ฟิลิปส์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของอันตรายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ารณรงค์ถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการให้ความรู้ด้านการช่วยชีวิตเบื้องต้นในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest: SCA) ที่อาจเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยเมื่อภาวะดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรมีความรู้พื้นฐานในการช่วยชีวิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนทั่วไป คือ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือภาวะเดียวกันกับภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เมื่อหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สามารถทำงานได้ปกติ หัวใจจะทำงานด้วยจังหวะการเต้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยเฉลี่ย 36-42 ล้านครั้งต่อปี โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจหยุดทำงานอย่างกะทันหันด้วยความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่าง
มีการเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation : VF) ซึ่งจะเกิดขึ้นในทันทีโดยไม่มีสัญญาณของอาการอื่นๆ เกิดขึ้นล่วงหน้า และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายจนการทำงานของอวัยวะผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จะทำให้คนไข้มีอาการหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยการ CPR และใช้เครื่อง AED อย่างทันท่วงที
ในขณะที่ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart Attack) คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่สามารถสังเกตได้ เช่น อาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออกเยอะ ใจสั่น หายใจสั่นและรู้สึกหายใจไม่อิ่ม อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ภาวะมีความเกี่ยวเนื่องกันเพราะการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทำให้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคหัวใจมาก่อนได้
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ หรือหากบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้ในทันที เพราะอ้างอิงจากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาพบว่า 90% ของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (Out-of-Hospital Cardiac Arrest : OHCA) มักเสียชีวิตในทันที ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าตามสถานที่ต่างๆ จึงมีการติดตั้งเครื่อง AED ทั้งในสนามบิน โรงเรียน สนามกีฬา สถานีรถไฟฟ้าหรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็ตาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในขั้นเบื้องต้นจำเป็นต้องใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่าร้อยละ 50 เกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะของหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ หากเกิดภาวะนี้จำเป็นต้องใช้เครื่อง AED เพื่อคืนคลื่นหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าถ้าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต จึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเครื่อง AED สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น โดยข้อมูลสถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า การใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึง 45%
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถทำตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้องเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต (Thai Resuscitation Council) ได้เปิดการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaicpr.org/?mod=course
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี