วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นวันคล้ายวันประสูติครบ ๑๐๒ ปี ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระราชธิดา พระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมีพระอนุชา ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และทรงเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ทรงประสูติประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ก่อนจะได้รับการเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ในสมัยรัชกาลที่ ๘ และในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นับว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในพระองค์แรกและพระองค์เดียวในสมัยรัชกาลที่ ๙
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านเคมีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และทรงมีความเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงแนะนำให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ใช้ความรู้ทางด้านภาษาให้เป็นประโยชน์ ด้วยทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงได้ทรงรับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาต่างประเทศที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์นานถึง ๘ ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศ ทรงดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม ทำให้ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๕๓๒ โดยได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินกองทุนสมเด็จย่าสนับสนุนโครงการ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุก ๆ ครั้ง ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์ ”มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” (สอวน.) ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปี ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน
ทรงสนพระทัยเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จออกเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลกับหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ สอบถามครูถึงแนวทางการเรียนการสอน พระราชทานกำลังใจ คำแนะนำและอุปกรณ์การเรียนการสอน ของเล่นสร้างเสริมสติปัญญาแก่โรงเรียนเหล่านั้น โดยเฉพาะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้วย อีกทั้งยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จาก ”ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว.” ให้แก่โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุขของประชาชนในถิ่นทุรกันดารและบนพื้นที่สูง
นอกจากนี้ ยังทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน
ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันคล้ายวันประสูติ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็น บุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์และด้านวัฒนธรรม
ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงงานสนองสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และงานส่วนพระองค์ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรชาวไทย ในวาระครบรอบ ๑๐๒ ปี วันคล้ายวันประสูติ ขอเชิญปวงพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงพระกรณียกิจในด้านต่างๆ เพื่อความสุขแก่พสกนิกรชาวไทยทั่วไปทุกคน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี