สมเด็จพระราชินีซิลเวียเรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเข้าร่วมและพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก “Child Protection Summit, Bangkok 2024” จัดโดย มูลนิธิเด็กโลกและมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก โดยได้รับความร่วมมือจาก 3 กระทรวงด้านความมั่นคง มท. ยธ. และ พม. เซ็น MOU เดินหน้าพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทย พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ชวนประชาชนปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหานี้ จนการล่วงละเมิดสิทธิเด็กในทุกมิติหมดไปจากสังคมไทย
สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินยังห้องประชุม ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) โดยทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมและเสด็จฯยังที่ประทับเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม โดยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งราชอาณาจักรสวีเดนพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชดำรัสต่อที่ประชุม ทั้งสองพระองค์ทรงรับฟังการรายงาน ทอดพระเนตรการขับร้องประสานเสียงจากกลุ่มเยาวชน พร้อมเสด็จเยี่ยมชมบูธนิทรรศการจากศิลปินเมียนมา รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศไทย และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ในงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก หรือ “Child Protection Summit, Bangkok 2024” จัดโดยมูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ในสมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) ประเทศไทย ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดอะ มอลล์กรุ๊ป สยามพิวรรธน์ เป็นต้น
สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ความว่า มีความยินดีที่ได้กลับมายังกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันแนบแน่น ทั้งนี้ในการดำเนินงานเรื่องการคุ้มครองเด็กในปี 1999 เป็นระยะกว่า 25 ปีมาแล้วได้ก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood Foundation สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงการละเมิดสิทธิหรือตัวเด็ก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่อยากพูดคุยกันในฐานะที่เป็นแม่ ย่า ยาย ความเงียบไม่สามารถทำให้ปัญหาหายไป แต่จะทำให้คนร้ายได้ก่อเหตุต่อไป การละเมิดทางเพศต่อเด็กมีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก ในวัฒนธรรมการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การตระหนักรู้ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ หลังจากนั้น คือการต้องดำเนินการต่อไป ข้าพเจ้าอยากจะส่งเสียงเป็นพลังในการคุ้มครองเด็ก ซึ่งควรจะได้รับการคุ้มครองมากที่สุด เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ตามท้องถนน เด็กที่มีความพิการ และเด็กที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ให้มีความปลอดภัย
ทรงมีพระราชดำรัสต่ออีกว่า จากเครือข่ายที่เข้มแข็งอันเป็นหุ้นส่วนคนไทย ในการทำโครงการนำร่องต่างๆ มากมายเป็นส่วนที่น่าประทับใจทั้งการแนะนำวิธีการคุ้มครองเด็กทางออนไลน์ ให้ผู้ปกครองได้มีส่วนเข้ามาร่วมในโครงการ ทั้งนี้ เพื่อจะคุ้มครองเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ และยังมีการสนับสนุนให้เด็กเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ได้รับความรัก โดยขอเน้นย้ำว่าเด็กที่ต้องการรับความรักโดยเฉพาะ นั้นก็คือเด็กที่อาศัยอยู่ตามถนน เด็กพิการ และเด็กที่อยู่ตามพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเด็กเปราะบางในประเทศไทย
“เมื่อ 25 ปีมาแล้ว นับเป็นเวลานาน เมื่อมองกลับไปจะเห็นพัฒนาการเชิงบวกที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทยในปี 2015 เป็นปีที่สำคัญเนื่องจากมีการพัฒนาเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ เห็นชอบในการป้องกันหรือขจัดความรุนแรงกับเด็กทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นเป้าหมายที่มีพลังมากในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางด้านศีลธรรมหรือการแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นสิ่งที่สำคัญในการเติบโตและความยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 ปีเท่านั้น แต่ยังอยู่ห่างไกลในการที่จะประสบผลสำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2567 จะมีการพบปะของผู้นำโลกที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย รัฐบาลของทุกประเทศจะมีการร่วมกันป้องกันความรุนแรงที่มีต่อเด็ก และสำหรับประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก เมื่อมีการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้ในทุกประเทศทั่วโลกก็มีการดำเนินการทางกฎหมายที่ก้าวหน้าไปมาก”
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯพระบรมราชินี ทรงมีพระราชดำรัสว่าสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน เป็นที่รู้จักของคนไทย เพราะพระองค์เป็นเพื่อน เป็นมิตรที่ดีของคนไทยและประเทศไทย การทำงานตลอดชีวิตของพระองค์ได้ดูแลเด็กๆทั่วโลก พระองค์ทรงงานอย่างหนักในการทำงานให้กับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เพื่อที่จะคุ้มครองและทำให้เด็กมีความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อเด็ก
การทำงานเป็นหุ้นส่วนกับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก การทำงานร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเรากำลังเผชิญปัญหาหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดทางเพศต่อเด็ก และการนำเด็กมาเป็นสินค้า เราจะขยายการทำงานในอินเตอร์เนต เพราะการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ได้สร้างและเพิ่มอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กๆ ดังนั้นเราจะปกป้องเด็กพวกนี้ได้อย่างไร เมื่อความเสี่ยงนั้นมากกว่าสิ่งที่เราควรจะทำได้
“เราจะต้องนำผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อที่มาดูแลปัญหานี้ และมีความพยายามต่างๆ จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล เอกชนและหุ้นส่วนที่ทำงานกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้เด็กนั้นมีความปลอดภัย อันนี้เป็นปัจจัยหลักและเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่เราจะต้องแบ่งปันกัน เด็กๆ นั้นเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด เขาควรจะมีการเจริญเติบโตและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย เราจะต้องผลักดันให้มีการทำงานเรื่องนี้ให้อนาคตของเด็กสดใส รุ่งเรือง เด็กทุกคนมีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิที่จะได้รับความรักมีความสุข มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการเล่น และมีสิทธิในการเจริญเติบโตในทิศทางที่ดีด้วย
ความจำเป็นในการทำงานจากความยุ่งยากให้ง่ายขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิต่างๆ เด็กจะได้รับทุกคน ข้าพเจ้าหวังว่าการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ อาจจะทำให้การทำงานเจริญรุ่งเรือง อยากขอขอบพระคุณสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้สำหรับอนาคตที่ดีของเด็กๆ ของเรา”
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการเดินหน้าพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทยในทุกช่องทาง โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ที่กำลังลุกลามแบบก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ให้มีปราการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อหยุดยั้งการละเมิดทางเพศในเด็ก เสริมสร้างกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน และป้องปรามผู้กระทำผิดให้เกรงกลัวต่อโทษทัณฑ์ พร้อมผลักดันให้สังคมปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหานี้ จนการล่วงละเมิดสิทธิเด็กในทุกมิติหมดไปจากสังคมไทย ผ่านพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ Ms.Paula Guillet de Monthoux เลขาธิการมูลนิธิเด็กโลก นายสเวน ฟิลลิป ซอเรนเซน ผู้แทนมูลนิธิเด็กโลก นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.ธีระพลถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์นายชเล วุทธานันท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก และ นายสุริยนศรีอรทัยกุล รองประธานและกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เฝ้าฯรับเสด็จ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนมาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี