วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
เบื้องหลังความวิจิตรของนาฏศิลป์ชั้นสูง‘โขนราชสำนัก’

เบื้องหลังความวิจิตรของนาฏศิลป์ชั้นสูง‘โขนราชสำนัก’

วันเสาร์ ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : โขนราชสำนัก
  •  

กว่าจะออกแสดงได้นั้น ตัวแสดงทุกตัวต้องผ่านการคัดเลือก และต้องฝึกซ้อมอย่างหนักมาก เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แล้วที่สำคัญคือในการแสดงนั้นยังมีผู้ร่วมงานอีกหลายร้อยชีวิต โดยทุกคนตั้งใจอย่างมากที่จะให้การแสดงหน้าฉากออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด


ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับตัวแทนนักแสดงโขน ตอนกุมภกรรณทดน้ำ ซึ่งมีทั้งผู้แสดงเป็นกุมภกรรณ หนุมาน และนางกำนัลที่รับบทหนุมานแปลงกาย โดยทุกคนบอกตรงกันว่าการแสดงโขนที่ออกมางดงามสมบูรณ์แบบนั้นมีองค์ประกอบมากมาย และต้องได้รับความร่วมมือจากคณะทำงานหลายร้อยชีวิต

คุณวุฒิชัย นราแก้ว รับบทกุมภกรรณ ตอนรบกับหนุมาน และตอนเห็นนารายณ์สี่กร

● สวัสดีครับ ปีนี้รับบทสำคัญมากคือกุมภกรรณในฉากสำคัญ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องศรพระราม กราบถวายบังคมพระรามขออภัยโทษที่ได้ล่วงเกิน บทนี้สำคัญอย่างไรครับ

คุณวุฒิชัย : สำหรับบทรบกับหนุมานก็ถือได้ว่าต้องใช้กำลังในการแสดงค่อนข้างมาก เป็นฉากที่เร้าใจผู้ชม แต่สำหรับฉากที่ต้องศรพระราม จนใกล้จะตายนั้น ฉากนี้สำคัญมาก เพราะผู้กำกับการแสดง (ครูศุภชัย จันทร์สุวรรณ) ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า กุมภกรรณนั้นไม่รู้มาก่อนว่าพระรามคือพระนารายณ์อวตาร แต่เมื่อรู้แล้วก็ขอถวายบังคมขออภัยโทษที่ล่วงเกิน แล้วยังมีความสำคัญอีกตรงที่กุมภกรรณได้สอนให้พิเภกจงดำรงตนอยู่ในลู่ทางที่เหมาะสม ถวายความจงรักภักดีต่อพระราม และตั้งใจถวายงานไปจนกว่าจะถึงวันตาย ฉากนี้นับว่าสำคัญมาก เพราะแสดงถึงความสำนึกผิดที่ได้ล่วงเกินพระนารายณ์ และความรักใคร่หวังดีที่พี่มีต่อน้อง 

 

● เป็นแง่คิดที่ให้ข้อเตือนใจที่ดีมากครับ ขอถามต่อครับ กุมภกรรณที่แสดงในตอนนี้ ใช้ตัวแสดงทั้งหมดกี่คนครับ

คุณวุฒิชัย : ทั้งหมด 12 ตัวครับ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ตัวแสดง โดยจะแบ่งบทกันไปตามความเหมาะสม เพราะบางบทแสดงยาก ก็ต้องให้ชั้นครูรับบทไป เช่น ฉากยกรบ ฉากต้องศรพระราม เป็นต้น ส่วนฉากอื่นๆ ที่แสดงได้ง่าย ก็มอบให้ตัวแสดงรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลป์รับไป เพื่อเป็นการฝึกซ้อมสำหรับการแสดงในปีต่อๆ ไปสำหรับตัวแสดงในแต่ละกลุ่มจะแบ่งบทตามนี้ คือ ตอนอยู่ในท้องพระโรงกรุงลงกา เข้าเฝ้าทศกัณฐ์ ตามมาด้วยตอนอยู่กับนางคันธมาลี และตอนทำพิธีทดน้ำ ตอนตรวจพลรบ และตอนยกรบ แล้วปิดท้ายด้วยตอนกราบถวายบังคมขออภัยโทษพระราม แต่ละตอนจะมีความยากความง่ายต่างกันไป สำหรับผมนั้นได้มีโอกาสร่วมงานกับโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯมากว่า 10 ปี เริ่มมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา จนปัจจุบันเป็นครูสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผมรับบทในโขนมูลนิธิฯ มาแล้วหลายบท เช่น เป็นอินทรชิตในตอนนาคบาศ เป็นทศกัณฐ์ในตอนสืบมรรคา เป็นไมยราพในตอนสะกดทัพ แล้วปีนี้รับบทกุมภกรรณครับ

● รับบทสำคัญคือยักษ์ชั้นสูงมาตลอด ขอทราบว่าการที่จะได้รับบทสำคัญนี้ มีปัจจัยพื้นฐานอะไรบ้างครับ

คุณวุฒิชัย : ครูท่านจะดูจากรูปร่าง และการแสดงของเราเป็นสำคัญว่าเราเหมาะกับตัวละครใด อย่างตัวผมนี้มีรูปร่างสูงใหญ่พอประมาณครูท่านให้รับบทยักษ์ โดยแรกๆ ผมก็ฝึกท่าของตัวละครต่างๆ ตามหลักสูตรการเรียน แต่เมื่อเรียนแล้วครูท่านมอบบทยักษ์ให้ จริงๆ แล้วผมก็เคยรับบทพระ แต่ทว่าเมื่อพูดตามหลักความถนัดแล้ว ผมแสดงบทพระได้ไม่ดีเท่าเพื่อนที่รับบทพระมาโดยตลอด คือ ในการแสดงโขนนั้นตัวละครจะต้องเล่นบทอื่นๆ ได้ด้วย แต่สุดท้ายก็จะเน้นเฉพาะบทที่แต่ละคนถนัดมากที่สุด เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด คนรูปร่างสูงอย่างผม หากไปรับบทหนุมานก็ไม่เหมาะ เพราะไม่เข้ากับบุคลิกลักษณะของหนุมาน มันเป็นเรื่องของการฝึกซ้อมและความถนัดที่ต้องเป็นไปตามบุคลิกลักษณะและรูปร่างเป็นสำคัญครับ

● โขนตอนกุมภกรรณทดน้ำ มีความโดดเด่นที่สุดตรงไหนครับ

คุณวุฒิชัย : ก่อนอื่นต้องเล่าว่าตอนนี้ต่อมาจากตอนศึกโมกขศักดิ์ที่พระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ แล้วเมื่อพระลักษมณ์ไม่สิ้นชีพ ก็ต้องมีตอนต่อคือตอนกุมภกรรณทดน้ำ คือการที่กุมภกรรณเนรมิตกายให้ใหญ่โตเท่าภูเขาแล้วไปขวางทางน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไปถึงบริเวณที่ตั้งทัพของเหล่าวานร ทหารของพระราม ฉากนี้ก็ดูแล้วสนุก เพราะมีเทคนิคพิเศษน่าสนใจแต่ฉากที่สำคัญที่สุดคือฉากสุดท้ายเมื่อกุมภกรรณต้องศรพระรามแล้ว เมื่อใกล้จะสิ้นชีพ ก็เห็นว่าพระรามคือพระนารายณ์สี่กร กุมภกรรณก็รู้แล้วว่าตนได้กระทำผิดต่อพระนารายณ์ จึงขอพระราชทานอภัยโทษที่ล่วงเกินแล้วก็มีฉากพี่สอนน้อง น้องคือพิเภก ซึ่งกุมภกรรณได้สอนพิเภกให้จงรักภักดีต่อพระรามตลอดไป และสอนถึงหลักการดำรงชีวิตให้อยู่ในลู่ทางแห่งความดี ซึ่งตอนนี้กินใจผู้ชมเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วกุมภกรรณไม่ใช่ยักษ์เลวร้าย แต่ที่ต้องออกรบกับกองทัพพระราม เพราะเห็นแก่พี่ชาย คือทศกัณฐ์ เมื่อพี่ชายสั่งให้ทำก็จึงต้องทำ

● ถามเรื่องการแสดง เพราะเห็นว่าแม้จะแสดงมาหลายรอบแล้ว แต่ก็ยังต้องซ้อมอยู่เสมอ ช่วยเล่าความสำคัญของการซ้อมตลอดเวลาให้ทราบด้วยครับ

คุณวุฒิชัย : จำเป็นต้องซ้อมตลอดเวลาครับ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ขอเล่าให้ฟังว่าการแสดงโขนของตัวละครที่ต้องสวมหัวโขนมีความจำเป็นมาก เพราะเมื่อสวมหัวโขนแล้วผู้แสดงจะเห็นภายนอกโดยการดูจากช่องลูกตาที่เจาะไว้เท่านั้น แต่ภายในหัวโขนจะมืดมาก ประกอบกับตัวแสดงมีหลายตัว ก็จึงต้องฝึกซ้อมเสมอๆ เพื่อให้จังหวะการแสดงลงตัว ขอเล่าเพิ่มเติมครับ เมื่อสวมหัวโขนแล้วมองออกไปจากช่องลูกตาเล็กๆ ทำให้การแสดงยากกว่าการเปิดหน้า เพราะบางครั้งแสงไฟส่องเข้ามาในตาของนักแสดงทำให้อาจจะเกิดการผิดพลาดเรื่องตำแหน่งที่แสดงบนเวที ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงน้ำหนักของเครื่องทรงที่หนักหลายกิโลกรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกซ้อมตลอดเวลา ต่อให้แสดงมาแล้วหลายรอบก็ตาม เพราะบางครั้งเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า จะได้แก้ไขได้ทันการณ์ 

● เมื่อสวมหัวโขนแล้ว ทำไมหัวโขนจึงยังตรึงอยู่ได้ แม้จะมีบทรบ หรือมีบทกระโดดตีลังกา โดยเฉพาะเหล่าวานรตัวเอก เช่น หนุมาน 

คุณวุฒิชัย : ศีรษะโขนเป็นของส่วนรวม แต่เมื่อเรารับบทใด เราก็สวมหัวโขนตัวนั้น ดังนั้นหัวโขนจึงไม่ได้ fixed กับศีรษะของตัวแสดงอย่างลงตัวมากนัก เราต้องมีฟองน้ำเสริมเพื่อให้พอดีกับศีรษะ และต้องมีเชือกคาบ คือการขวั้นเชือกแล้วนำเชือกนั้นไปติดกับไม้ไผ่เหลาเป็นอันเล็กๆ แล้วใช้ไม้ไผ่กับเชือกคาบติดกับช่องที่บริเวณปากของหัวโขน แล้วตัวแสดงต้องคาบเชือกไว้ตลอดเวลาที่แสดง เพื่อให้หัวโขนไม่หลุดล่วง ซึ่งนี่ก็นับเป็นความยากอีกประการหนึ่งของการแสดงโขน โดยเฉพาะตัวละครที่ต้องสวมหัวโขนตลอดเวลา แล้วยังต้องมีบทรบ หรือบทกระโดดตีลังกา ที่เล่ามานี้คือบางช่วงบางตอนของการแสดงหน้าฉากเท่านั้น หากจะพูดถึงการแสดงโขนจริงๆ ยังต้องพูดถึงผู้ร่วมงานอีกมากมายหลายร้อยชีวิต เช่น นักร้อง นักดนตรี นักพากย์ ช่างแต่งองค์ทรงเครื่อง ช่างผม ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ ช่างเทคนิค ผู้ฝึกซ้อม ผู้กำกับการแสดง และคนอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังที่ต้องทำงานต่างๆ ให้ประสานกันลงตัวมากที่สุด ซึ่งต้องบอกว่าการแสดงโขนแต่ละครั้งต้องใช้สรรพกำลังของคนหลายร้อยคนเพื่อให้การแสดงหน้าฉากออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด

คณธนภัทร บุญใบ รับบท กุมภกรรณ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกาและฉากอยู่กับนางคันธมาลี

● สวัสดีครับ วันนี้รับบทสำคัญคือกุมภกรรณ ทั้งๆ ที่ยังเป็นนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ แสดงว่าต้องมีฝีมือดีมาก ขอถามว่าร่วมเล่นโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มากี่ครั้งแล้วครับ และขอถามว่าเรียนอยู่ชั้นปีไหนครับ

คุณธนภัทร : ผมเรียนอยู่ระดับมัธยมของวิทยาลัยนาฏศิลป์ครับ และเคยรับบทเสนายักษ์ในการแสดงโขนตอนสะกดครับ 

● น้องยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม แต่มีฝีมือดีมาก จึงได้รับบทกุมภกรรณ ครูที่คัดเลือกให้รับบทนี้บอกไหมครับว่าทำไมจึงมอบบทนี้ให้น้อง

คุณธนภัทร : ครูท่านไม่ได้บอกอะไรครับ ท่านให้ผมแสดงรำหน้าพาทย์ให้ดู แล้วก็ให้แสดงบทยักษ์ให้ดู แล้วท่านก็มอบบทนี้ให้ผมครับ

● สนใจเรียนนาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะโขน เพราะอะไรครับ ที่บ้านสนับสนุนหรือว่าเลือกเพราะใจรักครับ

คุณธนภัทร : ผมขอที่บ้านเรียนครับ ผมอยากเรียนครับ ตอนสมัยเด็กๆ ผมดูโขนในโทรทัศน์ แล้วบอกพ่อแม่ว่าอยากเรียนโขน เพราะดูแล้วงดงาม เป็นการแสดงที่งดงามมาก การแต่งองค์ทรงเครื่องงดงาม ท่ารำก็สวยมาก

● น้องเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่มาก เหมาะกับบทยักษ์ชั้นสูงมาก ครูได้บอกเรื่องนี้ไหมครับ

คุณธนภัทร : ครูท่านไม่ได้บอกครับ แต่ท่านฝึกสอนผมแบบเข้มข้นมากครับ แต่ผมก็ชอบบทยักษ์ชั้นสูงมากด้วยครับ

● ฝึกซ้อมท่าทางวันละกี่ชั่วโมง และซ้อมทุกวันไหมครับ

คุณธนภัทร : ซ้อมวันละ 2-3 ชั่วโมงครับ แต่ไม่ได้ซ้อมทุกวัน อาทิตย์หนึ่งก็ซ้อม 3-4 วันครับ

● ในการแสดงครั้งนี้ รับบทกุมภกรรณตอนไหนบ้างครับ

คุณธนภัทร : บทเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ในท้องพระโรงกรุงลงกา และตอนเข้าไปหานางคันธมาลีที่บ้านครับ

● การแสดงสองฉากนี้ยากง่ายต่างกันอย่างไรครับ

คุณธนภัทร : ฉากเข้าเฝ้าทศกัณฐ์จะยากกว่าตรงที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง แต่ก็ต้องแสดงอาการอ่อนน้อมต่อทศกัณฐ์ เพราะเป็นยักษ์ชั้นสูง แล้วเป็นพี่ชายด้วย ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเป็นน้องชายของทศกัณฐ์ เจ้ากรุงลงกา และทศกัณฐ์ก็ไว้ใจมอบหมายงานสำคัญให้เราไปทำ ส่วนฉากเข้าไปบ้านพบกับนางคันธมาลี ก็ต้องแสดงบทให้เห็นถึงความอ่อนหวานนุ่มนวล เพราะอยู่กับคนรักในบ้าน ไม่ต้องแสดงบทโกรธขึ้ง หรือเกรี้ยวกราดโมโหโกรธา

● ในฐานะนักแสดงรุ่นใหม่ที่ได้รับบทสำคัญ จะฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเรียนโขนครับ และจะฝากอะไรถึงผู้ชมโขนบ้างครับ

คุณธนภัทร : ก่อนอื่นต้องขอบคุณครูที่กรุณาให้ความรู้ด้านนาฏศิลป์กับผม และขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจโขนให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องโขนให้มากขึ้น ลองเข้าไปดูก่อนว่าโขนคืออะไร แล้วหากสนใจก็ขอเชิญชวนให้เรียนโขนด้วยกัน อยากให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันรักษาศิลปะการแสดงโขนของเราไว้ เพราะเป็นการแสดงขั้นสูงที่รวมสรรพวิทยาเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แล้วก็ขอขอบคุณผู้ชมที่ให้การสนับสนุนโขน ปีนี้การแสดงจบลงแล้ว ก็ขอเชิญชวนมาชมโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อีกในปีต่อๆ ไปเรามาร่วมกันสนับสนุนนาฏศิลป์ชั้นสูงของเราด้วยกันครับ 

คุณฐาปนะ ไทรเกต รับบท หนุมาน

● สวัสดีครับ รับบทหนุมานในฉากไหนบ้างครับ

คุณฐาปนะ : ฉากออกพลับพลาเข้าเฝ้าพระราม พระลักษมณ์ และฉากแปลงกายเป็นเหยี่ยวขาว เข้าไปสืบหาข่าวการทำพิธีเนรมิตกายให้ใหญ่
เท่าภูเขาของกุมภกรรณครับ 

● ตอนแปลงกายเป็นเหยี่ยว ก็ต้องใช้สลิงชักรอกขึ้นไปเหาะเหินบนอากาศด้วย ใช่ไหมครับ

คุณฐาปนะ : ใช่ครับ 

● การต้องถูกสลิงดึงขึ้นไปเหาะเหินบนอากาศ ต้องฝึกซ้อมนานไหมครับ เพราะดูแล้วเสมือนว่าเป็นเหยี่ยวกำลังบินจริงๆ แสดงได้สมบทบาทมากครับ

คุณฐาปนะ : ก็ฝึกนานอยู่ครับ แต่ไม่นานมากครับ ไม่กี่วันก็แสดงได้ครับ แต่ต้องตั้งใจมากครับ เพื่อให้ดูสมบทบาทอย่างแท้จริง คนชมจะได้เชื่อว่าเราเป็นเหยี่ยวจริงๆ

● ตอนกุมภกรรณทดน้ำนี้ ใช้ตัวแสดงเป็นหนุมานทั้งหมดกี่ตัวครับ

คุณฐาปนะ : ในการแสดงแต่ละครั้งนั้น ใช้หนุมาน 5 ตัว โดย 4 ตัวเป็นการแสดงบนพื้นโรงละคร และมีอีกตัวหนึ่งแสดงบนเหาะเหินเดินอากาศและดำลงไปใต้น้ำเท่านั้น เรียกว่าหนุมานตัวรอก 

● ผู้รับบทหนุมาน ต้องมีจุดเด่นอะไรบ้างครับ เพราะเป็นตัวเอก และมีบทต่างๆ มากมาย ทั้งรบ ทั้งรัก ทั้งหกคะเมนตีลังกา ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และฉากลงไปใต้น้ำอีกด้วย  

คุณฐาปนะ : คนจะเล่นบทหนุมานต้องมีรูปร่างสันทัด สูงโปร่งมากเกินไปก็ไม่เหมาะ เอวบางร่างน้อยมากเกินไปก็ไม่ได้ เรื่องนี้ครูจะเป็นผู้คัดเลือกแล้วฝึกซ้อมให้ครับ ต้องเน้นการฝึกซ้อมอย่างจริงๆ จังๆ จึงจะสามารถรับบทหนุมานได้เป็นอย่างดี และสมบทบาทที่แสดง ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีให้กับครูผู้สอนที่ท่านเมตตาฝึกเราจนแสดงได้ดี

● ตอนนี้ที่คุณยังเรียนอยู่ใช่ไหมครับ เรียนระดับไหนครับ

คุณฐาปนะ : เรียนระดับปริญญาตรี ปีที่ 1 ครับ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผมเรียนนาฏศิลป์มาโดยตลอดตั้งแต่สมัยมัธยมครับ อยู่กับโรงเรียนและสถาบันสอนนาฏศิลป์มาโดยตลอดครับ ผมรักนาฏศิลป์ไทยครับ 

● ช่วยเล่าให้ฟังถึงการฝึกมาตั้งแต่แรก จนมารับบทหนุมาน มีกระบวนการอย่างไรบ้างครับ

คุณฐาปนะ : นักเรียนนาฏศิลป์ต้องฝึกท่าพื้นฐานทั้งหมดทุกคนครับ เช่น แม่ท่า แล้วก็ไล่ขึ้นไปตามลำดับของการเรียน สำหรับผมนั้น เมื่อเรียนพื้นฐานแล้ว ครูท่านให้ฝึกเป็นตัวลิง ก็ไล่ตั้งแต่ เขน เสนาลิง แล้วก็ตัววานรในกองทัพพระรามที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้แสดงเป็นหนุมาน 

● ร่วมแสดงโขนมูลนิธิฯ มากี่ปีแล้วครับ

คุณฐาปนะ : สองปีครับ ครั้งที่แล้วเล่นตอนสะกดทัพ เป็นยุงยักษ์ที่ขึ้นรอกแล้วรุมกัดหนุมานครับ 

● มาปีนี้ได้รับการคัดเลือกให้เล่นบทหนุมาน แสดงว่าต้องมีฝีมือโดดเด่นมาก

คุณฐาปนะ : เป็นความกรุณาของคุณครูครับ ท่านฝึกสอนผมจนผมแสดงได้ดีเข้าตาคณะกรรมการคัดเลือกครับ ผมดีใจครับที่ได้มีส่วนร่วมสืบสานการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกันสืบสาน รักษาการแสดงชั้นสูงของไทยไว้ มาช่วยกันทำนุบำรุงและส่งเสริมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย และคู่โลกนะครับ ฝากบอกผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนที่สนใจนาฏศิลป์แขนงต่างๆ ว่าประเทศไทยมีการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ โดยเฉพาะวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศรวม 12 แห่ง ขอเชิญชวนให้ไปเรียนครับ เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมการแสดงนาฏศิลป์ของประเทศไทยไว้ให้อยู่สืบต่อไปยาวนาน

คุณคมกริช สีสันต์ รับบท หนุมาน

● สวัสดีครับ รับบท หนุมาน ในฉากไหนครับ

คุณคมกริช : ตอนหลังจากฉากหุ่นยักษ์รบกัน คือหุ่นกุมภกรรณรบกับหุ่นหนุมาน เมื่อฉากนี้จบหนุมานก็กลายร่างเป็นหนุมานตัวธรรมดา แล้วรบต่อกับกุมภกรรณครับ 

● หนุมานในตอนกุมภกรรณทดน้ำ มีหลายตัว ส่งบทกันอย่างไรครับ จึงกลมกลืนมาก

คุณคมกริช : เน้นการซ้อมมากๆ ครับ ซ้อมหนักมาก โดยบอกได้ว่าหนุมานทุกตัวต้องสามารถแสดงแทนกันได้ทุกบทบาทในการแสดงทุกตอน เพราะฉะนั้น ก็ต้องซ้อมหนักจริงๆ ครับ เพื่อให้ทุกอย่างลงตัวมากที่สุด และส่งบทได้ราบรื่น ในการแสดงตอนกุมภกรรณทดน้ำตลอดการแสดงทั้งเดือนนั้น มีหนุมานทั้งหมด 13 ตัว ทุกตัวแสดงแทนกันได้ ที่ต้องมีตัวแสดงมากมาย ก็เพราะต้องแบ่งกันแสดงในแต่ละวัน บางวันมีการแสดงสองรอบ ซึ่งในแต่ละรอบใช้ตัวหนุมาน 5 ตัว จึงต้องมีการสลับวันพักการแสดงด้วย 

● ผู้แสดงบทหนุมานทั้งหมดมีรูปร่างเท่าๆ กัน ใช่ไหมครับ

คุณคมกริช : ก็ต้องดูจากบทที่หนุมานต้องไปแสดงในฉากไหนด้วยครับ เช่น บางฉากต้องรบกันกับกุมภกรรณที่มีรูปร่างสูงใหญ่มากๆ ก็ต้องเลือกตัวหนุมานที่มีความสูงในระดับที่สามารถเล่นบทกับกุมภกรรณตัวสูงใหญ่ได้สมบทบาท เพราะรูปร่างตัวแสดงแต่ละบทต้องไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน คือเรียงไปตามลำดับความสูงของตัวพญายักษ์เป็นสำคัญ แต่หนุมานต้องตัวเล็กกว่าพญายักษ์ครับ เพื่อเวลารบกันจะได้แสดงได้ราบรื่น เนื่องจากต้องสู้รบกันในฉากต่างๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้คนดูเชื่อว่าเป็นหนุมานตัวเดียวกันทั้งเรื่องคือการเน้นฝึกซ้อม ทำตามสิ่งที่ครูสอนให้ดีที่สุด และต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายตลอดเวลา ต้องพร้อมแสดงให้ดีที่สุด เพื่อชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาที่อบรมสั่งสอนเรามา และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวงที่พระราชทานให้โขนได้กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง

คุณธีร์รัฐ มีปัญญาวิจิตร์ รับบทหนุมานแปลงเป็นนางกำนัล

● การแสดงเป็นนางกำนัลที่ต้องมีกิริยาอ่อนช้อย อ่อนหวาน แต่ก็ต้องแสดงท่าทางของหนุมานในบางขณะ เป็นบทที่น่ารักมาก ต้องฝึกซ้อมนานแค่ไหนกว่าจะออกมาลงตัว

คุณธีร์รัฐ : ขอบคุณครับ พูดจริงๆ ก็คือต้องซ้อมนานพอสมควร แต่ก็ต้องกราบขอบพระคุณครูผู้สอนที่สอนให้เราแสดงได้อย่างลงตัว เป็นที่ชื่นชอบของคนชม จริงๆ แล้วนางกำนัลต้องเรียบร้อย และนุ่มนวล แต่เนื่องจากบทที่ได้รับเป็นบทหนุมานแปลงตัวเป็นนางกำนัลของนางคันธมาลีก็จึงต้องมีสองบุคลิกในตัวเดียวกัน คืออ่อนหวานเรียบร้อย แล้วก็ผสมกับบทลิงค่างแบบหนุมานในขณะที่ต้องสวมชุดเป็นนางกำนัล คือมีทั้งอ่อนหวานและลิงโลดไปในขณะเดียวกัน เรื่องการแสดงที่ลงตัวนั้น ครูท่านสอนให้รู้ว่าจังหวะไหนต้องเรียบร้อย แล้วจังหวะไหนต้องยุกๆ ยิกๆ เป็นลิงเป็นค่าง ต้องให้กลมกลืนลงตัวมากที่สุด เพราะเราอยู่ในขบวนนางกำนัล ก็ต้องระวังตัวไม่ให้ผิดสังเกตคนในขบวน ต้องไม่ให้นางคันธมาลีรู้ว่าเราเป็นหนุมานแปลงตัวมา จึงต้องแสดงอาการลิงโลดออกในบางจังหวะ

●ตัวนางกำนัลที่เป็นหนุมานแปลงกายมีกี่ตัวครับ

คุณธีร์รัฐ : สองตัวครับ สลับกันเล่นครับในแต่ละรอบครับ

● ตามปกติคุณเล่นเป็นตัวอะไรครับในการแสดงโขนตอนอื่นๆ 

คุณธีร์รัฐ : ปกติเรียนและรับบทตัวพระครับ แต่ครั้งนี้ครูเห็นว่าเราเหมาะสมกับการรับบทหนุมานแปลงเป็นนางกำนัล โดยครูพิจารณาจากรูปร่างของผม ที่มีขนาดพอๆ กับนางกำนัล แต่คุณคงเห็นว่าผมสามารถรับบทเป็นหนุมานได้ด้วย จึงมอบหมายบทนี้ให้ครับ 

คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'ไพบูลย์'เชื่อมติแพทยสภา เป็นหลักฐานสําคัญ ชี้ชะตา'ทักษิณ' 13 มิ.ย.วันศาลไต่สวน

ลอตแรกครบแล้ว! 'กกต.-DSI'ติดหมายเรียก'สว.พิศูจน์-สว.พิบูลย์อัฑฒ์'

มัลดีฟส์ลุกเป็นไฟ! 'มุก วรนิษฐ์'อวดหุ่นเซ็กซี่ในชุดบิกินี่สดใส

สางไฟใต้!!! 'นายกฯ'ถก'รมว.กลาโหม-ผบ.ตร.-ปลัดมท.'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved