ไลฟ์ วาไรตี โดย ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปสนทนากับ คุณขนงนาฏ ยิ้มศิริ ผู้บริหารเขียนสตูดิโอผู้ผลิตงานเซรามิกด้วยมือ (hand made) ที่ส่งขายไปทั่วโลก และเปิดโรงเรียนสอนงานศิลปะ
l เซรามิกที่ผลิต เน้นการส่งออกเป็นหลักใช่ไหมครับ ตลาดหลักอยู่ที่ไหนบ้างครับ
คุณขนงนาฏ : ใช่ค่ะ งานของเราเป็นงาน hand made ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราส่งของออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปในยุโรปตะวันตก คือเราส่งของไปให้ distributor แล้วเขานำสินค้าเราไปจัดแสดงในงานที่ Frankfurt Gift Fair ซึ่งเป็นใหญ่ระดับโลกซึ่งจัดที่ Frankfurt ประเทศเยอรมนี เมื่อนำของไปแสดงที่นี่ ก็หมายความว่าลูกค้าทั่วโลกที่สนใจงานเซรามิกก็จะได้เห็น และสั่งซื้อต่อไป ลูกค้าหลักๆ ของเราก็มักอยู่ในยุโรป และอเมริกา ส่วนภูมิภาคอื่นก็มีสั่งสินค้าเราบ้าง งานของเราเป็น handy craft เช่น ดอกไม้เซรามิก ทำเป็นที่วางเทียนไข หรือทำให้กับพวก Aroma พวกที่ต้องใช้กับเครื่องหอมต่างๆ ซึ่งเป็นของประดับบ้าน เป็นส่วนมาก เราทำสินค้าเป็นเสมือนของที่เป็นธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ เพื่อใช้ตกแต่งบ้าน ด้วยความที่เราเป็น handy craft ที่เป็น hand made เราก็ยังมีลูกค้าอยู่บ้าง แม้จะลดลงไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้สั่ง โรงงานเราเคยเป็นโรงงานใหญ่ มีคนงาน 300 คน ในยุคที่สินค้าของเราได้รับคำสั่งซื้อมากๆ แต่ปัจจุบันเหลือพนักงานประมาณ 20 กว่าคนเท่านั้น เพราะมีคู่แข่งมากขึ้น แต่ที่เรายังอยู่ได้ เพราะสินค้าของเรามีเอกลักษณ์ และประกอบกับปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครผลิตงาน hand made เพราะทำได้ช้า ไม่สามารถผลิตครั้งละเป็นแสนๆ ล้านๆ ชิ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผลิตแบบเรานั้น หลายคนบอกว่าไม่คุ้มค่ากับการผลิต เขาหันไปผลิตแบบ mass products คือผลิตได้ครั้งละหลายหมื่นชิ้นในเวลาเพียงสั้นๆ
l แต่สินค้า hand made ราคาแพงนะครับ และมีคุณค่ามากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละมากๆ แต่ปัญหาคือหาแรงงานผลิตได้ยากขึ้นทุกวัน ใช่ไหมครับ
คุณขนงนาฏ : ใช่ค่ะ ราคาของ hand made มักจะแพงกว่าสินค้าที่ผลิตโดยโรงงานที่ผลิตได้ครั้งละมากๆ แต่มันแพงที่ขั้นสุดท้าย คือเมื่อคนขายคนสุดท้ายขายของให้กับลูกค้า แต่สำหรับผู้ผลิตแล้ว ได้ราคาไม่สูงมากนัก ราคาจากแหล่งผลิตไม่แพงมากนัก แต่ราคาจะถูกบวกเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงมือผู้ซื้อคนสุดท้าย นั่นแหละราคาจึงแพงมาก สาเหตุที่งานแบบนี้มีราคาแพงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ เป็นเพราะในบ้านของเขา ไม่มีใครผลิตสินค้าแบบนี้อีกแล้ว เขาไปผลิตอย่างอื่นที่ได้เงินมากกว่า งานแบบนี้มักผลิตจากเอเชียเป็นส่วนมาก เพราะค่าแรงยังถูก และยังมีวัตถุดิบให้ผลิตได้อีก มีอยู่ยุคหนึ่งเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว สินค้าจำพวกนี้เป็นที่ต้องการและขายดีมาก แต่ไม่ใช่ยุคนี้อีกแล้ว สำหรับพี่เองก็คิดว่า หากเราทำไมไหวก็ต้องเลิกทำ เคยพูดเล่นๆ กันว่า เอาเถอะ เมื่อหมดคนรุ่นเราแล้ว คือทั้งเจ้าของและคนงาน ก็คงเลิกผลิต เพราะหาคนทำต่อยากมาก ลูกๆ หลานๆ ของคนงานเหล่านี้ก็ไม่สานต่อ เขาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กันเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครสนใจงานแบบนี้มากนัก งานแบบนี้ต้องใช้ความอดทนสูง และต้องรักจริงๆ จึงจะทำได้ หากคิดว่าทำเพียงหาเงินเลี้ยงกระเพาะ เขาก็ไปทำงานอื่นกันหมด
l เมื่อสักครู่บอกว่าในยุคที่ผ่านมานั้น สินค้าแบบนี้ขายดีมาก แต่ปัจจุบันทำไมจึงขายไม่ดีครับ
คุณขนงนาฏ : ก็ยังพอขายได้นะคะ แต่ไม่ดีเท่ายุคที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดีด้วย สินค้าที่เราผลิตนั้นมันไม่ใช่สินค้าปัจจัย 4 มันจึงไม่ใช่ของจำเป็นในชีวิต มันเป็นของที่จะขายได้ดีเมื่อเศรษฐกิจดี และคนมีกินมีใช้มากๆ แล้ว หากเศรษฐกิจไม่ดี ของแบบนี้ก็กลายเป็นของฟุ่มเฟือยไปโดยปริยาย ตัวอย่างเข่น จานชามเซรามิกนั้นดูแล้วสวยดี แต่หากคนเราเศรษฐกิจไม่ดีก็กินข้าวด้วยจากพลาสติกก็ได้ เพราะกำลังซื้อของที่นอกเหนือปัจจัยสี่มีไม่เพียงพอ งานศิลปะต้องใช้เงินในการหล่อเลี้ยงและดูแล เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี งานศิลปะก็ไม่เฟื่องฟูดังนั้น คนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น จึงจะสนใจและซื้อหา แต่ก็ขึ้นกับรสนิยมของบุคคลอีก บางคนมีเงินแต่อาจไม่ชอบของแบบนี้ก็ได้ เขาจึงไปซื้อของอื่นๆ แทน
l ในยุคที่โรงงานแห่งนี้มีคนงาน 300 คน ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของกิจการเลยใช่ไหมครับ
คุณขนงนาฏ : ก็ใช่นะคะ แต่ยุคทองที่ว่านั้นหมดไปแล้ว สำหรับพี่ พี่ไม่เคยเลิกจ้างคนงานนะคะ เราถึงว่าอยู่กันไปจนกว่าจะไปไม่ไหว ในสมัยก่อนเมื่อคนสั่งสินค้าของเรามากๆ คนงานมีงานทำ มีเงินดี แต่พอมายุคหนึ่ง ย่านวัชรพล (ที่ตั้งโรงงาน) มีความเจริญขึ้น ค่าหอพักแพงขึ้นที่ดินราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่งานที่เรากลับน้อยลง คนงานก็ค่อยๆ ทยอยกลับบ้านต่างจังหวัด เพราะสู้ราคาค่าครองชีพในเมืองไม่ไหว ทั้งๆ ที่บริเวณนี้ถือว่าอยู่ชานเมืองของกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่สามารถหนีปัญหาค่าครองชีพสูงได้ คนงานก็ลดลงไปเรื่อย ส่วนคนงานปัจจุบัน เป็นคนละแวกนี้ มีบ้านพักอยู่แถวๆ นี้ เขาไม่มีปัญหาค่าที่พัก เขาจึงทำงานกับเราได้ เพราะโรงงานอยู่ใกล้บ้าน เราก็จึงอยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ อีกอย่างหนึ่งยุคนี้มีคู่แข่งมาก เช่น จีนเขาผลิตด้วยโรงงาน ผลิตทีหนึ่งเป็นแสนๆ ชิ้น เขาทำได้เยอะกว่า เราก็สู้เขายาก แม้เขาจะผลิตจากโรงงานก็ตาม แต่เมื่อราคาของเขาถูกกว่า คนก็หันไปซื้อของที่ถูกกว่าเป็นธรรมดา เขาไม่ได้มองเรื่อง hand made ร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป เน้นราคาถูกมากกว่า
l คนงานในโรงงานนี้ สมัยที่มาเริ่มทำงานกับโรงงาน พี่ต้องสอนงานเขาก่อนไหม หรือเขามีทักษะการผลิตอยู่แล้ว
คุณขนงนาฏ : สมัยก่อนเรามีคนจบจากเพาะช่าง และจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คนเหล่านั้นก็ช่วยสอน ช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตให้ สอนจนทุกคนผลิตได้อย่างชำนาญ คนงานบางคนจบชั้น ป. 6 ไม่มีความรู้ด้านศิลปะมาก่อน แต่ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีฝีมือดีมาก เป็นเพราะเขาชอบงานนี้ จึงตั้งใจศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญ งานแบบนี้ต้องทำด้วยใจรัก หากใจไม่รัก ก็ทำไม่ได้แน่นอน ส่วนเรื่องค่าแรงนั้น พี่ใช้หลักตกลงร่วมกัน พี่ถามคนงานว่าต้องการค่าแรงเท่าไร ตอบมาก หากให้ได้เราก็ไปด้วยกันต่อ แต่พี่จะบอกคนงานเสมอๆ เรากินข้าวหม้อเดียวกัน เราต้องไปด้วยกัน หากพี่ไปไม่ได้ ทุกคนก็จบพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ขอให้คิดว่าเราต้องไปด้วยกันให้ได้ เขาก็เข้าใจ เขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรจนเกินเหตุ พี่คุยเรื่องค่าแรงกับคนงานแบบเปิดอก แล้วเมื่อผลิตสินค้าได้ เราก็ไปต่อด้วยกันได้จนถึงทุกวันนี้ เรารู้ต้นทุนการผลิต แล้วเราก็ไปบวกกำไรจากการขายเอาเอง แต่เราให้ค่าแรงตามที่คนงานพอใจ แต่พี่ไม่เคยกดค่าแรงพี่โชคดีที่คนงานพูดภาษาเดียวกับพี่ จึงทำงานมาได้ทุกวันนี้
l ปัจจุบันมีคู่แข่งการผลิตสินค้าแบบที่เราทำ คือประเทศไหนครับ
คุณขนงนาฏ : ในแถบเอเชียใกล้ๆ บ้านเราก็จะมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เป็นต้น เขาก็มีฝีมือดีนะ แถมค่าแรงในประเทศดังกล่าวถูกกว่าบ้านเราพูดรวมๆ คือค่าแรงเขาถูกกว่าไทย และมีวัตถุดิบมากกว่าไทย งานฝีมือที่เป็น hand made มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือค่าแรง หากค่าแรงแพง เราก็สู้คู่แข่งยาก
l วัตถุดิบสำหรับการผลิตในยุคนี้ หายากกว่ายุคก่อนๆ มากไหมครับ
คุณขนงนาฏ : โดยรวมแล้วหายากกว่าเดิมมาก แต่ยังหาได้ค่ะ วัตถุดิบในการผลิตของเรานั้นมีทั้งจากในประเทศไทยและต้องนำเข้า เช่น จากไต้หวัน แต่ส่วนมากใช้วัตถุดิบในบ้านเราเป็นสำคัญ แต่ก็มีบางช่วงเหมือนกันที่สินค้าวัตถุดิบในบ้านเราขาดตลาด เช่น ต้องรอดิน ก็ทำให้
พี่คิดว่า เอ๊ะ! นี่เราผลิตสินค้าแล้วทำลายทรัพยากรของประเทศ และของโลกมากเกินไปหรือเปล่านี่ เพราะทำๆ ไปแล้วดินหมด ก็เคยคิดนะว่า เราทำลาย ทำร้ายประเทศหรือเปล่า เพราะพี่คิดเสมอว่าจะไม่ทำกิจการอะไรก็ตามที่ทำลายประเทศชาติ ไม่เคยคิดทำมาหากินด้วยการทำลาย ล้างผลาญประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอน
l งานศิลปะกับการช่วยเหลือสังคม ในมุมมองและการกระทำที่ผ่านๆ มาของพี่แก้วคืออะไรครับ
คุณขนงนาฏ : งานศิลปะคืองานที่ช่วยให้พี่และคนร่วมงานมีอาชีพ มีเงินใช้ เมื่อเรามีกินมีใช้แล้ว เราก็คิดตลอดเวลาว่า เราต้องทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน และต้องช่วยเหลือคนและสัตว์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ กลุ่มเราคิดแบบนี้มาตลอด ส่วนตัวพี่เองเป็นคนรักหมารักแมว รักสัตว์ แรกๆ เราก็ช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยหมาแมวจรจัดในเขตเมือง แล้วเราก็คิดว่าเราต้องช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เมื่อหลายปีก่อน พี่และเพื่อนๆ ไปช่วยงานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แล้วก็ได้พบกับคุณแม่นกเงือก อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ก็เข้าไปช่วยงานอนุรักษ์นกเงือก เพราะเห็นว่านกเงือกมีความสามารถช่วยปลูกป่าให้บ้านเราได้อย่างดี เพราะเขาบินไปไหนต่อไหนไกลแสนไกล จากใต้สุดไปเหนือสุด ไปทั่วประเทศ แล้วเขาก็ถ่ายออกมา โดยในมูลของเขามีเมล็ดต้นไม้สารพัดชนิด เขาไปถึงไหน เขาก็ปลูกป่าให้เราได้ทั่ว แต่เขามีปัญหาคือไม่มีโพรงสำหรับให้ลูกอ่อนได้อยู่อาศัย เพราะต้นไม้ใหญ่ที่เป็นแหล่งอาศัย และเป็นโพรงให้ลูกอ่อน ถูกตัดโค่นจนเกือบหมดแล้ว เราก็ไปช่วยกันสร้างโพรง หรือสร้างบ้านให้นกเงือก โดยการสร้างโพรงไม้แล้วนำไปติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ที่นกเงือกสามารถเข้าไปวางไข่ และฟักลูกอ่อนได้ จากงานนี้ก็ทำให้รู้จักคนในกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น ก็ร่วมงานกันไปเรื่อยๆ หลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอนุรักษ์ห้วยขาแข้ง โดยรู้จักพี่คนหนึ่งที่เป็นเจ้าของร้าน Booktopia ที่อุทัยธานีพี่เขาอนุรักษ์ห้วยขาแข้ง เมื่อเขามีกิจกรรมอะไรก็ตาม เราก็ไปช่วยกันอย่างแข็งขัน รู้จักใคร พี่ก็ชวนเข้าร่วมกลุ่ม แล้วก็ทำงานอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้งมาตลอด
l แล้วไปอย่างไรมาอย่างไร จึงได้เกิดกลุ่มศิลปะร่วมแซ่ซ้องชาติไทย
คุณขนงนาฏ : มันน่าจะมาจากการที่เราเห็นคนในบ้านเมืองของเราจำนวนหนึ่งเกิดความคิดแตกแยกทางการเมือง แบ่งเป็นพวก เป็นฝ่าย แล้วก็เกิดการโจมตีบ้านเมืองตัวเอง เราเห็นแล้วก็คิดว่าจะตีกันด้วยเรื่องการเมืองก็ตีกันไปเถอะ แต่ทำไมต้องทำร้ายประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง พี่เห็นแล้วไม่สบายใจ ก็เลยพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อบอกสังคมว่าประเทศไทยของเราดี บ้านเมืองของเราดี อย่าดูถูกบ้านเมืองประเทศชาติของเรา มาช่วยกันรักบ้านรักเมืองของเราดีกว่า พอดีไปเจองานของโรจน์ สยามรวย (ไพโรจน์ ธีระประภา) ซึ่งเป็นเพื่อนๆ กัน โรจน์เขามีฝีมือด้านงานกราฟิกดีไซน์ เราก็คุยกันว่าจะทำอะไรให้กับบ้านเมืองได้บ้าง โรจน์เขาออกแบบตัวอักษรได้สวยงาม เขาได้รับรางวัลเลขศิลป์ ศิลปาธร เราก็คิดกันว่านำเอาตัวอักษรภาษาไทยที่โรจน์ออกแบบไปทำอะไรดีหนอ แล้วก็มีผู้เสนอว่าทำเสื้อสิ ทำเสื้อพี่น้องจงแซ่ซ้องชาติไทย เสื้อรักเมืองไทยชูชาติไทย และประเทศกูดี เหล่านี้ แรกๆ ก็ไม่ได้คิดทำขาย แต่ทำเพื่อให้กลุ่มของเราเอง เพราะเราต้องการบอกว่าเรารักบ้านรักเมืองของเรา แต่เมื่อเรื่องนี้กระจายไปในสังคม ผู้คนต่างๆ ให้ความสนใจมาก ก็เลยกลายเป็นการรวมกลุ่มด้วยการแสดงออกผ่านงานศิลปะเรารักบ้านเมืองของเรา เราต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองด้วยวิธีการของเรา แล้วเราก็ได้รู้ว่าเราไม่ได้คิดเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว แต่คนไทยอีกมากมายก็คิดแบบเรา ก็จึงเกิดกลุ่มก้อนขึ้นมา มันเป็นพลังที่มีความสำคัญ มันไม่ได้อยู่เงียบๆ อีกต่อไป แต่เรามีเครือข่ายทั่วประเทศ เราไม่ได้มองว่าคนในกลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่มาซื้อเสื้อที่เราผลิตขึ้น แต่เรามองว่าเขาคือเพื่อนร่วมแนวคิดของเรา เราติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา แล้วเราก็สื่อสารกันว่าเราต้องทำหน้าที่รักษา ทำนุบำรุงบ้านเมืองของเราไว้ ใครจะว่าบ้านเมืองของเราไม่ดี แต่เรายืนยันว่าบ้านเมืองของเรา ประเทศไทยของเราดี แล้วเราก็ยังทำกิจกรรมต่างๆ นานา เพื่อบ้านเพื่อเมืองของเรา นี่ก็มีเสียงเรียกร้องว่าใกล้ถึงวันที่ 13 ตุลาคมแล้ว เราต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา แม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ก็ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของพวกเราไม่เสื่อมคลายก็คิดว่าจะทำเสื้อเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน
l ถามว่าทำไมต้องทำเสื้อครับ
คุณขนงนาฏ : ก็เพราะว่าเมื่อเราสวมเสื้อที่แสดงออกถึงสัญญะที่เราต้องการบ่งบอก ก็คือการแสดงให้สาธารณชนได้เห็น เพราะเสื้อเป็นสื่อที่ช่วยประกาศให้สาธารณชนเห็นได้ เมื่อเราสวมเสื้อที่แสดงสัญญะชัดๆก็คือการบ่งบอกว่าเรารักบ้านรักเมือง รักประเทศไทยรักพระเจ้าอยู่หัว เมื่อสวมเสื้อไปยังที่แห่งใด ก็มีคนเห็นได้ชัด ผิดกับแก้วน้ำหรือภาชนะอื่นๆ ที่มันต้องอยู่เฉพาะบนโต๊ะอาหาร โต๊ะทำงาน หรือในบ้านเท่านั้น พี่มองว่าเมื่อเรารักบ้านเมืองของเรา เราก็ต้องประกาศให้สังคมรับรู้ เพราะไม่ควรจะเก็บเงียบไว้ในใจ ในขณะที่อีกฝ่ายประกาศชัดเจนว่าไม่รักบ้านรักเมือง ไม่ศรัทธาในบ้านเมืองของเรา เราก็ต้องประกาศจุดยืนของเราให้ชัดออกไป แต่ไม่ได้ต้องการเผชิญหน้า หรือปะทะกันแต่อย่างใด แค่ต้องการบอกว่าเราภาคภูมิใจในบ้านเมืองของเรา
l มีบางคนบอกว่า งานศิลปะไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง มองเรื่องนี้อย่างไรครับ
คุณขนงนาฏ : สำหรับพี่และกลุ่มพี่ไม่คิดแบบนั้นเพราะศิลปะกับชีวิตของมนุษย์มันเกี่ยวข้องกันตลอดเวลาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น งานศิลปะในอาหารการกิน ในการแต่งตัว ในการแสดง ในงานพิธีกรรม และในวรรณกรรม แม้กระทั่งในเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่มีเพื่อนๆ ที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะ และทำงานด้านศิลปะกับการเมือง เช่น อาจารย์ป๊อปและชลิต นาคพะวัน คนกลุ่มนี้มีความชัดเจนในการนำเสนองานศิลปะกับการเมืองมาก เราเชื่อว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับทุกภาคทุกตอนของชีวิตมนุษย์ เราไม่เคยกีดกันศิลปะออกจากการเมือง มนุษย์กับงานศิลปะแยกจากกันไม่ได้หรอก
l งานศิลปะมีส่วนช่วยสังคมโดยรวม และช่วยมนุษยชาติอย่างไรบ้างครับ
คุณขนงนาฏ : ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของโรงงานเซรามิกซึ่งเป็นการทำงานศิลปะแขนงหนึ่ง และในฐานะผู้เปิดโรงเรียนสอนงานศิลปะ เราทำงานศิลปะมาตลอด ตั้งแต่เด็กจนได้ไปเรียนที่นิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราอยู่กับงานศิลปะเรื่อยมา เราเห็นชัดว่างานศิลปะช่วยให้คนมีงานทำ มีความสุข และช่วยแก้ปัญหาให้คนและสังคมได้ คนบางคนมีวิธีระบายความเครียดไม่เหมือนกัน บางคนออกกำลังกาย แต่บางคนใช้งานศิลปะเป็นตัวระบายความเครียด ได้ปลดปล่อยบ้างสิ่งที่มันอัดอยู่ในใจออกไป คนที่มีสมาธิกับการทำงานศิลปะจะลืมเรื่องทุกข์ร้อนไปได้ พี่ดีใจมากที่พ่อแม่พาลูกที่ติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือมากๆ มารู้จักกับการทำงานศิลปะ พ่อแม่บอกว่าดีใจที่ลูกวางโทรศัพท์มือถือลงได้ เมื่อวาดรูป หรือได้ทำงานปั้น หรือได้เล่นดนตรี แต่พี่ก็บอกพ่อแม่เด็กๆ ว่าอย่าบังคับลูกให้ต้องมาเรียนรู้เรื่องงานศิลปะ หากเขาไม่ชอบ ก็อย่าฝืนเขา แต่ถ้าเขาชอบ เขาจะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข ซึ่งก็จริง เพราะได้เห็นเด็กจำนวนไม่น้อยอยู่กับงานศิลปะแล้วมีความสุข อยู่ได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่เด็กที่ไม่ชอบงานศิลปะ เช่น ไม่ชอบวาดรูป ไม่ชอบปั้น ก็อย่าไปฝืนเขา เขาอาจจะมีหัวด้านงานศิลปะในมุมอื่นๆ ก็ต้องค้นหาให้เจอ
l กลับมาปิดท้ายด้วยประเด็นศิลปะกับการแซ่ซ้องชาติไทยอีกทีครับ ทำไมจึงเกิดประเด็นนี้ขึ้นมาครับ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนไม่มีเรื่องเหล่านี้
คุณขนงนาฏ : พี่ว่าเพราะบ้านเมืองมันเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างหนักในหมู่ผู้คน เราก็จึงอยากให้แต่ละคนค่อยๆ หันมามองว่าบ้านเมืองของเรามีความสำคัญ เราไม่ควรทำลายบ้านเมืองแผ่นดินเกิดของเราเองจะแตกจะแยกกันก็ตามสบาย แต่อย่าทำลายบ้านเมือง เพราะหากเราทำลายบ้านเมืองของเราแล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร เมื่อบ้านเมืองแตกแยก เราก็หาความสุขกายสบายใจไม่ได้ เมื่อเราเป็นคนไทยแต่เรากลับไม่เห็นความสำคัญของประเทศไทย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ลองคิดดูดีๆหากบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ใครเดือดร้อน เราคนไทยเดือดร้อนใช่ไหม เรามาร่วมกันรักบ้านรักเมือง มาร่วมกันแซ่ซ้องชาติไทยของเราด้วยกันเถอะ รักษาบ้านเมืองไว้ให้ยืนยงตลอดไป
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น.ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี