราชา ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้จะมีความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ และสามารถนำความรู้ไปบริหารเรื่องน้ำให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ แม้กระทั่งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำงานด้านน้ำในประเทศไทย นอกจากทำงานให้กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว ผู้สำเร็จการศึกษายังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อทำงานของตัวเองในสวนในฟาร์ม ในไร่นาได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนสำเร็จแล้วจะมีความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา และรู้ว่าควรปลูกพืชชนิดใดในฤดูใด และสามารถจัดการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ในที่ต่างๆ ทั้งระบบบ่อเปิด และบ่อปิด ชลกรหมายถึงบุคคลที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และบริหารจัดการน้ำใต้ดินได้เป็นอย่างดีด้วย การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจและต้องการผู้สำเร็จการศึกษาด้านชลกรไปร่วมงานในหน่วยงานของเขา

l สิ่งหนึ่งที่ผมประจักษ์คือเมืองอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังมีพื้นที่การเกษตรอีกพอสมควร วันนี้ได้ไปชมการปลูกมะม่วงบนที่ดินทราย แต่เดิมเรามักเข้าใจว่าที่เป็นทรายปลูกพืชได้ยาก ยกเว้นปลูกตะบองเพชร แต่ปรากฏว่ามีมะม่วงรสชาติดีมากที่มาบตาพุด ชาวสวนมะม่วงบอกว่า เขาทำสวนได้ดี เพราะมีระบบน้ำใต้ดินแบบบ่อปิด และได้ความรู้นี้มาจากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน คุณหญิงโปรดกรุณาอธิบายเรื่องนี้ให้ทราบด้วยครับ

คุณหญิงกัลยา : เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดกับการทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะช่วยให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินนี้ นักศึกษาหลักสูตรชลกรต้องเรียนรู้ด้วย เราเน้นให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่อง ทำที่ให้น้ำอยู่ หาที่ให้น้ำไหล และการเก็บรักษาน้ำไว้ใต้ดิน สิ่งเหล่านี้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรามาโดยตลอด เพราะเมื่อเราสามารถเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ได้ โดยเฉพาะเก็บไว้ใต้ดินจะทำให้เกิดความชุ่มชื้น สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี คุณเฉลิมชัยคงได้ทราบจากปากคำของเจ้าของสวนมะม่วงแล้วใช่ไหมว่า แต่ก่อนนั้น เมื่อถึงหน้าแล้ง มะม่วงที่ขาดน้ำนานๆ จะยืนต้นตาย แต่เมื่อทำธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็หมดไปที่สำคัญคือมะม่วงให้ผลดกมาก ผลโตสมบูรณ์อีกด้วย ธนาคารน้ำใต้ดินช่วยแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ในพื้นที่ใดก็ตามที่ทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ถูกหลักการ จะเก็บรักษาน้ำไว้ได้จนหมดหน้าฝน แล้วเมื่อหน้าฝนใหม่มาถึง ก็มีการเติมน้ำลงไปอีก เมื่อมีน้ำหล่อเลี้ยง พื้นดินก็อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ต้นไร่ก็งอกงามให้ดอกให้ผลดี ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงมีวิธีพัฒนาพื้นดินที่แห้งแล้ง หรือดินเสื่อมโทรมหลายกรรมวิธี เช่น แกล้งดิน และทำบ่อขนมครก ทำแก้มลิงและทำฝายทดน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น ด้วยแนวพระราชดำริต่างๆ ที่พระราชทานไว้นั้น ล้วนทำให้พื้นดินของประเทศไทยกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พระองค์ท่านทรงเน้นเรื่องประหยัด ทรงต้องการให้ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้เงินทุนมากมายเกินกำลัง สำหรับธนาคารน้ำใต้ดินนั้นชาวบ้านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ลงทุนน้อยใช้เงินไม่กี่ร้อยบาทก็ได้ธนาคารน้ำใต้ดินแล้วพื้นที่ใดที่มีธนาคารน้ำใต้ดินมากเพียงพอ จะมีความเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์ตามมา สามารถปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับกินและขายได้ตลอดปี หากมีน้ำมากเพียงพอก็สามารถปลูกพืชยืนต้นชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย ทำให้ได้ดอก ได้ผลไว้กินและขาย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้พ้นความยากจนได้ ธนาคารน้ำใต้ดินแบบระบบปิดมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ขุดดินลงไปลึกและกว้างหนึ่งเมตรแล้วนำท่อน้ำเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้วใส่ไว้ด้วย โดยให้ปลายท่อด้านหนึ่งโผล่พ้นปากบ่อประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพื่อให้เป็นท่อสำหรับช่วยหายใจ และเพื่อเติมน้ำลงไปในหน้าแล้ง แล้วใส่วัสดุที่ไม่ย่อยสลายโดยง่ายไว้ชั้นใต้สุด แล้วนำพวกกิ่งไม้ขนาดใหญ่ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ เสาไม้ที่ใช้การไม่ได้แล้วใส่ในชั้นที่สูงขึ้นมา แล้วในชั้นที่อยู่ใกล้กับปากหลุมก็นำแผ่นตะแกรงตาถี่ๆ ปิดไว้ แล้วนำหินก้อนใหญ่วางลงไป แล้วใช้ดิน ทราย และแกลบ รวมถึงขี้เถ้าโรยปิดหน้าไว้ จากนั้นก็ปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณปากหลุม และบริเวณรอบๆ รับรองว่าจะได้เห็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้นอย่างงอกงาม เพราะมีความชุ่มชื้นจากน้ำในบ่อปิดหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ขอแนะนำให้ทำบ่อปิดถี่พอสมควรเพื่อให้มีความชุ่มชื่นมากขึ้น และเก็บน้ำได้มากขึ้นเมื่อใต้ดินมีความชุ่มชื่นพอเหมาะ น้ำก็จะแผ่ซึมไปรอบๆ บริเวณตามแรงโน้มถ่วงของโลก และตามน้ำหนักของน้ำ รับรองว่าในบริเวณที่มีธนาคารน้ำใต้ดินที่มีจำนวนมากพอสมควร จะมีความเขียวขจีตลอดปี มีผักผลไม้ให้รับประทานตลอดปี เลี้ยงเป็ดไก่หรือเลี้ยงปลาได้ด้วย อันที่จริงบ้านเมืองของเราไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ขาดแคลนผู้บริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธีมากกว่า เรามีน้ำฝนมากมาย แต่เราไม่สามารถเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้ เมื่อหน้าฝนมาถึงแล้วเราเก็บน้ำฝนไม่ได้ ก็ทำให้เราไม่มีน้ำใช้เมื่อฝนจากไป สมมุติว่ามีฝน 100 หยด เราเก็บได้เพียง 5.5 หยดเท่านั้น ที่เหลือน้ำไหลทิ้งไปเปล่าๆ แต่เมื่อเราหาที่ให้น้ำอยู่ ความชุ่มชื่นก็ตามทันที ตัวอย่างเหล่านี้มีให้เห็นชัดเจนเมื่อเราทำธนาคารน้ำ ในภาคอีสานที่คนบ่นว่าแห้งแล้ง ก็แก้ปัญหาแล้งได้ด้วยธนาคารน้ำ ในภาคตะวันออกอย่างมาบตาพุดที่มีพื้นทราย ก็แก้ปัญหาได้ด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน เราได้เห็นแล้วว่าเมื่อมีน้ำ ผลผลิตการเกษตรก็อุดมสมบูรณ์ ชาวสวนมะม่วงบอกว่ามะม่วงของสวนที่มาบตาพุดมีรสชาติดี เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ นำไปประกวดในงานเกษตรแฟร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้รางวัลที่สองกลับมา นี่คือความภูมิใจที่ชาวบ้านบอกให้นักข่าวและบอกให้เราได้รับทราบ เราก็ดีใจไปกับชาวบ้านด้วย

l ทุกครั้งที่แนวหน้านำเสนอเรื่องชลกร ก็จะมีคำถามจากผู้ปกครองนักเรียนถามเข้ามาเสมอๆ ว่า จะให้ลูกหลานไปเรียนชลกรได้ที่ไหนครับ ซึ่งคุณหญิงได้กรุณาตอบเรื่องนี้ทุกครั้ง วันนี้จะขอความกรุณาให้ช่วยย้ำอีกสักครั้งครับ

คุณหญิงกัลยา : ต้องขอบคุณที่ผู้ปกครองและนักเรียนสนใจกันมาก ขณะนี้มีเปิดสอนประมาณ 10 แห่งค่ะ เริ่มแรกเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เราทำโครงการริเริ่มไว้เพียง 5 แห่ง แต่เมื่อมีผู้สนใจเรียนมากขึ้น เราจึงขยายเป็น 10 แห่งแล้วค่ะ นักเรียนสามารถไปสมัครเรียนได้ที่วิทยาลัยเกษตรฯ หลักสูตร 2 ปี เรียนระดับ ปวส. หลักสูตรชลกรอยู่ภายใต้สาขาเครื่องกลเกษตร เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่เรียนชลกรก็จะได้รับความรู้ด้านการเกษตรอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำความรู้ที่ได้ไปทำงานเมื่อจบหลักสูตร เนื้อหาสาระของหลักสูตรนี้ เราได้นำความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ไว้ด้วย โดยการที่เราไปดูงานที่สหรัฐฯ แล้วนำความรู้ที่ได้มาใส่ในหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนได้มีพื้นความรู้แน่นขึ้น และได้มาตรฐานสากล เราเน้นการเรียนในห้องเรียนผสมกับการเรียนรู้ของจริงจากการลงมือทำงานในพื้นที่จริง การที่เราลงนาม MOU วันนี้ก็เพื่อให้นักเรียนชลกรได้ฝึกงานจริง เรียนรู้ของจริงในพื้นที่ต่างๆ เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ก็ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานจริงๆ ได้โดยง่าย เพราะปัญหาเรื่องน้ำในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องศึกษาปัญหาของทุกพื้นที่ให้ครอบคลุมมากที่สุด ผู้สำเร็จหลักสูตรชลกรรุ่นแรกมีจำนวน 245 คน เท่านั้น ในอนาคตจะผลิตได้มากขึ้นตามลำดับ

l ผมได้สนทนากับชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคอีสาน เขาบอกตรงกันว่าเมื่อชุมชนที่เขาอยู่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เขาก็ไม่ต้องทิ้งบ้านเรือนไปทำงานที่อื่น เขาสามารถอยู่บ้านได้ทั้งปี เพราะปลูกพืชได้ เลี้ยงสัตว์ได้ มีของกินตลอดปี มีรายได้ตลอดปีด้วย ฟังแล้วทำให้รู้สึกได้ว่ามีน้ำมีชีวิตจริงๆ ครับ คุณหญิงมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรครับ

คุณหญิงกัลยา : ประเทศไทยของเรา เป็นประเทศเกษตรกรรม บรรพบุรุษของเราทำการเกษตรมาก่อน คนส่วนใหญ่เกินครึ่งคือเกษตรกร แต่ปัญหาคือเกษตรกรของเรายังยากจน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยคือหนึ่งในหกประเทศของโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกมายาวนาน คำถามคือทำไมเกษตรกรไทยจึงยากจน เพราะเขาขาดแคลนน้ำใช่หรือไม่แต่ตามข้อเท็จจริงที่พบคือ ในหมู่บ้านที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถสร้างแหล่งน้ำของตนเองได้ หมู่บ้านเหล่านั้นไม่ประสบปัญหาความยากจน แม้จะไม่รวยแต่ก็มีกินมีใช้ตลอดปี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีความสุขในครอบครัวตามอัตภาพ มีน้ำก็มีชีวิตจริงๆ นะคะหน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วมบ้าน เพราะมีที่กักเก็บน้ำหน้าแล้งก็ไม่แล้งน้ำ เพราะมีธนาคารน้ำใต้ดิน นี่คือการแก้ปัญหาน้ำโดยการบริหารจัดการโดยคนในชุมชน เมื่อชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้เพื่ออุปโภค-บริโภคได้ดีทำการเกษตรได้ดี ก็มีรายได้ตลอดปี คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดิฉันมั่นใจและยืนยันได้ว่า การดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ทำตามแนวพระราชดำริ คือการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทุกคนจะมีความสุขในชุมชนมีบ้านที่อบอุ่น ครอบครัวไม่แตกแยก ผู้คนในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าและมีความสุข ดิฉันมีตัวอย่างเล่าให้ฟังคือ มีคุณป้าคนหนึ่งอาศัยในจังหวัดภาคอีสาน เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้น ประสบปัญหาน้ำท่วมใต้ถุนบ้านทุกปีในช่วงหน้าฝน เพราะบ้านอยู่ในแอ่ง แต่เมื่อทำธนาคารน้ำใต้ดินหลายบ่อ รอบๆ บริเวณบ้าน ก็ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างดีป้าเล่าให้ฟังว่า คนในบ้านช่วยกันทำธนาคารน้ำใต้ดินขนาด 1 คูณ 1 เมตร หลายหลุม ขุดด้วยแรงคนในบ้าน ทำไปวันละเล็กละน้อย ไม่ได้ใช้ทุนใช้รอนมากนัก ใช้แรงงานคนในบ้านเท่านั้น เมื่อมีธนาคารน้ำใต้ดินมากพอ ปัญหาน้ำท่วมก็ทุเลาลงไป ถึงหน้าฝนก็ไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังนานๆ ครั้นหน้าแล้ง ก็มีแหล่งน้ำให้ความชุ่มชื้นกับบริเวณบ้าน ทำให้ปลูกผักสวนครัว และไม้ยืนต้นได้ดี ให้ผลผลิตดี มีกินมีใช้ตลอดปี เมื่อพูดถึงธนาคารน้ำใต้ดิน ก็ต้องบอกว่ามีสองประเภทคือ แบบปิดที่เราพูดกันตลอดเวลาคือ บ่อปิดที่มีขนาด1 คูณ 1 เมตร และอีกชนิดคือ แบบบ่อเปิด คือบ่อขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากสำหรับขุดบ่อ ยิ่งเป็นบ่อขนาดใหญ่มากๆ ก็ต้องใช้เงินทุนมาก ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะลำพังชาวบ้านไม่มีความสามารถทำบ่อเปิดขนาดใหญ่ เช่น 100 เมตร คูณ 60 เมตรได้ แล้วถ้ายิ่งขุดลงไปลึกๆ ประมาณ 7 เมตร นี่ต้องใช้เครื่องจักรกลหนักขนาดใหญ่เข้าไปทำงาน แต่สำหรับบ่อเปิดขนาดใหญ่ เช่น ขนาดใหญ่เป็นไร่ หรือมากกว่าไร่นั้น หากขุดตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ศึกษาชั้นดิน ชั้นหินให้ถี่ถ้วนตามหลักธรณีวิทยา เมื่อขุดลึกลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ รับรองว่าจะทำให้บ่อแห่งนั้นมีน้ำใช้ตลอดปี ตลอดฤดูฝน หมดฝนปีนี้ ก็ยังมีน้ำใช้จนถึงฤดูฝนใหม่ บ่อเปิดขนาดใหญ่เช่นนี้ช่วยให้ความชุ่มชื้นเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณกว้างมาก บางทีห่างไปตั้งมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร พื้นที่ในบริเวณเหล่านั้นก็ยังมีความชุ่มชื้นกระจายไปถึง การขุดบ่อเปิดขนาดใหญ่ต้องขุดให้ผ่านชั้นดินเหนียว แล้วต้องเจาะสะดือให้ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ หรือชั้นอันคอนฟาย แอคคอเฟอร์ (unconfined aquifer) ทั้งนี้น้ำบาดาลจะอยู่ในชั้นหินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ คุณสมบัติสำคัญที่สุดของชั้นหินอุ้มน้ำคือจะเก็บน้ำไว้จนอิ่มตัว แล้วไหลซึมไปตามช่องว่างหรือโพรงหิน เม็ดตะกอนต่างๆ หรือรอยแตกของหิน น้ำบาดาลจึงไหลเวียนถึงกันได้สะดวก ในดินชั้นนี้น้ำใต้ดินจะกระจายไปได้ไกลหลายสิบกิโลเมตร ตามแรงโน้มถ่วงของโลก และตามแรงที่โลกหมุนรอบตัวเอง และเป็นไปตามน้ำหนักของน้ำ ทั้งสามปัจจัยนี้จะช่วยให้ธนาคารน้ำใต้ดินมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นหากเราขุดบ่อทำธนาคารน้ำแบบเปิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว จะมีน้ำใช้ตลอดปีอย่างแน่นอน และทำให้บริเวณใกล้เคียงได้รับความชุ่มชื้นตามไปด้วย

l กราบเรียนถามคุณหญิงเป็นประเด็นสุดท้าย มีคำถามฝากมาจากผู้สนใจความรู้ด้านชลกรคือ หากต้องการเข้ารับการอบรมแต่ไม่ต้องการได้ประกาศนียบัตร เพราะต้องการนำความรู้ไปใช้เพื่อทำการเกษตรในที่ดินของตนเอง จะขอรับการอบรมได้ที่ไหนบ้างครับ

คุณหญิงกัลยา : เป็นคำถามที่ดีมากค่ะ และขอชื่นชนกับผู้สนใจหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ ตอบได้ทันทีว่ากระทรวงศึกษาฯ เตรียมหลักสูตรอบรมแบบคอร์สสั้นๆ ไว้ให้ประชาชนผู้สนใจ ขอให้ติดต่อสอบถามได้ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมฯ ทุกแห่งได้ค่ะ มีหลักสูตรอบรมหลายแบบที่เหมาะสมกับผู้สนใจ เช่นหลักสูตรแบบ 2-3 เดือน เป็นต้น ขอเรียนว่าหากต้องการได้ความรู้ด้านชลกร และด้านการเกษตรอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศค่ะ เรามาช่วยกันทำธนาคารน้ำใต้ดินให้กระจายไปทั่วๆ ที่หนแห่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อทำให้ประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำหล่อเลี้ยงอย่างทั่วถึงนะคะ เพราะเมื่อเรามีน้ำ เราก็มีชีวิต และมีความผาสุกตามอัตภาพ 

คุณจะได้ชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ศธ. พร้อมหนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เตรียมเปิดตัวระบบธนาคารหน่วยกิตเทียบโอนผลการเรียนรู้ พ.ค. นี้ ศธ. พร้อมหนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เตรียมเปิดตัวระบบธนาคารหน่วยกิตเทียบโอนผลการเรียนรู้ พ.ค. นี้
  •  

Breaking News

เยียวยาจิตใจจากไฟสงคราม! ‘David’s Circle’พื้นที่ฟื้นฟูของชาวอิสราเอลในไทย

ปักหมุด 13 พ.ค.นี้ ‘เพื่อไทย’เปิดตัวโครงการใหม่‘Pheu Thai YPP’

ผบ.ตร.สั่งฟันเด็ดขาด! เหตุทำร้าย'ตำรวจ'ภายในหน่วยเลือกตั้ง จ.สงขลา

เช็คผลที่นี่!!! 'เลือกตั้งเทศบาล'ส่วนใหญ่แชมป์เก่าคว้าชัย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved