เราต้องเข้าใจให้ได้ว่าทำไมเด็กวัยรุ่นจึงไม่พอใจ ไม่เข้าใจพ่อแม่ เป็นเพราะพ่อแม่ให้ความรักเขาน้อยไป หรือว่าไม่เคยทำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่รักลูกหรือเปล่า
ไลฟ์ วาไรตี โดย ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณๆ ไปสนทนากับ แพทย์หญิงจักจิตรกอร์ สัจจเดว์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
l คุณหมอวิเคราะห์สิ่งที่สังคมไทยมองว่าปัจจุบันมีปัญหาลูกๆ ไม่เข้าใจพ่อแม่ และมองว่าเด็กๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างไรบ้างครับ
พญ.จักจิตรกอร์ : ปัญหาที่ว่านั้นคือปัญหาของคนต่างวัย เมื่อมองว่าเป็นเรื่องของคนต่างวัย อย่างไรก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ปัญหาจึงไม่ถูกแก้ไข แต่จริงๆ แล้วเราทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน เด็กจำนวนไม่น้อยก็มองว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจตัวลูก นี่คือปัญหาในทุกยุคที่คนต่าง Generation ประสบ หมอเห็นว่าเราทุกฝ่ายต้องมองในมุมที่ว่า อะไรทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ดูแลลูกได้ไม่ดีเหมือนที่ลูกต้องการ หากจะมองว่าเด็กๆ เรียกร้องมากเกินไป ก็ต้องมองอีกว่า พ่อแม่ทำอะไรให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้ตามสิ่งที่ต้องการหรือไม่ ต้องดูอีกว่าพ่อแม่เคยแสดงให้ลูกเห็นหรือเข้าใจไหมว่าพ่อแม่รักลูกจริงๆ แม้พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่หลายครอบครัวไม่เคยแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่รักเขา การแสดงความรักให้ลูกๆ สัมผัสได้มีหลากหลายรูปแบบ ต่างๆ กันไป บางบ้านไม่เคยบอกรักลูก แต่ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักมาก บางบ้านใช้การกอดลูกเป็นประจำ เพื่อแสดงความรักลูก บางบ้านตามใจลูกมาก ลูกอยากได้อะไรก็หาให้ทุกสิ่งอย่าง บางบ้านมีกฎกติกามีเงื่อนไข แต่ไม่บอกลูกว่าเพราะอะไร ทำให้ลูกไม่เข้าใจ แล้วคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก สังคมไทยเคยมีคำพูดว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่ตีด้วยความรักตีแล้วสั่งสอนให้รู้ว่าตีเพราะอะไร ไม่ใช่ตีเพราะแสดงออกด้วยอารมณ์ ด้วยความรุนแรง เด็กจะไม่เข้าใจว่าเราตีเขาเพราะอะไร เมื่อเขาเห็นว่าพ่อแม่ใช้ความรุนแรงกับเขา เขาก็จะเข้าใจว่าเขาใช้ความรุนแรงกับคนอื่นได้เมื่อเขาโตขึ้น การอบรมสั่งสอนลูกด้วยความรักความเข้าใจ ทำให้ลูกรู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่พ่อแม่ต้องทำโทษ ลูกจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะไม่ทำผิดอีก แต่การตี ใช้ความรุนแรงโดยไม่บอกเหตุผล ทำให้เด็กสัมผัสความรุนแรง แล้วเขาอาจจะคิดว่าทำไมต้องรุนแรงกับเขา เขาไม่ได้ขอมาเกิดในบ้านนี้นะ ทำให้เขาเกิดมาแล้ว ทำไมต้องใช้ความรุนแรงกับเขา ส่วนการกอดแสดงความรักนั้นทำให้เด็กสัมผัสถึงความอบอุ่นจากพ่อแม่ได้ เรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูก เป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจว่ารักและหวังดีกับลูก ไม่ใช่จ้องจับผิดหาเรื่องลงโทษลูก การสื่อสารกันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องสื่อสารกันให้เข้าใจทุกฝ่าย ต้องให้เหตุผลของการกอดลูกได้ว่าเพราะอะไร และต้องให้เหตุผลได้ด้วยว่าทำโทษเพราะว่าอะไร พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเมื่อลูกยังเป็นเด็กมากๆ เขายังไม่ได้พบเจอโลกภายนอก ยังไม่ไปโรงเรียน ยังไม่มีเพื่อนที่โรงเรียน เด็กๆ มักจะทำตามที่พ่อแม่บอกโดยง่าย แต่เมื่อเขาโตขึ้น ยิ่งเป็นวัยรุ่น เด็กจะมีความเห็นของตัวเองมากขึ้น เขาอาจจะแสดงปฏิกิริยาที่พ่อแม่มองเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ดี ก็ต้องบอกเขา ต้องอบรมเขา และต้องให้เหตุผลเขาให้ได้ อย่าใช้การสั่ง การห้ามโดยไม่บอกเหตุผล เพราะวัยรุ่นมักจะมองว่าเขาทำถูก และเขาทำตามเพื่อนๆ ของเขา พ่อแม่ต้องใจเย็นและต้องคุยกับลูกในช่วงวัยรุ่นด้วยความรักและเหตุผล พอแม่ต้องถามลูกว่า ทำพฤติกรรมแบบนั้นเพราะอะไร ให้ลูกคิดด้วยตัวเองว่า เหมาะสมไหม เป็นอันตรายต่อตัวของลูกหรือไม่ เป็นอันตรายต่อคนอื่นหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องฝึกให้ลูกคิดแล้วตอบพ่อแม่
l ผมเคยเห็นบางบ้าน ลูกติดพ่อแม่มาก เรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ยังต้องให้พ่อแม่ขับรถไปรับไปส่งเวลาไปเรียน ไม่ไปเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่บางบ้านก็สอนให้ลูกดูแลตัวเองให้ได้ตามวัย ไม่โอ๋มากเกินไป แต่ให้รับผิดชอบตัวเอง คุณหมอมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไรครับ
พญ.จักจิตรกอร์ : เป็นเรื่องของบางบ้านจริงๆ ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูลูกของแต่ละบ้าน เด็กที่พ่อแม่ขับรถไปส่งเรียนเขาพอใจจริงๆ หรือไม่ ก็ต้องไปศึกษาให้ลึกด้วย ส่วนเด็กที่ต้องไปเรียนเอง ก็อาจจะอยากให้พ่อแม่ขับรถไปส่งก็ได้ เราต้องคุยกับเขาเป็นรายๆ ไปเด็กวัยรุ่นแต่ละคนจากแต่ละครอบครัวอาจจะคิดในเรื่องเดียวกันต่างกัน แล้วแต่การอบรมเลี้ยงดูค่ะ แต่ละครอบครัวมีวิธีการเลี้ยงดูต่างกัน ประกอบกับสมัยนี้พ่อแม่มีลูกน้อย ผิดกับยุค 50-60 ปีก่อนที่พ่อแม่มีลูกมาก ครอบครัวที่มีลูกน้อย ก็ประคบประหงมลูกมากทุ่มเททุกอย่างให้ลูก ต้องการให้ลูกมีอนาคตที่ดีที่สุด พ่อแม่ยุคนี้มักบอกว่าทำงานหนักมากเพื่ออนาคตของลูก แต่ก็ลืมมองว่าบางครั้งให้เวลา ให้ความรักกับลูกไม่เพียงพอหรือไม่ การที่เด็กเติบโตเป็นคนที่มีวุฒิภาวะนั้น มีองค์ประกอบมากมาย แต่องค์ประกอบแรกต้องมาจากครอบครัวก่อน แล้วตามมาด้วยสังคมรอบๆ ตัวเด็ก กลับไปที่เรื่องการไปรับ-ส่งลูกที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 3ก็ต้องดูอีกว่าไปรับ-ส่งเพราะเหตุผลอะไร หากจำเป็นต้องรับ-ส่งก็เข้าใจได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าลูกต้องเติบโตขึ้น ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ และพ่อแม่คงไม่ได้อยู่ดูแลลูกตลอดชีวิต ดังนั้นต้องเตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับสภาพการณ์ต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนไปทุกขณะ ต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างดี เอาตัวรอดได้ และไม่เป็นภาระต่อสังคม หมอเข้าใจว่าพ่อแม่เป็นห่วงลูก จึงไปรับไปส่ง เพราะทุกวันนี้มีแต่ข่าวร้ายๆ ปรากฏตลอดเวลา เลยทำให้พ่อแม่เป็นห่วงลูกมาก แต่ก็ต้องย้ำว่าพ่อแม่ต้องอบรมสั่งสอนและเตรียมให้ลูกอยู่ในสังคมให้ได้ ต้องรู้ว่าสังคมมีทั้งความดีและไม่ดี ต้องไม่นำตัวเข้าไปอยู่ในสภาวะเสี่ยงหรือเป็นอันตราย ต้องสอนลูกให้รู้รักษาตัวรอดให้ได้ และต้องดูพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยด้วย เช่น เด็กชั้นประถมกับเด็กมัธยมก็จะมีความต่างกันในเรื่องพฤติกรรมและความเชื่อ ยิ่งพ่อแม่เห็นว่ายุคนี้มีสิ่งยั่วยุมอมเมาให้ลูกๆ เดินทางผิดได้ง่าย ก็ยิ่งต้องอบรมสั่งสอนลูกให้เข้าใจว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ยิ่งยุคนี้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถเข้าไปดูสิ่งต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีได้ตลอดเวลา พ่อแม่ยิ่งต้องให้ความรู้กับลูกในเรื่องการใช้สื่อ ให้เหมาะสมและปลอดภัย ยุคนี้สื่อต่างๆ เข้าถึงตัวลูกได้แม้กระทั่งในห้องนอน และทุกสถานที่ที่ลูกสามารถเชื่อต่อกับอินเตอร์เนตได้ หากเลือกเสพสื่อดีก็ยังไม่น่าวิตก แต่หากเสพสื่อ เลวร้าย นี่คือความกังวลของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
l พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกให้มีพัฒนาการสมวัยอย่างไรครับคุณหมอ
พญ.จักจิตรกอร์ : เด็กมีพัฒนาการไปตามวัยดังนั้นการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตไปตามพัฒนาการของวัยต่างๆ จึงจำเป็นมาก ในเด็กแต่ละวัยเขาจะเติบโตไปตามช่วงวัย เช่น เด็กแรกคลอดจะชอบให้พ่อแม่อุ้มกอดสัมผัสมาก เพราะทำให้เขาอบอุ่นมั่นใจว่าปลอดภัย แต่ในสมัยก่อนนั้น บางบ้านก็บอกว่าอย่าอุ้มเด็กทารกตลอดเวลา เพราะเกรงว่าเด็กจะติดมือพ่อแม่ แล้ววางลงไม่ได้เลย แต่เด็กทารกต้องการความอบอุ่นและความรู้สึกปลอดภัย จึงต้องให้เขาได้รับการสัมผัสจากพ่อแม่มากๆ เมื่อเด็กโตขึ้นอยู่ในวัยเตาะแตะ พ่อแม่ก็ต้องสอนเขาให้รู้ว่าอะไรอันตรายต่อเขา แต่ไม่ใช่ห้ามไปทุกสิ่ง การห้ามทุกเรื่องทำให้เด็กสับสนว่าจะทำอะไรได้บ้าง จับอะไรก็ถูกห้าม แตะอะไรก็ถูกห้าม เด็กจะงงว่าทำไมจับต้องอะไรไม่ได้เลย เขาจะไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรจับ การห้ามทุกเรื่องเป็นสิ่งบั่นทอนพัฒนาการของเด็ก ห้ามได้แต่ต้องบอกเหตุผลและอะไรที่คิดว่าต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ต้องให้เขาทดลองดูบ้าง พ่อแม่บางคนเมื่อลูกเล็กๆ หกล้ม ก็ตีพื้น เหมือนว่าพื้นทำให้ลูกเจ็บ นั่นคือการสอนที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะดูเหมือนว่าปกป้องลูกมากเกินไป การเลี้ยงดูเด็กแต่ละวัยต้องเรียนรู้พัฒนาการของเด็กด้วย การปกป้องมากเกินไปก็ไม่ดี ละเลยมากไปก็ไม่ดีเช่นกัน เด็กแต่ละคนมีความต่างกัน เราต้องศึกษาเขาให้ดีด้วย การชมเด็กก็ต้องชมให้พอดี พ่อแม่มักบอกให้ลูกเรียนให้เก่งๆ เขียนหนังสือให้สวย โดยทำให้เด็กเข้าใจว่านั่นคือการเป็นคนดีในวัยเด็ก เมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่นก็บอกว่าต้องเรียนให้เก่งอีก เพื่อจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ได้ จะได้มีอนาคตดีๆ เรื่องการสอนเด็กให้เข้าใจนั้น ต้องสอนและบอกเหตุผลด้วย ต้องคุยกับลูกให้มาก ให้เขาแสดงความเห็นด้วยว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะอะไร มีปัญหาอะไรที่โรงเรียนบ้างหรือไม่ คำว่าเด็กสมัยนี้กับเด็กสมัยก่อนก็เป็นอีกคำที่บ่งบอกว่ามีการแบ่งยุคสมัย ซึ่งมันก็เป็นความจริงว่าเด็กสมัยปัจจุบันมีวิถีชีวิตต่างไปจากเด็กสมัย 40-50 ปีก่อน เพราะเทคโนโลยีในยุคนี้มีมากและทันสมัยมากกว่าสมัยก่อนหลายเท่า เราปิดกั้นเด็กยุคนี้ให้ห่างไกลจากเทคโนโลยียาก เราต้องให้เขาเข้าใจผลดีและผลร้ายของเทคโนโลยี แล้วให้เขาคิดด้วยตัวเขาเองว่าจะใช้แค่ไหนจึงจะพอดีสำหรับเขา เด็กบางคนอยู่กับคุณยาย คุณป้า ก็มีปัญหาด้านการเข้าใจเทคโนโลยีระหว่างคนสองวัย เมื่อเด็กมีปัญหาด้านการใช้เทคโนโลยีจะทำอย่างไรดี เพราะคุณป้า คุณยายก็อาจมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี เรื่องนี้พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญให้มาก แต่ละบ้านจะมีกฎกติกาการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเลตต่างกันไป เราต้องบอกถึงกฎระเบียบของบ้านเราให้ลูกเข้าใจ และบอกว่าเพื่อความปลอดภัยและการมีชีวิตที่ดีของลูกเป็นสำคัญ ไม่ได้ห้ามใช้เพราะหวงแต่เพื่อสุขภาพของลูก
l คุณหมอมองเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยแท็บเลตและโทรศัทพ์มือถือของบางบ้านอย่างไรครับ เพราะบางบ้านปล่อยให้เด็กอยู่กับเท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือทั้งวันจนเด็กไม่ยอมไปไหนเลย
พญ.จักจิตรกอร์ : บางบ้างมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริงๆ เพราะเห็นว่าเมื่อลูกไม่ซน พ่อแม่ก็พอใจ เป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่เอาง่ายเข้าว่า โดยไม่ดูพัฒนาการของเด็ก บางบ้านไม่เล่นไม่คุยกับลูก แต่ปล่อยให้ลูกก้มหน้าดูจอโทรศัพท์ตลอดเวลา เพราะเห็นว่าดี ที่ลูกไม่ซุกซน เลี้ยงดูง่าย แต่การทำเช่นนั้นคือการตัดโอกาสที่ลูกจะมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับคนรอบๆ ข้าง ไม่ได้เล่นกับคนในบ้านไม่ได้เล่นกับของเล่นอื่นๆ ไม่ได้เล่นกับคนข้างบ้านบางบ้านก็เน้นให้ลูกเรียนพิเศษสารพัดวิชา เพราะต้องการให้ลูกเก่งกว่าคนอื่น แต่ลืมไปว่าลูกต้องการเวลาพักผ่อน เวลาเล่นสนุก พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่บังคับลูกจนลูกไม่มีความสุขในการที่ต้องทำตามคำสั่งทุกอย่าง บางบ้านถูกลูกถามว่าทำไมบ้านนั้นลูกนอนดึกได้ ทำไมหนูทำไม่ได้ พ่อแม่ต้องให้เหตุผลที่ดีกับลูกได้ ว่าทุกบ้านจะมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน เราจะทำแบบบ้านอื่นในทุกเรื่องไม่ได้ เช่นการใช้สมาร์ทโฟนก็เช่นกัน ต้องมีเวลาให้ลูกใช้ ไม่ใช่ให้ใช้ตลอดเวลา ต้องให้ลูกมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เข้าใจเรื่องความเหมาะความควรด้วย แล้วต้องทำให้ลูกรู้สึกถึงความอบอุ่น ความรัก และความปลอดภัย เพื่อให้เขาเติบโตแล้วประสบความสำเร็จในชีวิต หมอเน้นเรื่องการสื่อสารกันภายในครอบครัวเป็นสำคัญ เราต้องพูดจากับลูกให้เข้าใจกัน ต้องให้ลูกแสดงความเห็น ความต้องการและถามปัญหาคับข้องใจได้เด็กวัยต่างๆ จะมีพฤติกรรมไปตามวัยของเขา เช่น เด็กเล็กๆ เด็กชั้นประถมจะน่ารักมาก พ่อแม่บอกอะไร ก็ทำตามพ่อแม่บอก แต่เมื่อลูกอยู่ประถมปลาย เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น วัยรุ่นก็จะมีเพื่อนมากขึ้น เชื่อเพื่อน ทำตามเพื่อน เด็กวัยนี้ต้องการมีตัวตนทางสังคม ต้องการให้พ่อแม่รับฟังความเห็น ชอบแสดงออกแล้วให้คนสนใจ วัยรุ่นต้องการความมั่นใจ เพราะฉะนั้น ต้องประคับประคองเขาให้ดี ต้องให้เขาเรียนรู้ว่าเขากำลังทำอะไร และทำแล้วดีหรือไม่ดีสำหรับตัวเขาและสังคม เขาอาจกำลังหาตัวตนของเขาในอนาคต พ่อแม่ต้องเป็นกำลังใจให้เขา ต้องให้เขาได้ทดลองทำด้วยตัวเอง เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก ต้องสอนเขา และต้องทำตัวเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่จับผิดเขาตลอดเวลา หรือมองว่าเขาเด็กจนไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ บางบ้านรักลูกมากเกินไป จนไม่ฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองเลย ให้ลูกทุกอย่างตามที่ลูกอยากได้ แบบนี้หากวันหนึ่งเมื่อลูกไม่ได้ตามต้องการ ลูกอาจคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ลูกอาจคิดว่าเมื่อรักก็ต้องให้ ถ้าไม่ให้ก็คือไม่รัก การสอนลูกให้ช่วยงานบ้านตามสมควร คือการบอกให้ลูกรู้ว่าลูกเป็นคนสำคัญของบ้าน ลูกมีส่วนรับผิดชอบในบ้าน การชมลูกเมื่อลูกช่วยทำงานในบ้าน คือการทำให้ลูกรู้ว่าเขาทำดี ทำให้พ่อแม่มีความสุข และพ่อแม่เห็นเขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในบ้าน เมื่อเราทำให้ลูกภูมิใจเมื่อทำงานบางอย่างในบ้าน ลูกจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเป็นลำดับ
l คุณหมอทำงานด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นมานาน ได้เห็นปัญหามามาก คุณหมอมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรบ้างครับ
พญ.จักจิตรกอร์ : อยากจะแบ่งเป็น 2 ช่วงค่ะคือวัยเรียน วัยเด็กเล็ก เมื่อเด็กไปโรงเรียน ก็จะเจอปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาสมาธิสั้น ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ เรื่องนี้ต้องเข้าใจเด็กด้วยว่า เด็กบางคนไม่มีความพร้อมของกล้ามเนื้อบริเวณมือและนิ้ว เมื่อเขาไม่พร้อม ก็ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ดี เด็กปัจจุบันจำนวนไม่น้อยไม่มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อนิ้วและมือ เพราะไม่เคยได้ถูกฝึกให้กล้ามเนื้อมีพัฒนาการตามวัยเด็กรุ่นนี้ไม่ได้เล่นดินเล่นทราย ไม่ได้เล่นดินน้ำมัน ความพร้อมของกล้ามเนื้อมือและนิ้วจึงไม่สมบูรณ์มากนัก ยิ่งเด็กที่เล่นโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ยิ่งไม่มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อนิ้วและมือ พ่อแม่และครูต้องทำให้เด็กมีพัฒนาการกล้ามเนื้อตามวัยด้วย ประเด็นต่อมาคือการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบๆ ข้าง การเล่นของเด็กที่เล่นด้วยกัน กับการเล่นโทรศัพท์มือถือ แตกต่างกันมาก เพราะเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือมันต่างจากการเล่นกับเพื่อนๆ หรือกับญาติๆ ในบ้าน การเล่นกับคนคือการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ต้องปีนป่าย ห้อยโหนต้องรู้จักทำให้ตัวเองปลอดภัย การถีบจักรยาน การวิ่งคือการออกกำลังกายและต้องใช้ความคิดว่าไปทำอย่างไร จะไปทางไหน เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ส่วนวัยรุ่นก็จะมีปัญหาบางอย่างตามมาคือ การเอาอย่างเพื่อน การติดเพื่อน เมื่อเพื่อนไม่ให้การยอมรับก็จะมีปัญหาน้อยใจ ขาดความมั่นใจ และมีปัญหาซึมเศร้าตามมา บางคนคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง เพื่อนไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มชอบนักร้อง ดาราคนละแบบคนละกลุ่มกัน ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง กลายเป็นคนละกลุ่มกัน เราต้องสอนลูกว่าไม่มีใครผิดใครถูก มันเป็นเรื่องของความชอบของแต่ละคน เราต้องรับความเห็นที่แตกต่างกันได้ เราไม่ต้องคิดหรือเชื่อเหมือนกันทุกคน แต่เราต้องมีเหตุผลของเรา และฟังเหตุผลคนอื่นด้วย เด็กวัยรุ่นต้องการมีพวก แต่การมีพวกมากๆ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องถูกต้องเสมอไป หากพวกในกลุ่มนั้นคิดในเรื่องไม่เหมาะสม หรือทำในเรื่องผิดกฎหมาย เราคิดต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันเราแต่ละคนมีความเก่งไปคนละแบบ เราเก่งแบบหนึ่ง เพื่อนเก่งอีกแบบหนึ่ง เราอยู่ด้วยกันได้ เวลาลูกเจอปัญหาใดๆ เราต้องบอกว่าปัญหาเป็นเรื่องที่คนเราหนี้ไม่พ้น แต่เราต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ แต่บางปัญหาก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับมันให้ได้ การเจอปัญหาคือการฝึกให้เราแก้ปัญหา ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น การเลี้ยงลูกในช่วงลูกเป็นวัยรุ่นนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเขาไม่ใช่เด็กน้อยอีกแล้ว เราต้องคุยกับลูกแบบที่วัยรุ่นเข้าใจได้ดี ต้องเป็นเพื่อนกับลูกมากกว่าเป็นคนคอยจับผิดตลอดเวลา ต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสม ต้องทำให้ลูกไว้วางใจเรา วัยรุ่นคือวันที่เขากำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ต้องให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ เพื่อให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง และพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ ต้องบอกให้ลูกรู้ว่าสังคมมีปัญหาอะไร เราจะอยู่ให้ปลอดภัยอย่างไร เราต้องมีเพื่อน แต่เราจะเลือกคบเพื่อนอย่างไรที่ให้เราเป็นตัวเอง และสามารถคบเพื่อนต่อไปได้ เพราะเราต่างก็มีตัวตนของเรา การพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้าเห็นตามันต่างจากการคุยผ่านออนไลน์ เพราะชีวิตจริงกับออนไลน์มันไม่เหมือนกัน เมื่อพ่อแม่เปิดใจคุยกับลูกได้รับรู้ปัญหาของลูก เปิดโอกาสให้ลูกตั้งคำถามและมีข้อเสนอแนะ ลูกจะเรียนรู้การแก้ปัญหาได้แบบเป็นขั้นเป็นตอน เด็กจะเรียนรู้แล้วผ่านช่วงที่ชีวิตมีปัญหาไปได้เป็นช่วงๆ การสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องไม่บังคับโดยปราศจากเหตุผล ต้องตอบคำถามลูกได้ เมื่อลูกสงสัย อย่าห้ามเขาถาม อย่าบอกว่าการถามคือการเถียง ต้องให้เกียรติลูก เพื่อสอนให้ลูกรู้ว่าถ้าเราให้เกียรติคนอื่น คนอื่นจะให้เกียรติเรา พ่อแม่ลูกครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกและนักเรียนเห็น อย่าพูดอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง เพราะเด็กจะสับสนแล้วไม่เชื่อ เราต้องสอนเขาด้วยความรักและความหวังดี เมื่อลูกทำอะไรให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องบอกลูกว่าชื่นใจ และขอบใจที่ลูกทำให้พ่อแม่ดีใจ หายเหนื่อย และภูมิใจในลูก ทำให้ลูกรู้ว่าเราภาคภูมิใจเมื่อเขาทำสิ่งดีๆ ต้องชมเชยลูกด้วยความจริงใจ อย่าแสดงออกจนลูกเห็นว่าไม่จริงใจ เพราะเขาจะรู้ว่าเขากำลังถูกหลอก แล้วเขาจะไม่อยากทำอีกต่อไป เวลาลูกทำดีต้องชมเชย เมื่อลูกทำผิดต้องสอนและบอกเหตุผลว่าทำไมไม่ควรทำ ทำแล้วจะมีอันตรายอย่างไร อย่านิ่งเฉยเวลาลูกทำความดี ต้องชมให้ลูกภูมิใจ อย่าปล่อยให้เด็กไปอยู่กันเองตามลำพังจนไม่มีใครบอกกล่าวตักเตือนกันได้เพราะเวลาเด็กๆ อยู่กันเองโดยอยู่นอกสายตาผู้ใหญ่ เวลาเด็กทำผิด เด็กก็จะไม่ติติงกันเอง แต่อาจจะยุส่งไปเลยว่าทำดีแล้ว ทำแล้วเด่นดัง อย่าให้ลูกแปลความผิดเมื่อเขาทำผิดแล้วได้รับการยกย่อง แต่ต้องบอกเขาว่าอะไรคือดี อะไรคือไม่ดี โดยให้เหตุผลกับเขา สอนให้เขาคิดไม่ใช่บังคับให้เขาต้องทำ
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี