เนื่องในวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็นวันอัลไซเมอร์โลกวันนี้เราจึงอยากมาแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านรู้จักโรคนี้เข้าใจถึงความสำคัญ สาเหตุ และเมื่อใดควรจะสงสัย เพื่อประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านและบุคคลใกล้ชิด
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมลงของสมอง(Neurodegenerative disease) อาการหลักของโรคคือมีความบกพร่องของความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปและท้ายสุดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันรวมถึงการช่วยเหลือตัวเอง ในปัจจุบันสามารถตรวจวินิจฉัยได้ และมีการพัฒนายาต่างๆ เพื่อการรักษา ร่วมกับการปรับพฤติกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
อาการของโรคอัลไซเมอร์ สัญญาณเริ่มแรกของโรคคือการสูญเสียความจำ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาในการจดจำสิ่งต่างๆ แต่ญาติหรือคนดูแลอาจสังเกตเห็นแนวโน้มความจำ การรับรู้ที่ลดลงได้ดีกว่า และสามารถพาผู้ป่วยมาเข้าสู่ขั้นตอนตรวจรักษา
ความทรงจำ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องด้านความทรงจำเป็นหลัก โดยผู้ป่วยอาจพูดและถามประโยคเดิมซ้ำๆ มีปัญหาในการนึกคำหรือเรียกสิ่งของ ลืมชื่อบุคคลในครอบครัว หลงในที่คุ้นเคย เป็นต้น
ความสามารถและทักษะต่างๆ แม้ผู้ป่วยจะเริ่มมีความบกพร่องด้านความจำ แต่ทักษะต่างๆ จะคงอยู่เนื่องจากควบคุมด้วยสมองส่วนอื่น อย่างไรก็ตามเมื่อการดำเนินโรค
มากขึ้นและจะมีความเสื่อมของสมองส่วนอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถที่มี เช่น การเขียนหนังสืออ่านหนังสือ การวาดรูป หรือแม้กระทั่งทักษะสำคัญในการดำรงชีวิต เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การทานอาหาร ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
การคิดและการใช้เหตุผล ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ ไม่สามารถเลือกของ หรือใช้อุปกรณ์ได้ถูก ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ใช้สิ่งของผิดวิธีหรือลืมวิธีการทำงานพื้นฐานทั่วไปตามลำดับขั้น เช่น เดิมผู้ป่วยสามารถทำขนมได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถจำขั้นตอนการทำนั้นๆ ได้
บุคลิกภาพและพฤติกรรม ผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และอารมณ์ อาจมีลักษณะกระสับกระส่าย นิ่งเงียบ หรือมีภาวะแยกตัว มีพฤติกรรมการนอนหลับที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจพบภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดและก้าวร้าวสลับกันไปแต่ละช่วงของโรค (Behavioral psychological symptom of dementia, BPSD)
สาเหตุ โรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นด้านพันธุกรรม การดำรงชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมพยาธิสภาพของโรคจะเริ่มในสมองส่วนความทรงจำ(Hippocampus) โดยพบมีการสะสมของโปรตีนผิดปกติ เช่น โปรตีน amyloid และ โปรตีน tau ในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย จึงมักตรวจพบ
ความฝ่อหรือเหี่ยวของสมองด้านความทรงจำ หลังจากนั้นอาจพบในส่วนสมองส่วนอื่นๆ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น โดยระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง
ปัจจัยเสี่ยง
อายุ : โรคอัลไซเมอร์มักพบในช่วงอายุ>65 ปี มีการศึกษาพบว่าในประชากร 1,000 คน แต่ละปีในช่วงอายุ 65-74 ปี จะพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 2 คน ในขณะที่ช่วงอายุ 75-84 ปี สามารถพบผู้ป่วย 11 คน และในช่วงมากกว่า 85 ปีขึ้นไป จะพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 37 คน แสดงให้เห็นว่าอายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
เพศ ความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม กลไกทางพันธุกรรมในครอบครัวส่วนใหญ่ของโรคอัลไซเมอร์ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากมีประวัติบุคคลคนในครอบครัวเป็นโรค
อัลไซเมอร์ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้มากขึ้นในปัจจุบันค้นพบว่าหากมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง apolipoprotein E (APOE e4) ผิดปกติ จะมีความเสี่ยงให้เป็นโรคอัลไซเมอร์
การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง บุคคลที่มีการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าเช่น นักมวย นักรักบี้
การนอนหลับที่ผิดปกติ มีงานวิจัยพบว่าผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือโรคนอนไม่หลับ จะมีความเสี่ยงสูงกับการเป็นโรคอัลไซเมอร์
วิธีการดำเนินชีวิตและโรคร่วม การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานประเภท 2 ภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
โรคดาวน์ซินโดรม คนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมากจะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย โดยมีอาการเร็วกว่าคนปกติทั่วไป 10-20 ปี สาเหตุหลักเป็นผลจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21
เมื่อใดควรพบแพทย์เพื่อประเมินและทำการตรวจรักษา
หากมีปัญหาความทรงจำผิดปกติ การตัดสินใจช้าลง บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลต่อการดำรงชีวิตควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียด
การวินิจฉัยโรค
การตรวจประเมินประวัติและอาการจากผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด แพทย์ผู้ตรวจมักสอบถามประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลทั้งด้านความรุนแรงของความบกพร่อง การใช้ชีวิตประจำวัน ระยะเวลาดำเนินของโรค รวมถึงโรคร่วมต่างๆผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ของโรคความจำบกพร่อง เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายที่มีอาการคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการประเมินด้วยแบบทดสอบด้านความจำ และทักษะต่างๆ Thai Mental State Examination (TMSE), และ Montreal Cognitive Assessment (MoCA) เพื่อตรวจสอบภาวะบกพร่องทางความจำ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากภาวะความจำเสื่อม (Dementia) นั้นเกิดได้จากหลายโรคนอกเหนือจากโรคอัลไซเมอร์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้แพทย์สามารถแยกแยะสาเหตุของการสูญเสียความจำจากสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หรือการขาดวิตามิน B12 โรคติดเชื้อกลุ่มซิฟิลิส นอกจากนี้ ยังมีการตรวจน้ำไขสันหลังเมื่อสงสัยภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะน้ำในโพรงสมอง และ การติดเชื้อซิฟิลิส หรืออาจมีการตรวจเฉพาะเพื่อหาสารบางชนิด หรือการตรวจทางพันธุกรรม
ภาพถ่ายรังสีสมอง การสแกนสมองจะสามารถให้การวินิจฉัยอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคความจำเสื่อมประเภทอื่น ปัจจุบันมีการตรวจ เช่น Magnetic resonance(MRI) imagingและ FDG Brain PET Scan โดยหากมีโรค Alzheimer disease มักตรวจพบว่ามีความฝ่อ หรือเหี่ยวของสมองส่วนความจำ Hippocampus นอกจากนั้นการตรวจภาพถ่ายรังสีสมองยังสามารถแยกโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น น้ำในโพรงสมอง หรือภาวะความจำบกพร่องจากโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษา
ในปัจจุบันมีการรักษาเพื่อช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นแต่ยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ โดยมียาช่วยเรื่องของความทรงจำและปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย
Cholinesterase inhibitor โดยยาจะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ไปทำลายสารสื่อประสาท Acetyl choline ทำให้สารสื่อประสาทสามารถทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ทำงานได้มากขึ้น
สามารถเริ่มใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ระยะแรก โดยมีทั้งในรูปแบบรับประทานและแผ่นแปะ
N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonist ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรงมักใช้ควบคู่กับยากลุ่ม Cholinesterase inhibitor
ยาปรับพฤติกรรม และอารมณ์ เป็นยาที่ใช้เพื่อลดอาการด้านพฤติกรรม และอารมณ์ต่างๆ ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในอนาคตจะมียากลุ่ม Targeted therapy เพื่อใช้ลด Amyloid ซึ่งเป็นสิ่งที่เจอได้และคาดหวังว่าจะลดการดำเนินของโรคได้อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเพื่อประเมินการสะสมโปรตีนผิดปกติในสมอง
การรักษาโดยไม่ใช้ยา ถือเป็นอีกการรักษาที่สำคัญ ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ไว้ที่เดิมเพื่อง่ายต่อการจดจำ การกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์ นอกจากนี้ ญาติหรือผู้ดูแลถือว่ามีบทบาทสำคัญโดยต้องมีความเข้าใจในตัวโรค อาจช่วยจัดยาให้ผู้ป่วยรับประทานตามเวลา และให้ผู้ป่วยพกเครื่องมือสื่อสารหรือกระดาษโน้ตซึ่งมีความสามารถในการบอกตำแหน่งได้เพื่อป้องกันการหลงทาง
พ.ท.นพ.ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สูง
อายุรแพทย์ ระบบประสาทและสมอง รพ.พระมงกุฎเกล้า
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี