คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศผลลัพธ์ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Kidney Transplantation) ครั้งแรกของประเทศไทยและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบเนื่องจากความร่วมมือภายใต้โครงการ MFA-MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เท่าทันการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และผลักดันศักยภาพวงการแพทย์ไทยสู่มาตรฐานสากล
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ หนึ่งในรูปแบบของเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่เรียกว่า “Minimally Invasive Surgery” ที่สามารถลดข้อจำกัดของมนุษย์และการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic Surgery) เช่น การเข้าถึงอวัยวะภายในที่แคบและมองเห็นยากได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตราขยายการมองเห็นมากกว่าสายตามนุษย์ถึง 10 เท่า สามารถเย็บแผลและห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำการผ่าตัดในท่านั่งซึ่งช่วยลดอาการเมื่อยล้าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบทั่วไป และการผ่าตัดผ่านกล้องที่จะต้องผ่าตัดในท่ายืนเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีข้อจำกัดและยังไม่สามารถทดแทนบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทั้งหมด
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า “ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นศูนย์ที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นต้นแบบทางการรักษาและฝึกอบรมให้กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันทั่วประเทศ โดยความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความก้าวหน้าทางการแพทย์ไทย”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดให้กับผู้ป่วย 3 รายแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้เป็นการผ่าตัดร่วมกันระหว่างทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9 วัน และไตสามารถทำงานได้อย่างดี นอกจากนี้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดในหลากหลายสาขา เช่น ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์มะเร็ง ศัลยศาสตร์ตับ ศัลยศาสตร์ปลูกถ่ายอวัยวะ และศัลยศาสตร์ทรวงอก เป็นต้น
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เข้ามาช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลในหลากหลายสาขา คาดการณ์ว่าในอนาคตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในทางการแพทย์ มูลนิธิรามาธิบดีฯ เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพทางการรักษาพยาบาลแก่คนไทย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบแห่งการรักษา
มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงสานต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่านการจัดตั้งโครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อระดมทุนในการซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี โครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3 ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5 หรือบริจาคออนไลน์ https://www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร.02-2011111
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี