วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
กึ่งศตวรรษน้องใหม่จุฬาฯ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก

กึ่งศตวรรษน้องใหม่จุฬาฯ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก

วันเสาร์ ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ไลฟ์ วาไรตี ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย จุฬาฯ
  •  

พวกเราภาคภูมิใจมากที่พระองค์ทรงเข้าเป็นน้องใหม่จุฬาฯ เมื่อปี 2516 เมื่อทรงเข้ามาแล้ว ทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย ทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามที่รุ่นพี่สั่ง ทรงทำให้ภายในจุฬาฯ มีชีวิตชีวามากขึ้นและที่สำคัญคือทรงให้ความเป็นกันเองกับชาวจุฬาฯ ทุกคณะทุกคน


ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณๆ ไปสนทนากับตัวแทนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นปีการศึกษา 2513 ซึ่งเป็นรุ่นที่จัดนิทรรศการ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเป็นน้องใหม่จุฬาฯ ครบวาระ 50 ปี 

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน 50 ปี น้องใหม่จุฬาฯ 2513

l เรียนถามคุณชัยวัฒน์ในฐานะประธานจัดงาน วัตถุประสงค์หลักของงานนี้คืออะไรครับ

นายชัยวัฒน์ : เนื่องจากพวกพี่ ซึ่งเข้าเรียนจุฬาฯในปี 2513 เมื่อครั้นครบรอบ 50 ปีที่พวกเราเข้าเรียนจุฬาฯ เมื่อปี 2563 เราก็จัดงานรำลึกถึงความหลังในวันก่อนเก่ากัน แต่เราก็มีความคิดอยู่ในใจอย่างหนึ่งคือ ในปีที่พวกพี่อยู่ปี 4 นั้น จุฬาฯ ได้มีโอกาสสำคัญยิ่งคือ มีน้องใหม่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ เมื่อปี 2516 ดังนั้นพวกเราในฐานะรุ่นพี่ปี 4 จึงมีความคิดเห็นตรงกันว่า เป็นโอกาสอันเหมาะที่เราจะจัดงานสำคัญเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อน้อมรำลึกที่พระองค์ทรงเข้าเป็นน้องใหม่จุฬาฯ ครบ 50 ปี พวกเราทุกคนตระหนักดีว่าพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอเนกอนันต์ ทรงทำให้จุฬาฯ มีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก พวกเราก็จึงหารือกับคุณหญิงอุไรวรรณ (สวัสดิศานติ์)ซึ่งมีตำแหน่งประธานนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คุณหญิงเป็นเพื่อนนิสิตร่วมชั้นปีกับพวกพี่ด้วย เราก็จึงตกผลึกความคิดว่า จัดนิทรรศการ 50 ปี เจ้าฟ้าพระองค์แรกทรงเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ จึงได้บังเกิดนิทรรศการนี้ขึ้นมา โดยจัดที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 นิทรรศการนี้แม้จะเล็กกะทัดรัดมาก แต่มีความสำคัญมาก เพราะพวกเราได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อขอพระราชทานของใช้ส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงศึกษาอยู่ในจุฬาฯ มาจัดแสดงภายในงาน มีตั้งแต่บัตรประจำพระองค์ สมัยที่ทรงศึกษาในชั้นปีต่างๆ และยังได้รับพระราชทานฉลองพระองค์ชุดนิสิตของพระองค์ท่าน และฉลองพระองค์ครุยที่ทรงสวมเมื่อครั้งเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิทรรศการนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน บวกกับความร่วมมือร่วมใจของนิสิตเก่ารุ่นปี 2513 ทุกคน และได้รับการสนับสนุนสถานที่จัดนิทรรศการจากหอประวัติจุฬาฯ ในฐานะประธานจัดงานน้องใหม่จุฬาฯ 2513 ขอเรียนเชิญทุกท่านเข้าชมนิทรรศการนี้ ไม่จำเป็นว่าท่านต้องเป็นชาวจุฬาฯนะครับ ผมกราบเรียนเชิญทุกท่าน เพราะพระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญของคนไทยทุกคน ประชาชนไทยต่างถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเสมอมา เราคนไทยเป็นคนโชคดีมาก เรามีเจ้านายชั้นสูงที่ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณะเสมอมา พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุข ในพระทัยของพระองค์ท่านมีแต่ประชาชนอยู่ในพระทัยตลอดเวลา สำหรับชาวจุฬาฯ นั้น ผมขอเชิญทั้งพี่เก่า และนิสิตปัจจุบันเข้าชมนิทรรศการนี้ เพราะจะได้ซาบซึ้งถึงความรักที่พระองค์ท่านทรงมีต่อจุฬาฯ ของเรา นิทรรศการนี้เปิดให้ชมทุกวันเวลาราชการ ณ หอประวัติจุฬาฯ เข้าชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการแต่อย่างใดครับ ขอเชิญชวนชมนิทรรศการครับ ชวนลูกหลานไปชมด้วยนะครับ

นางวิสาขา ภูมิรัตน รองประธานชมรมวรรณศิลป์สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

l เรียนถามคุณวิสาขา ในฐานะพี่ชั้นปี 4ในวันที่ได้ทราบว่าจุฬาฯ มีเจ้าฟ้าพระองค์แรกทรงสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีความรู้สึกอย่างไรครับ

นางวิสาขา : ตื่นเต้นมากค่ะ แต่อันที่จริงพวกพี่ๆก็พอจะทราบข่าวนี้ล่วงหน้ามาประมาณ 1 ปีแล้ว เพราะในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินงานวันทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาฯ สมเด็จพระพันปีหลวงรับสั่งว่าปีหน้าลูกสาวจะสอบเข้ามาเรียนต่อในจุฬาฯ ขอฝากลูกสาวด้วยนะ นิสิตทุกคนในหอประชุมต่างส่งเสียงแสดงความดีใจลั่นหอประชุม เรียกว่าเฮกันจนหอประชุมแทบแตก เพราะดีใจที่เราจะมีน้องใหม่เป็นเจ้านายชั้นสูง แล้วเมื่อพระองค์เสด็จมาทรงศึกษาต่อ พวกพี่ก็ดีใจมาก ปีที่ทรงเข้าศึกษาคือ 2516 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พี่ๆ อยู่ชั้นปีที่ 4 แล้ว 

l กรุณาช่วยเล่าความประทับใจกับสมเด็จเจ้าฟ้าน้องใหม่จุฬาฯ ให้ทราบด้วยครับ

นางวิสาขา : ต้องบอกตรงๆ ว่าประทับใจในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงร่วมกิจกรรมในจุฬาฯ เริ่มตั้งแต่วันที่เสด็จมารายงานพระองค์ที่จุฬาฯ แล้วยิ่งในวันรับน้องใหม่ ก็ยิ่งประทับใจมาก เพราะพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ กับนิสิตโดยไม่ถือพระองค์ ทรงทำทุกอย่างตามที่รุ่นพี่ๆ บอก ทรงวางพระองค์เหมือนน้องใหม่ทุกๆ คน โดยไม่ถือว่ามีพระราชฐานันดรสูงกว่า สำหรับพี่เองนั้น พี่โชคดีมากที่ได้ร่วมเล่นดนตรีไทยกับพระองค์ท่าน พี่เล่นซอสามสาย พี่จำได้ดีว่าวันแรกที่เสด็จมาทรงซ่อมดนตรีไทย ก็ประทับกับพื้นเสมอกับพวกเราทุกคน เวลาทรงดนตรีก็ทรงเป็นกันเองมาก พระราชทานขนมให้พวกเราประจำ ทรงพูดคุยเป็นกันเองมาก ทรงมีพระอารมณ์ขัน ทรงเป็นที่รักเป็นที่สุดของพวกเราทุกคน ชมรมดนตรีไทยของจุฬาฯ จะซ้อมกันช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ซ่อนไปไปจนค่ำคะ เมื่อพระองค์ท่านทรงว่างจากพระราชภารกิจ ก็แสดงมาทรงซ่อมกับพวกเรา แต่พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจมาก ต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในต่างจังหวัดเป็นประจำ ทำให้ต้องทรงฝึกซ้อมดนตรีไทยกับพระอาจารย์ประจำพระองค์ในยามไม่ทรงสามารถซ้อมร่วมกับวงดนตรีของเราได้ แต่ทุกครั้งที่วงของเราต้องแสดง พระองค์ท่านจะเสด็จมาทรงซ้อมก่อนการแสดงจริงทุกครั้ง แล้วทุกครั้งที่มาทรงซ้อมดนตรี หรือทรงเล่นดนตรี ก็จะมีสิ่งของต่างๆ มาพระราชทานให้พวกเราเสมอ ทรงมีน้ำพระทัยคิดถึงเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคนตลอดเวลา 

l ในฐานะที่คุณวิสาขาเป็นผู้ร่วมจัดงานนิทรรศการนี้ด้วย กรุณาเล่าถึงความพิเศษของนิทรรศการนี้ด้วยครับ

นางวิสาขา : นิทรรศการนี้ พวกเราทุกคนตั้งใจทำอย่างมาก เราเตรียมการกันนานพอสมควร จนได้ความคิดตกผลึกแล้ว นิทรรศการจะมีทั้งการแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์สมัยทรงเป็นนิสิต ฉลองพระองค์ชุดนิสิต ฉลองพระองค์ครุย บัตรนิสิตประจำพระองค์ เหรียญรางวัลต่างๆ ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องจากทรงมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม พระฉายาลักษณ์สมัยทรงเรียน และทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ในจุฬาฯ และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการด้วยสื่อผสม คือมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงของเหตุการณ์ต่างๆ มีการนำเสนอผลงานด้านการกวีของพระองค์ท่าน และภาพทรงที่ร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะกิจกรรมในคณะอักษรฯ หรือกิจกรรมที่ทรงร่วมกับคณะต่างๆ มีภาพทรงร้องลิเกกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วย สำหรับกิจกรรมด้านดนตรีไทยนั้น ทุกวันนี้เมื่อพระองค์ท่านทรงมีเวลาว่าง พระองค์ท่านยังพระราชทานพระเมตตาชวนให้พวกพี่ๆ และเพื่อนร่วมวงดนตรีไทยไปเล่นดนตรีด้วยกันเป็นครั้งครา ทุกครั้งที่พี่ได้ไปเข้าเฝ้าฯ และได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระองค์ ก็มีความสุขมาก ได้เห็นรอยแย้มพระสรวล ทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่สนุกสนานพระราชทานด้วย พวกพี่ๆ ทราบดีว่า แม้พระองค์จะทรงงานหนักมากเพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญ ประชาชนมีความสุขแต่พระองค์ก็ยังทรงมีความผูกพันกับจุฬาฯ อย่างแนบแน่นเสมอมา เราได้ถวายงานพระองค์แล้ว พวกเราก็มีความสุขไปด้วย  

คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ รองประธานชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

l กราบเรียนถามคุณหญิง เมื่อครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาชั้นปี 1ในคณะอักษรฯ จุฬาฯ คุณหญิงถวายงานด้านใดกับพระองค์ท่านบ้างครับ

คุณหญิงอุไรวรรณ : ในยุคนั้นพี่อยู่ชมรมวรรณศิลป์ และเป็นธรรมเนียมที่น้องใหม่ของจุฬาฯ จะเลือกเข้าชมรมต่างๆ พระองค์ทรงเลือกชมรม
ดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์ เมื่อทราบว่าพระองค์ทรงเลือกชมรมวรรณศิลป์ด้วย พี่และคนอื่นๆ ในชมรมฯดีใจมาก จากนั้นพี่ก็เข้าไปประกาศในห้องนิสิตใหม่ว่า ใครจะสมัครเป็นนักกลอนน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อเข้าแข่งขันนักกลอนน้องใหม่ประจำปี 2516 บ้าง พระองค์ท่านก็ทรงสมัคร พี่ดีใจมากเลย เมื่อพระองค์ท่านทรงสมัครเข้าชมรม พระสหายอีกมากมายก็ตามพระองค์เข้าชมรมฯ ด้วย เราก็ต้องคัดเลือกตัวแทนนิสิตน้องใหม่เพื่อส่งเข้าประกวดแข่งขันแต่งกลอน ซึ่งการแต่งกลอนนั้นต้องเก่งรอบด้าน คือทั้งด้านฉันทลักษณ์ ปฏิภาณไหวพริบการใช้ภาษาตอบโต้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และต้องทำให้เกิดความสนุกสนานในการร่วมกิจกรรมด้วย การแข่งขันในสมัยนั้นมี 5 อย่าง คือ สักวา ดอกสร้อย กลอนสด โต้วาที กวีวัจนะ พี่ๆ ก็ต้องดูว่าน้องคนไหนถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ส่งเข้าแข่งขันได้ตรงความสามารถ ต้องดูว่าคนไหนถนัดโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ใครมีปฏิภาณกวีมากๆ ก็ส่งแข่งขันกลอนสด เพราะการแข่งกลอนสดใช้เวลาแข่งขันเพียง 5 นาทีเท่านั้น อันที่จริงผู้เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรฯ โดยเฉพาะด้านภาษาไทยนั้น ทุกคนมีปฏิภาณกวีทั้งสิ้น แต่เวลาลงแข่งจริงๆ ต้องมีสมาธิสูงมากๆ ยิ่งผู้เข้าชมมาก ก็ต้องยิ่งมีสมาธิมากยิ่งขึ้น เพราะมีเสียงโห่เสียงเชียร์ตลอดเวลา ในช่วงเวลาซ้อมนั้น พี่ก็แจกการบ้าน คือหัวข้อต่างๆ หรือกระทู้ให้น้องใหม่ไปแต่งกลอนมา แล้วพี่กับคณะก็จะให้คะแนนตามที่แต่ละคนจะได้ โดยดูตามหลักฉันทลักษณ์ และองค์ประกอบอื่นๆ รวมกัน

เช่น ลีลาการแต่งกลอน และความคิดที่สื่อออกมา แล้วคัดคนที่เข้ารอบไปแข่งขันต่อไป ทูลกระหม่อมน้อยทรงถนัดกลอนและโคลงมาก ในการแข่งขันทุกนัด เราก็เน้นความสนุกสนาน ความเฮฮาประสาพี่น้องจุฬาฯ เป็นหลักแต่ก็ไม่ทิ้งฉันทลักษณ์ ทูลกระหม่อมน้อยทรงร่วมซ้อมเป็นประจำ หากพระองค์ท่านทรงมีเวลาว่างจากพระราชภารกิจที่ต้องตามเสด็จฯ เมื่อทรงมาซ้อมก็เป็นที่สนุกสนานมาก กองเชียร์ก็สนุกไปด้วย ทรงโต้วาทีเป็นกลอนสดด้วย กองเชียร์ก็มากันเต็ม คนแต่งกลอนก็ขำ คนเชียร์ก็ฮา มีครั้งหนึ่งประทับใจพี่มากคือพี่ให้กระทู้ว่า เป็นเมียน้อยดีกว่าเป็นเมียหลวง แล้วจับฉลากว่าใครจะได้เป็นฝ่ายเสนอหรือฝ่ายค้าน ปรากฏว่าทูลกระหม่อมน้อยทรงเป็นฝ่ายค้าน คืออยู่ฝ่ายเมียหลวงพี่จำได้ดีว่า ฝ่ายเมียน้อยเขาพูดขึ้นมาว่า อยู่กับเราจนหลับไม่กลับบ้าน เพราะรำคาญเมียแก่เอาแต่บ่น ปฏิภาณกวีของทูลกระหม่อมน้อยทรงสวนขึ้นทันทีว่า แต่ถึงคราวผัวเราเป็นนายพล เราคือคนเป็นคุณหญิงยิ่งสบาย เมื่อกองเชียร์ได้ยินแบบนี้ ก็ส่งเสียงเชียร์กันจนห้องแทบแตก ฮากันทั้งห้อง บรรยากาศสนุกสนานมาก ประทับใจจริงๆ เวลาแข่งกลอนสดนั้น เราเน้นความสนุกสนานฉันพี่น้องในจุฬาฯ เวลาแข่งก็ตอบโต้กันอย่างสนุกสนานระหว่างคณะต่างๆ จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปแข่งกันที่ศาลาพระเกี้ยว วันนั้นศาลาพระเกี้ยวแทบแตกเพราะมีผู้เข้าร่วมงานจากคณะต่างๆ เยอะมาก ฝ่ายคณะอักษรฯ ก็ไปกันเต็มไปหมด คณะอื่นๆ ก็มากันมากมาย เราแข่งกันอย่างเอาจริงเอาจังไม่มีใครยอมให้ใคร ทุกคนไว้ฝีมือ แต่ทุกคนก็สนุกกันมาก วันนั้นอักษรฯ ชนะเลิศร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้ครองถ้วยไปคนละครึ่งปี 

l ผมยังเข้าใจมาโดยตลอดว่าเวลาแข่งโคลงกลอนไม่มีคณะไหนสู้อักษรฯ ได้ 

คุณหญิงอุไรวรรณ : พี่ต้องบอกเลยว่ามีนักกลอนเก่งๆ อยู่ในทุกคณะของจุฬาฯ วิศวะก็เก่ง รัฐศาสตร์ยิ่งเก่งมาก บัญชีก็เก่งไม่แพ้ใคร มีเก่งๆ
ในหลายคณะเลยค่ะ ในวิทยาศาสตร์ ครุศาสตร์ ก็มีคนเก่งด้านกลอนมากมาย 

l เมื่อคุณหญิงเล่าตรงนี้แล้ว จะเห็นว่าบรรยากาศในช่วงนั้นสนุกสนานมาก ผมสงสัยว่านิสิตไม่ประหม่าบ้างหรือเวลาเข้าแข่งขันกับพระองค์ท่าน นั่นแสดงว่าพระองค์ท่านต้องทรงทำให้บรรยากาศสนุกสนาน ไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องเป็นพิธีการจนเกินไป ทรงทำให้เห็นว่าทรงเป็นนิสิตคนหนึ่ง ใช่ไหมครับ ในเวลานี้ไม่มีเรื่องเจ้านาย แต่เป็นเรื่องของนิสิตจุฬาฯ ใช่ไหมครับ

คุณหญิงอุไรวรรณ : ใช่ค่ะ ทรงทำให้ทุกอย่างอยู่ในบรรยากาศสบายๆ ค่ะ ทรงเป็นกันเองมาก อย่างเช่นเวลาร่วมประชุมหารือ ตอนนั้นเราเรียกว่าสุมศีรษะ เราช่วยกันคิดวิธีที่จะโต้ตอบคู่แข่ง พระองค์ก็ทรงร่วมการประชุมโดยไม่ต้องมีพิธีรีตรองใดๆ เราทุกคนช่วยกันคิด
ช่วยกันทำเพื่อให้ทีมชนะการแข่งขัน ช่วยกันเลือกว่าจะเลือกวรรคทองของใครไปใช้ตอบโต้คู่แข่ง ทุกคนช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันคิด ทรงเป็นกันเองมาก

l นอกจากคุณหญิงประทับใจในเรื่องพระปรีชาสามารถด้านบทกวีแล้ว ยังมีเรื่องใดที่ประทับใจในพระองค์อีกบ้างครับ

คุณหญิงอุไรวรรณ : ประทับใจในหลายสิ่งหลายอย่างเลยค่ะ แต่เอาเป็นว่าพี่ขอตอบเฉพาะทางด้านพระราชนิพนธ์เป็นหลักก็แล้วกันนะคะ เน้นเฉพาะแค่ในช่วงทรงศึกษาชั้นปีที่ 1 ท่านทรงร่วมทำหนังสือชื่ออักษรศาสตร์พิจารณ์ ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ทำเผยแพร่อยู่ก่อนแล้ว ท่านทรงร่วมงานต่างๆ จนเกือบจะเป็นบรรณาธิการอยู่แล้วค่ะ ทรงร่วมงานต่างๆ กับคณะอักษรฯ และคณะอื่นๆ ด้วยความเต็มพระทัยเสมอ

l เรียนถามคุณหญิงถึงนิทรรศการที่รุ่นพี่ปี 2513 จัดเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ณ หอประวัติจุฬาฯ อะไรคือสิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดของการจัดนิทรรศการนี้

คุณหญิงอุไรวรรณ : สำหรับนิทรรศการนั้นพี่บอกได้เลยว่าพวกเราภูมิใจมากที่ได้ทำงานนี้ถวายพระองค์ท่าน เพราะเราได้ย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งที่พระองค์ท่านทรงศึกษาในจุฬาฯ ของเรา แต่พี่ยังประทับใจในทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเข้าเป็นน้องใหม่ของจุฬาฯ พวกเราปลื้มใจและดีใจมากที่เรามีน้องใหม่พระองค์นี้ เราทุกคนถือได้ว่าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของจุฬาฯ และของประเทศไทย ทุกสิ่งอย่างที่เราร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ คือความตั้งใจจริงของเราทุกคน เรามีความภาคภูมิใจในพระองค์ท่านมากที่สุด แม้พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการจะไม่ใหญ่โตมากนัก เราก็พยายามนำเสนอสาระสำคัญเมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นนิสิตของจุฬาฯ เราได้รับสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานมาให้จัดแสดงนิทรรศการนี้ ตัวอย่างเช่นฉลองพระองค์ครุยองค์นี้ อันที่จริงนั้นผ้าโปร่งที่เป็นตัวชุดครุยเก่ามาก แทบจะหมดอายุของผ้าแล้ว แต่เราก็เชิญไปซ่อมจนได้ฉลองพระองค์ครุยชุดประวัติศาสตร์มาจัดแสดงในครั้งนี้ เรายังได้ฉลองพระองค์ชุดนิสิตมาจัดแสดงด้วย มีพระรูปปั้นของพระองค์ท่านในสมัยทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์สมัยที่ทรงเป็นนิสิตจุฬาฯ ที่พระราชทานให้ใช้จัดนิทรรศการอีกมากมาย พี่บอกได้สั้นๆ ว่า ปลื้มใจมากกับทุกสิ่งทุกอย่างในห้องนิทรรศการนี้ ขอเชิญทุกคนมาร่วมกันภาคภูมิใจด้วยกันนะคะ

คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • จุฬาฯ จับมือ 6 พันธมิตร AI ชั้นนำเปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง NEXUS AI จุฬาฯ จับมือ 6 พันธมิตร AI ชั้นนำเปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง NEXUS AI
  • จุฬาฯ ผนึกกำลัง โนโว นอร์ดิสค์ ยกระดับการจัดการโรคอ้วนด้วยนวัตกรรม จุฬาฯ ผนึกกำลัง โนโว นอร์ดิสค์ ยกระดับการจัดการโรคอ้วนด้วยนวัตกรรม
  • จับมือ MOU การประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน \'จุฬาฯ- รามาฯ- ศิริราช- ธรรมศาสตร์\' จับมือ MOU การประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน 'จุฬาฯ- รามาฯ- ศิริราช- ธรรมศาสตร์'
  • หลักสูตรเวฬา จุฬาฯ จับมือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จัดกิจกรรม CSR ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ หลักสูตรเวฬา จุฬาฯ จับมือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรม CSR ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่
  • จุฬาฯ ร่วมกับ BGI ประกาศความร่วมมือวิจัย CHANGS วิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในไทย จุฬาฯ ร่วมกับ BGI ประกาศความร่วมมือวิจัย CHANGS วิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในไทย
  • จุฬาฯ ย้อมสยามเป็นสีชมพู ใน ‘CHULA BAKA BEGINS’ พร้อมลั่นกลองศึก ‘บอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75’ จุฬาฯ ย้อมสยามเป็นสีชมพู ใน ‘CHULA BAKA BEGINS’ พร้อมลั่นกลองศึก ‘บอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75’
  •  

Breaking News

ได้โอกาสส่งออก! ‘อินโดนีเซีย’เผยปี’68คาดผลผลิตข้าวเหลือเกินบริโภคในปท.

'DSI'ลงนามด่วนถึง'ผบ.ตร.-ปลัด มท.' ร่วมมือสอบสวนเอาผิดฟอกเงินคดีฮั้วเลือก สว.

'รมว.ยุติธรรม'เป็น ปธ.มอบเงินเยียวยาให้เหยื่อตึก สตง.ถล่ม

ตลาดสี่มุมเมืองจัดงานเอ็กซ์โป ขายทุเรียนเริ่มต้นพูละ 5 บาท แจกทุเรียนกว่า 200 ลูก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved