วันเวลาผ่านไปเร็วมาก เผลอเดี๋ยวเดียวจะเข้าเดือนที่ 9 แล้ว หลายคนคงรู้สึกเหมือนกับผู้เขียนว่าปีนี้ผ่านไปเร็วมากๆจนงานการทำไม่เสร็จ ทำไม่ทัน นอกจากงานแล้วก็ยังมีเรื่องข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ นานา เข้ามาทำให้เครียดอีก (สำหรับคนที่รู้สึก in กับการเมืองมากๆ) คนที่ in กับข่าวมากก็ย่อมเครียดมาก
แต่อย่าลืมว่าความเครียดคือผลการตอบสนองของบุคคลที่มีต่อสิ่งคุกคาม โดยสิ่งคุกคามของแต่ละคนแตกต่างกันไป เมื่อแต่ละคนพบกับเรื่องที่ทำให้เครียดจะเกิดการตอบสนองได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม
ในทางร่างกาย ความเครียดอาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น การเผาผลาญเพิ่มมากขึ้น บางคนก็มีผลต่อทางเดินอาหาร เช่น ระบบย่อย ระบบขับถ่าย จะรวนเรไปหมด ส่วนด้านจิตใจ เมื่อบุคคลเผชิญความเครียด ก็อาจจะรู้สึกโกรธ กดดัน เบื่อหน่าย ส่วนผลของความเครียดกับพฤติกรรมก็เช่น เบื่ออาหาร หรือไม่ก็กินมากขึ้น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดขึ้น นอนไม่หลับ เก็บตัว เป็นต้น
เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ก็มีผลกระทบต่อคนที่เครียดไม่มากก็น้อย ทั้งนี้แต่ละคนก็รับมือกับความเครียดได้ต่างกัน ความเครียดที่เราพบเจอบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การจราจรติดสาหัส แต่แล้วเราก็ต้องพยายามปรับตัวให้รับสถานการณ์ให้ได้ โดยอาจจะชินกับมันจนเลิกเครียด หรือไม่ก็เครียดสะสมรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความเครียดในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ ที่เครียดจากการเรียนการสอบหรือการนำเสนอ paper วิชาการ ทำให้กระวนกระวาย วิตกกังวล นอนไม่หลับ แต่เมื่อสอบผ่านไปแล้ว หรือนำเสนองานจบไปแล้ว ก็จะหายเครียด หรือไม่ก็เครียดหนักกว่าเดิม หากทำข้อสอบไม่ได้ หรือเสนอ paper แล้วไม่บรรลุผล
สำหรับคนที่เกิดความเครียดรุนแรงมากขึ้น หรือเครียดสะสมต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาโรคทางจิตเวชต่างๆ ได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อความเครียดเป็นอาการอย่างหนึ่ง เหมือนปวดหัวเป็นไข้ แล้วเราสามารถไปหาซื้อยามากินเพื่อบรรเทาอาการได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะยาคลายเครียด จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น หมายความว่าผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ แล้วรับยาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ใช่หาซื้อยามากินเอง
ยาที่ใช้ในการดูแลรักษาอาการเหล่านี้ มีหลายกลุ่มที่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ เช่น lorazepam, alprazolam, diazepam เป็นต้น
เหตุผลหนึ่งที่ยากลุ่มนี้ต้องสั่งให้โดยแพทย์ เพราะต้องติดตามผลการใช้ยาอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ อย่าลืมว่ายานี้อาจจะทำให้เสพติดได้ และมีอาการข้างเคียงอีกด้วย คือนอกจากกดประสาททำให้ง่วงซึม อีกทั้งยังทำให้มีภาวะหลงลืม หรือในบางรายอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง สรุปคือ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
คำถามคือ แล้วเครียดระดับไหนจึงต้องไปพบแพทย์ ก็อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า แต่ละคนมีความทนทานต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เท่ากัน บางคนอาจทนได้มาก แต่บางคนอาจทนได้น้อย บางเรื่องอาจทำให้บางคนเครียด แต่บางเรื่องไม่ก่อให้เกิดความเครียดกับบางคน เพราะฉะนั้น หากเรื่องใดก็ตามที่ทำให้เราเครียด วิตกกังวล คิดวนไม่จบสิ้น หาทางออกไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน นอนไม่หลับ การกิน การขับถ่ายผิดปกติ ขาดสมาธิ มีอาการแบบนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ แนะนำว่าต้องไปพบแพทย์ เพื่อประเมินว่าต้องใช้ยาร่วมกับพฤติกรรมบำบัดหรือไม่ เพราะการเข้ารับการดูแลล่าช้าจะส่งผลให้ความรุนแรงของอาการมากขึ้น จนอาจกลายเป็นโรคที่บำบัดรักษาได้ยาก
ส่วนการบำบัดความเครียดโดยไม่ใช้ยา มีทางเลือกหลายรูปแบบ อาทิ การทำสมาธิ การฝึกหายใจ การหยุดหรือเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นความเครียด (ถ้าสามารถทำได้) แล้วให้พักผ่อนด้วยการสันทนาการต่างๆ เช่น ฟังเพลงดูภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม การจัดการความเครียดเป็นทักษะที่มนุษย์ต้องฝึกฝน หากทำแล้วความเครียดยังคงมีผลต่อชีวิตประจำวัน การใช้ยาคลายเครียดภายใต้การดูแลของแพทย์ก็อาจจำเป็นในบางช่วงเวลาของชีวิต
รศ.ภญ.ดร ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี