คงเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมา บริกส์ (BRICS) หรือกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นกลุ่มที่สามารถท้าทายและคานอำนาจกลุ่มการเมืองระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลมาช้านาน อย่างกลุ่ม G7 นั่นทำให้ทางกลุ่มกำลังร่วมกันพิจารณาเพื่อตัดสินใจเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะจีนที่ต้องการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกในช่วงที่กำลังเกิดความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และรัสเซียที่ถูกกีดกันทางการทูตจากความขัดแย้งทางทหารในยูเครน ต่างเห็นด้วยกับการรับชาติสมาชิกเพิ่ม
ขณะที่แอฟริกาใต้ ในฐานะประธานหมุนเวียนของกลุ่มในปีนี้ก็รับลูก จัดการประชุมกลุ่ม “เพื่อนบริกส์” ไปเมื่อเดือนมิถุนายนเปิดโอกาสให้หลายประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มมาพูดคุยหารือกัน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ ที่นครโยฮันเนสเบิร์กในเดือนนี้
บางแหล่งข่าวระบุด้วยว่า แม้แต่อินเดียที่ก่อนหน้านี้แสดงความกังวลเรื่องการรับสมาชิกใหม่ ก็พร้อมเปิดใจเห็นด้วยในหลักการรับประเทศสมาชิกเพิ่มเช่นกัน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีถึง 30 ประเทศบอกว่าสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก และในจำนวนนี้ มี 22 ประเทศส่งหนังสือขอเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และแอลจีเรีย
อย่างไรก็ดี บราซิล อีกหนึ่งประเทศสมาชิกบริกส์ เริ่มออกมาแสดงความกังวลถึงการรับประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม เจ้าหน้าที่รัฐบาลบราซิลรายหนึ่งบอกว่า การขยายกลุ่มบริกส์ให้ใหญ่ด้วยการรับประเทศสมาชิกเพิ่ม จะส่งผลให้บริกส์ถูกด้อยค่าจากกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกลุ่มการเมืองดาดๆ แบบกลุ่มอื่นๆ บราซิลยังต้องการเห็นกลุ่มบริกส์มีความเหนียวแน่นและรักษาบรรยากาศของการหารือเป็นการเฉพาะสำหรับประเทศที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลย้ำด้วยว่า บราซิลไม่ได้สกัดกั้นหรือปิดช่องทางการรับสมาชิกเพิ่ม แต่กระบวนการรับสมาชิกใหม่ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้กลุ่มบริกส์แข็งแกร่งและเติบโตขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่หลับหูหลับตารับสมาชิกเพิ่ม เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
เจ้าหน้าที่บราซิลบอกด้วยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ในเดือนนี้ หากจะมีการพิจารณารับสมาชิกเพิ่ม บราซิลไม่ขัดข้อง แต่ประเทศเหล่านั้นควรได้รับสถานะเป็น “หุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์” ไม่ใช่เป็นสมาชิกถาวรซึ่งก็เชื่อว่า ชาติสมาชิกบริกส์ที่เหลืออีก 4 ชาติน่าจะเห็นชอบด้วยในหลักการนี้ เพราะกลุ่มบริกส์จะดำเนินตามนโยบายต่างๆ จากความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของชาติสมาชิกทั้ง 5 ชาติ
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ขยายจำนวนชาติสมาชิกของกลุ่มบริกส์จากเดิมที่มีอยู่ 5 ประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังพยายามสร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อเผชิญหน้ากับอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ครอบงำองค์กรสำคัญระดับโลกอย่างสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และสถาบันอื่นๆ
ส่วนบราซิล ก่อนหน้านี้ยังไม่แสดงออกชัดเจนเรื่องไม่เห็นด้วยกับการรับสมาชิกเพิ่ม เพราะให้อินเดียออกหน้าในเรื่องนี้ ด้วยความที่อินเดียไม่ต้องการให้จีนขยายอิทธิพลของตนเองมากเกินหน้าเกินตาไป แต่เมื่ออินเดียเริ่มเห็นดีเห็นงามด้วยกับเรื่องนี้ ทำให้บราซิลนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ต้องออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน เนื่องจากไม่ต้องการให้อิทธิพลและอำนาจต่อรองของตนเองในกลุ่มบริกส์ลดลง หากมีประเทศอื่นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นของจีน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังมองด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ อินโดนีเซียดูจะเหมาะสมเพราะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น และไม่ค่อยมีประเทศคู่อริขัดแย้งมากนัก พอจะช่วยให้บริกส์เติบโตต่อไปได้
แต่กับประเทศอย่าง อิหร่านเวเนซุเอลา หรือซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกเช่นกันนั้น นักวิเคราะห์มองว่าประเทศเหล่านี้เป็นตัว “เรียกแขก”ชั้นดี ที่จะน่าส่งผลเสียมากกว่าผลดีกับบริกส์ เพราะจะกระทบต่อเอกภาพและความเชื่อมั่นของกลุ่มบริกส์ในภาพรวม
อีกทั้งบราซิลยังเกรงว่า อิทธิพลและอำนาจต่อรองของตนเองในกลุ่มบริกส์จะลดลง หากประเทศเหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มนั่นเอง
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี