เซลล์เม็ดเลือดมีอยู่ 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทั้งนี้เม็ดเลือดแดงถือเป็นเซลล์ที่เป็นองค์ประกอบหลักที่มีจำนวนมากที่สุดในกระแสเลือด โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงนั้นตรวจแสดงด้วยค่าฮีโมโกลบิน และฮีมาโตคริต โดยค่าปกติของเม็ดเลือดแดงนั้นแตกต่างตามเพศ และอายุ สำหรับค่าฮีโมโกลบินในผู้ชายนั้นอยู่ในช่วงประมาณ 13-16 กรัม/เดซิลิตร ในขณะที่ค่าฮีโมโกลบินในผู้หญิงนั้นอยู่ระหว่างช่วงประมาณ 12-15 กรัม/เดซิลิตร แต่อาจมีความแตกต่างได้เล็กน้อยแล้วแต่ห้องปฏิบัติการ และอายุของผู้ป่วย เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่หลักในการลำเลียงออกซิเจนภายหลังจากแลกเปลี่ยนที่ถุงลมที่ปอดไปยังเนื้อเยื่อส่วนปลายของอวัยวะต่างๆ เพื่อให้เซลล์ใช้ในการเผาผลาญพลังงาน และรับคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์ที่เนื้อเยื่อส่วนปลายกลับมาที่ปอดเพื่อแลกเปลี่ยนขับทิ้งทางลมหายใจ ร่างกายมีการควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดงผ่านการรับรู้ระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งควบคุมการสังเคราะห์ฮอร์โมนอีริโทรพอยเอตินที่ไต โดยฮอร์โมนอีริโทรพอยเอตินมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดง
ภาวะที่ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มสูงกว่าปกติ หรือภาวะเลือดแดงข้น (เมื่อระดับฮีโมโกลบินมากกว่า 16.5 กรัม/เดซิลิตร ในเพศชาย และมากกว่า 16 กรัม/เดซิลิตร ในเพศหญิง) นั้นพบได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่กลุ่มที่ 1 คือ ภาวะเลือดแดงข้นจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกที่ผลิตเม็ดเลือดแดงมากขึ้น และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกปกติของร่างกาย โดยความผิดปกติในกลุ่มนี้เกิดจากการกลายพันธ์ุของรหัสพันธุกรรมที่มีหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัวของเม็ดเลือด ซึ่งส่งผลทำให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแดงมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น และไม่อยู่ภายใต้กลไกการควบคุมปกติของร่างกาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีปริมาณเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดสูงร่วมด้วย การวินิจฉัยจำเป็นต้องตรวจหาการกลายพันธ์ุของรหัสพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง และอาจจำเป็นต้องเจาะตรวจไขกระดูก ผู้ป่วยอาจมีอาการเชิงระบบเช่นอาการปวดศีรษะ อาการชาร้อนบริเวณปลายมือเท้า รวมถึงอาการคันโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับน้ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางส่วนอาจมีการพัฒนาของตัวโรคไปสู่ภาวะพังผืดในไขกระดูกในที่สุด การรักษาภาวะเลือดแดงข้นจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูกนี้อาจมีข้อบ่งชี้ในการได้รับยาที่ลดการแบ่งตัวของเม็ดเลือด
กลุ่มที่ 2 คือ ภาวะเลือดแดงข้นจากการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่ส่งผลสืบเนื่องทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มมากขึ้นซึ่งพบได้บ่อยกว่าภาวะเลือดแดงข้นที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก โดยความผิดปกติที่ทำให้ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้นผ่านการกระตุ้นจากฮอร์โมนอีริโทรพอยเอตินที่พบได้บ่อยคือ ภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคปอดเรื้อรังโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจพบได้ในภาวะที่ร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยเอตินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ เช่น โรคเนื้องอกที่ไต หรือเนื้องอกที่ตับบางชนิด การวินิจฉัยภาวะเลือดแดงข้นกลุ่มนี้จำเป็นต้องสืบค้นหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องข้างต้น โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับซึ่งภาวะเลือดแดงข้นในกลุ่มที่ 2อันเกิดจากความผิดปกติที่ส่งผลให้มีการสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยเอตินนี้จะดีขึ้นเมื่อรักษาสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเลือดแดงข้นจากการหยุดหายใจขณะหลับ หรือการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยการตรวจการนอนหลับ รวมถึงได้รับการประเมิน และการรักษาโดยแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
โดยสรุปในการตรวจเม็ดเลือดหากท่านพบความผิดปกติในความเข้มข้นของเลือดแดงที่แสดงถึงภาวะเลือดแดงข้น สามารถปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่าน หรือส่งต่อไปเพื่อปรึกษาโลหิตแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม และได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ผศ.นพ.กฤษฎา วุฒิการณ์
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี