วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
โรคท้องเสียที่มากับหน้าร้อน

โรคท้องเสียที่มากับหน้าร้อน

วันอังคาร ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567, 07.00 น.
Tag : โรคท้องเสีย
  •  

ท้องเสีย หรือท้องร่วงเฉียบพลัน เป็นความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยลำดับต้นๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้จะพบโรคนี้ได้มากขึ้นกว่าช่วงอื่นเนื่องจากแบคทีเรียที่เป็นเชื้อก่อโรคท้องเสียจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี เมื่อปนเปื้อนในอาหาร ก็จะเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว นอกจากนี้ประชาชนยังเดินทางท่องเที่ยวกันมาก มีการดื่มน้ำและอาหารนอกบ้าน เพิ่มโอกาสที่จะสัมผัสกับอาหารที่ปนเปื้อนเหล่านี้มากขึ้น เมื่อเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ทางเดินอาหารก็จะแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

อาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนแบคทีเรีย และทำให้เกิดท้องเสียได้


ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บไม่ดี หรือผู้ปรุงอาหารมีสุขอนามัยที่ไม่ดี สามารถแพร่เชื้อโรคไปในอาหารได้ ได้แก่ อาหารที่ปรุงไม่สุก ปรุงไว้นาน จัดเก็บไม่ถูกวิธี, อาหารทะเล, ผักสด, เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก, อาหารกระป๋องที่มีการปนเปื้อนหรือหมดอายุ, อาหารที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย เช่น เนื้อสัตว์ป่า เห็ดป่า ปลาปักเป้า แมงกะพรุน เป็นต้น

เชื้อก่อโรคที่พบบ่อย

●เชื้อไวรัสต่างๆ เช่น adenovirus, rotavirus และ norovirus

●เชื้อแบคทีเรีย เช่น Escherichia coli, Salmonella, Shigella, Campylobacter

●สารพิษจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus

●เชื้อโปรโตซัว เช่น Entamoeba histolytica (บิดมีตัว), Giardia

อาการของโรคท้องเสียเฉียบพลัน

โดยทั่วไปมักจะมีอาการหลังได้รับอาหาร ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อที่ก่อโรค ลักษณะอาการที่พบทั่วไป ได้แก่

● ท้องเสีย อุจจาระบ่อยขึ้นหลายๆ ครั้งลักษณะเป็นน้ำ กรณีรุนแรงอาจพบลักษณะอุจจาระมีมูกเลือดปน

● คลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร (กรณีอาเจียนมาก เป็นอาการเด่น เกิดหลังทานอาหารไม่กี่ชั่วโมงจะนึกถึงภาวะอาหารเป็นพิษจากสารพิษจากแบคทีเรีย หรือแหล่งอื่นๆ)

● ปวดท้อง มักจะบริเวณกลางท้อง ปวดเป็นพักๆ ปวดบิดๆ จนตัวงอ เนื่องจากลำไส้บีบตัว อย่างรุนแรง

● ไข้ ตัวร้อน ในกรณีมีลำไส้อักเสบ

● อ่อนเพลีย เนื่องจากขาดน้ำและเกลือแร่ ที่สูญเสียไปกับอุจจาระและอาเจียน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันต่ำ ช็อก ไตวาย จนถึงเสียชีวิตได้ทั้งนี้ในเด็กและผู้สูงอายุ จะดูซึม สับสน ไม่เล่น มีลักษณะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวย่นตาโหล กระหม่อมหน้าบุ๋ม

ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาจเป็นเพียงเล็กน้อย สามารถหายเอง หรือเป็นรุนแรง จนกระทั่งมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ จนถึงแก่ชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรครุนแรง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีภูมิต้านทานต่ำอื่นๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคเอดส์

วิธีการรักษาโรคท้องเสียเฉียบพลัน

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยท้องเสีย จะสามารถหายได้เองในเวลา 1-3 วัน โดยเฉพาะถ้าดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม กล่าวคือ

● สิ่งสำคัญที่สุด คือการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียจากการถ่าย การพยายามดื่มน้ำเยอะๆ สามารถช่วยได้กรณีท้องเสียไม่มากนัก ในกรณีที่ถ่ายปริมาณมาก อ่อนเพลีย จำเป็นต้องให้เกลือแร่เข้าไปทดแทนร่วมด้วย ซึ่งอาจหาซื้อน้ำเกลือผง (ORS) ที่มีขายทั่วไป มาผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุบนซองหรือเตรียมน้ำเกลือผสมเอง โดยใช้น้ำตาลทราย 8 ช้อนชาและเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมกับ น้ำต้มสุก 1 ขวดลิตรดื่มแทนน้ำ และดื่มเพิ่มหลังถ่าย (ไม่ควรใช้น้ำร้อนละลาย หรือละลายทิ้งไวเกิน 24 ชั่วโมง)

●ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารมัน อาหารที่ย่อยยากหรืออาหารที่มีกากมาก (เช่น ผัก ผลไม้) รวมทั้งนม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ถ้าเป็นไปได้ควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำหวาน

●การใช้ยาปฏิชีวนะ โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็น หากท้องเสียเกิดจากไวรัส สารพิษ หรือแบคทีเรียทั่วไป ยาจะไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการ หรือทำให้เวลาท้องเสียลดลงได้ การใช้ยาปฏิชีวนะจะมีประโยชน์กรณีผู้ป่วยที่มีลำไส้อักเสบจากแบคทีเรียบางตัว มีภูมิต้านทานต่ำ หรือท้องเสียระหว่างการเดินทาง (traveler’s diarrhea)

●การใช้ยาแก้ท้องเสีย เช่น Loperamide มีฤทธิ์หยุดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้อาการท้องเสียบรรเทาลง แต่อาจทำให้ท้องอืดแน่นมากขึ้น จึงควรใช้เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างจำกัดแต่เพียงให้ถ่ายลดลง พอทำกิจวัตรทั่วไปได้เท่านั้น และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในกรณีที่มีลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ (มีไข้ถ่ายมีมูกหรือเลือด) เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายขับเชื้อโรคออกทางอุจจาระได้น้อยลง

●โปรไบโอติก (probiotics หรือจุลินทรีย์ตัวดี) และยาลดการถ่ายกลุ่มใหม่ๆ เช่น Racecadrotil หรือ Dehecta โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็น อาจพิจารณาเป็นการรักษาเสริม เนื่องจากมีข้อมูลว่าอาจช่วยให้บรรเทาอาการท้องเสียได้

●สามารถใช้ยารักษาตามอาการอื่นๆ เช่นยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน สำหรับผงถ่านแบบเม็ด ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และจะทำให้สีอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งอาจทำให้สับสนกับการมีเลือดออกจากทางเดินอาหารได้

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ถ่ายมีมูกเลือด ขาดน้ำ ไม่สามารถทานอาหารหรือน้ำเกลือแร่ทดแทน และไม่ดีขึ้นจากการดูแลตัวเองเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีป้องกันหลีกเลี่ยงโรคท้องเสีย

●เบริโภคน้ำ และอาหารที่สะอาด และผ่านการปรุงที่ถูกต้อง กรณีทานอาหารจากร้านที่สิ่งแวดล้อมไม่สะอาด ควรเลือกทานน้ำจากขวดที่ยังไม่เปิดและหลีกเลี่ยงการทานน้ำแข็ง

●ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเตรียมและรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ

●ถ้าเตรียมอาหารไปจากบ้าน ไม่ควรเตรียมอาหารที่บูดเสียง่าย ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ควรเก็บในที่ร้อน หรือเก็บไว้นานเกินไป และควรทำให้ร้อนอย่างเพียงพอก่อนรับประทาน

●หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก และอาหารที่ไม่คุ้นเคย

รศ.พิเศษ นพ. เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล

อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลราชวิถี

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'วราวุธ'เผย'พม.'หนุนจ้างงานคนพิการเพิ่ม เอื้อสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 2-3 เท่า

ฝีมือครบเครื่อง!‘โฆษกกล้าธรรม’ยก 5 ปัจจัย ชู‘ธรรมนัส’เป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง

'รมว.นฤมล'จับมือผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ย้ำ Fruit Board คุมเข้มสินค้าให้มีมาตรฐาน

ตร.นำตัว'สจ.กอล์ฟ'กับพวกสอบใหม่อีกครั้งหลังให้การวกวน ก่อนส่งฝากขังชั้นศาล

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved