วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับ ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร ทรงเป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระธิดาพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงทุ่มเทพระหทัยและพระวรกายบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านงานการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์โดยมิได้คำนึงถึงความยากลำบากใดๆ ทรงมีความสนพระทัยและทรงทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากลำบากทั่วประเทศในด้านการสาธารณสุข และสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและพลานามัยดีถ้วนหน้า ทรงรับโครงการต่างๆ ของสภากาชาดไทย ไว้ในพระอุปถัมภ์หลายโครงการ รวมทั้งมูลนิธิด้านการแพทย์อีกมากมาย
ทรงมีพระเมตตาต่อผู้ติดเชื้อเอดส์และการดำเนินงานของศูนย์วิจัยโรคเอดส์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงมีพระเมตตาต่อผู้ติดเชื้อเอดส์และต่อการดำเนินงานของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ตั้งแต่ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ในปีพุทธศักราช 2532 จนถึงปัจจุบัน ได้ประทานข้อแนะนำการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เสด็จเป็นประธานในงานเทียนส่องใจในวันเอดส์โลก วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี พร้อมให้ผู้ติดเชื้อและคนที่ทำงานด้านเอดส์เข้าเฝ้ารับประทานพระดำรัสอย่างใกล้ชิด และยังประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งเป็นกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว ทั้งด้านการรักษา จัดหายาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการสังคมสงเคราะห์ อาทิ โครงการ "ช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก" สภากาชาดไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย, กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย และ โครงการ “คืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์” สภากาชาดไทย เป็นต้น โดย กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย ได้ให้การสนับสนุนยาต้านไวรัสสำหรับหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีที่มาฝากครรภ์ช้า ยาต้านไวรัส ยาเรียลทิกราเวียร์ จะให้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ทั้งคนไทยและชาวต่างด้าว ทั้งที่มีสิทธิ์และไร้สิทธิ์สวัสดิการสุขภาพ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้ได้ผลทั่วถึง โดยยาต้านไวรัสนี้จะช่วยลดปริมาณเชื้อเอชไอวี และยายังสามารถส่งผ่านจากรกแม่ ไปสู่ทารกได้ดี ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้
ในปีพุทธศักราช 2562 โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้กราบทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ให้ทรงดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Protection in Asia and the Pacific) เนื่องจากทรงมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและดำเนินการด้านสาธารณสุข สวัสดิการสังคม พร้อมทั้งทรงเป็นผู้สนับสนุนด้านการป้องกันการติดเชิ้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเอชไอวี ผลักดันเป็นนโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการไปทั่วประเทศ อีกทั้ง “โครงการเพร็พพระองค์โสมฯ” (Princess PrEP) ยังเป็นต้นแบบในการให้บริการเพร็พ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ โดยใช้ยาต้านไวรัสในราคาเพียงวันละ 15 บาท ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งการดำเนินการได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง
องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
ในความทุกข์ร้อนของประชาชนคนไทยจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยจนไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในสถานการณ์อันโหดร้านขนาดนั้น พวกเขาไม่เคยต้องโดดเดี่ยว
ด้วยน้ำพระทัยอันที่ที่เปรียบมิได้ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงห่วงใยราษฎรมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2538 ในปีนั้นถือเป็นปีที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.27 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโลอิส ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมทวีความรุนแรง น้ำปริมาณมากทะลุเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนทั้งฝั่งธนบุรีและพระนคร เป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน สร้างควมเดือดร้อนให้ประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งสองพระองค์เสด็จลงพื้นที่ออกรับน้ำใจจากประชาชนเพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเยี่ยมเยียน พระกรณียกิจในครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบภัยเรื่อยมา
“ครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประชาชนมากมายแช่น้ำยืนรอเฝ้า เราได้รับเงิน 20 บาททีเปียกโชกจากชาวบ้าน เขาบอกว่าขอถวายสำหรับช่วยเหลือประชาชน เราก็ถามว่าทำไมไม่เก็บไว้ช่วยเหลือตัวเอง เขาก็ยืนยันคำเดิม นี่จึงเป็น 20 บาทแรกที่เราได้มาสำหรับมูลนิธิฯ” พระดำรัสของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานมูลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยและภัยพิบัติรุนแรง อันได้แก่ การร่วมกันระดมองค์ความรู้ นวัตกรรม กำลังแรงกาย ทุนทรัพย์ และจิตสาธารณะ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างครบวงจร รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผู้ทุกข์ยากน้อยกว่าช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากมากกว่า ผู้ที่แข็งแรงช่วยเหลือผู้อ่อนแอ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการประทังชีวิตและการฟื้นฟูสภาพจิตใจ มูลนิธิฯ ปฏิบัติงานและยึดหลักภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน”
ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นครั้งใดภาพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่มักปรากฏอย่างแจ่มชัด พร้อมด้วย “ถุงยังชีพพระราชทาน” ที่ไม่ใช่เพียงบรรจุสิ่งสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งขวัญกำลังใจที่จะนำพาผู้ประสบภัยให้ก้าวพ้นช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ รับสั่งเกี่ยวกับถุงยังชีพพระราชทานไว้ว่า “...ของที่บรรจุในถุงยังชีพพระราชทานนั้นเกิดจำนวนที่จัดได้ แต่ห้ามขาด” ด้วยทรงห่วงใยและเข้าพระทัยในวัตถุประสงค์หลังของถุงยังชีพที่พระราชทานแก่ผู้ประสบอุทกภัย
ภายในถุงยังชีพพระราชทานจึงประกอบไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและมีความเหมาะสมกับผู้รับ เช่น ถุงยังชีพสำหรับผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องบรรจุข้าวเหนียวแทนข้าวสาร หรือถุงยังชีพสำหรับพระภิกษุสงฆ์ต้องบรรจุผ้าสบง จีวรไว้ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ด้วยดี บ่อยครั้งที่ทั้งสองพระองค์เป็นผู้คัดเลือกสิ่งของและร่วมบรรจุสิ่งของลงในถุงยังชีพด้วยพระองค์เอง
“...เราทำเองหมดทุกอย่าง ทั้งแพ็คถุง แบกข้าวสาร ทำกับข้าว ทำมามากกว่า 20 ปี เราทั้งสองแม่ลูกสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก ไม่ว่าจะเดิน นั่งเรือ ก็ทำทุกอย่าง ถุงหนักเท่าไรก็ไม่หวั่น ขอแค่ประชาชนดีขึ้น...” จากพระดำรัสของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นี้เอง ถุงยังชีพพระราชทานจึงเป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งขวัญกำลังใจเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ
ถุงยังชีพพระราชทานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ถุงยังชีพพระราชทานสีม่วงและสีส้ม สำหรับผู้ประสบอุทกภัยทั่วไปในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยแต่ครอบคลุมบริเวณกว้าง ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ถุงยังชีพฯ จำนวนมากในคราวเดียว โดย สีม่วง เป็นสีประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสีส้ม เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ภายในบรรจุสิ่งของสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยาตำรับหลวง สบู่ ยาสีฟีน ไฟฉาย ฯลฯ 2.ถุงยังชีพพระราชทานสีน้ำเงิน สำหรับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมาก มีน้ำท่วมขังบริเวณกว้างและไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ หรือมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ภายในบรรจุสิ่งของเพิ่มเติมจากถุงพระราชทานสีส้มและสีม่วง ได้แก่ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ 3.ถุงพระราชทานสีเหลือง สำหรับพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย นอกจากอาหารและสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ภายในบรรจุสิ่งของสำหรับพระภิกษุสงฆ์ อาทิ ผ้าสบงจีวร ผ้าเช็ดตัวพระ ยาตำราหลวง มุ้ง ฯลฯ
“อาหาร” คือ หนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญมากต่อผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอาหารปรุงสดใหม่ เพราะนอกเหนือจากขวัญและกำลังใจแล้ว การช่วยให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ปรุงสดใหม่ยังช่วยเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตไปได้ และพร้อมที่จะกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข “โรงครัวพระราชทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ช่วยด้วยใจคนไทยไม่ทิ้งกัน” จึงได้เกิดขึ้น เป็นรถทรงสูงที่สามารถนำไปจอดในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ โดยประชาชนทั่วไปมักจะเรียกว่า “รถเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)” โดยอาหารสำหรับผู้ประสบอุทภัยจะเป็นเมนูที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ อิ่มท้อง ปรุงสุกได้รวดเร็ว และที่สำคัญต้องมีรสชาติอร่อย เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา และข้าวเหนียวไก่ทอดสูตรประทาน ซึ่งทุกครั้งที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนผู้ประสบอุทกภัย พระองค์ทรงประกอบอาหารปรุงสุกด้วยพระองค์เอง เพื่อแจกจ่ายให้ลำเลียงไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงมีรับสั่งถึงการปรุงอาหารเพื่อผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะเมนู “ไก่ทอดสูตรประทาน” ว่า “...จากประสบการณ์ที่เคยนำรถโรงครัวเคลื่อนที่ เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ช่วยด้วยใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุต่างๆ นั้น เราผ่านการลองผิดลองถูกในการปรุงอาหารในการแจกคนมาหลายครั้ง และสุดท้ายก็ทำให้รู้ว่าข้าวเหนียวไก่ รับประทานง่ายและเสียยาก อีกทั้ง ไก่เป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย และทุกเชื้อชาติศาสนา ที่สำคัญสามารถเก็บไว้ได้นาน...”
ทรงก่อตั้งกองทุนโรคมะเร็งในเด็กฯ ช่วยเหลือเด็กที่ป่วยยากไร้ทั่วประเทศ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้ประทานเงินจำนวน 1 ล้านบาทเพื่อก่อตั้งกองทุนและเสด็จมาทรงเปิดกองทุน ซึ่งประทานชื่อว่า “กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” เมื่อ วันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2544 โดยมีพระดำริว่าอยากจะสนับสนุนช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ยากไร้ทั่วประเทศ และทรงมีรับสั่งเมื่อจัดตั้งว่า “กองทุนนี้มิใช่เพื่อโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งแต่จะกระจายไปทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือให้แก่คนไข้” ในปีพุทธศักราช 2560 และปีพุทธศักราช 2561 ได้ประทานเงินส่วนพระองค์อีกปีละจำนวน 1 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 ได้ประทานพระอนุญาตแก้ไขชื่อกองทุนฯ เป็น “กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 20 แห่ง ที่ทางกองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษายาเคมีบำบัด ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าเดินทางมาตรวจรักษา ค่าที่พัก ค่าตรวจในห้องปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางการรักษาโรคมะเร็งในเด็กต่อไปในอนาคต อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลศูนย์พิษณุโลก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากการรักษาโรคมะเร็งในเด็กให้หายขาดมากขึ้นแล้ว ทางกองทุนฯ ยังได้ช่วยเหลือให้เด็กมีโอกาสทุพพลภาพน้อยลง เช่น ได้มอบเงินค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์แขนขาโลหะที่ใช้แทนกระดูกที่เป็นมะเร็งที่ถูกตัดออก ทำให้เด็กไม่ต้องถูกตัดแขนขาออกไป
ขณะเดียวกันทางกองทุนฯ ยังได้สนับสนุนให้กลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคมะเร็งในเด็กได้ทำการวิจัยอีกด้วย นั่นคือ ได้มอบเงินให้กับชมรมโรคมะเร็งในเด็กตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2557 ให้ทำการวิจัยในการรักษาโรคมะเร็งต่อมหมวกไตในระยะลุกลามให้มีโอกาสหายขาดมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันชมรมโรคมะเร็งในเด็กมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเป็นจำนวนกว่า 20 แห่งด้วยกัน จากความช่วยเหลือของกองทุนฯ ทำให้เด็กที่เป็นมะเร็งมีโอกาสหายขาดมากขึ้นแล้วยังทำให้วงการแพทย์ไทยมีโอกาสทำกาวิจัยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศอีกด้วย
ทรงจัดตั้งมูลนิธิฯ และโครงการส่วนพระองค์อีกมากมาย
มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์กิติยากร ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2533 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขัดสน ช่วยเหลือค่ารักษา ช่วยจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนค่าเดินทางในการไปรักษา รวมทั้งการมอบทุนในการศึกษาต่อของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและทรวงอก ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการรักษาที่ดีมีมาตรฐานสากล
มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2532 เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแก่ผู้ป่วย ครอบครัว ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ รณรงค์ให้อุบัติการณ์ของโรคนี้ลดลงในประชากรไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดูแลรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียและการป้องกันโรคนี้แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงทรงรับมูลนิธิต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์ รวมทั้งจัดตั้งมูลนิธิและโครงการส่วนพระองค์อีกหลายโครงการ อาทิ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์), มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์), มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์ชีพ), มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว, มูลนิธิบ้านบางแค, มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก ของศาลเยาวชนและครอบครัว, มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง, มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา, มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว, สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ, สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่, สมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย, สภาแม่ดีเด่นแห่งชาติ, โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา, วัดหนองน้ำขุ่น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นต้น
นับได้ว่าทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ ในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ สนองเบื้องพระยุคลบาท มีพระกรุณาธิคุณต่อประเทศและประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ยิ่ง ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 13 กรกฎาคม 2568 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงมีพระพลามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติและประชาชนชาวไทยตลอดกาลนาน เทอญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี