นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคไข้อีดำอีแดงทางห้องปฏิบัติการ ชี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาให้หายขาดได้ แนะผู้ปกครองสังเกตบุตรหลานหากมีผื่นแดงร่วมกับอาการไข้ ให้พบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงโรคไข้อีดำอีแดงว่าเป็นโรคโบราณที่อุบัติซ้ำกลับมาใหม่ หลายคนอาจไม่รู้จักและเข้าใจผิดกันอยู่ จนทำให้เกิดโรคลุกลามและแทรกซ้อนได้ โรคไข้อีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) หรือ Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้ออยู่ในลำคอ สามารถพบคนที่เป็นพาหะเชื้อนี้ได้ร้อยละ 10-20 เชื้อนี้มีช่องทางการติดต่อโดยการหายใจ สูดละอองฝอยน้ำลาย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ มักพบในเด็กเล็กจนถึงวัยเรียน อายุ 5-15 ปี โดยหากติดเชื้อจะมีไข้สูง หนาวสั่นเจ็บคอ กลืนลำบาก มีผื่นแดงหยาบคล้ายกระดาษทราย (sandpaper-like rash) มักเริ่มจากหน้าอก ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย มีลิ้นสีแดงคล้ายสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry tongue) และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคือ โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic Fever) หรือไตอักเสบ
ทั้งนี้ โรคไข้อีดำอีแดง ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ Penicillin หรือ Amoxycillin หรือ Erythromycin จนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้รูมาติกและไตอักเสบแทรกซ้อน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันและการลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในเด็ก ผู้ปกครองควรสังเกตผื่นแดงร่วมกับอาการไข้ที่เกิดขึ้นกับบุตรหลาน ไม่ใช่ผื่นจากอาการแพ้ แต่เป็นผื่นจากโรคมากกว่า เพื่อจะได้รีบพาไปพบแพทย์รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป หากเด็กป่วยให้หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่น นอกจากนี้การล้างมือเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะหลังไอ จาม หรือก่อนจับอาหาร ควรปิดปากขณะไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้าร่วมกันก็เป็นการป้องกันที่ดี รวมทั้งการแยกภาชนะของผู้ป่วย การแยกซักล้างเครื่องใช้ส่วนตัวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
“สำหรับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เปิดให้บริการตรวจเกี่ยวกับเชื้อ S. pyogenes ดังนี้ 1.การเพาะแยกเชื้อแบคทีเรีย S. pyogenes จากสิ่งส่งตรวจ ได้แก่ Throat swab, Nasopharyngeal swab ใน Stuart transport media หรือ Amies transport media ขนส่งที่อุณหภูมิห้อง 2.ตรวจยืนยันตัวอย่างเชื้อบริสุทธิ์บน Blood agar หรือ Dorset egg slant ขนส่งที่อุณหภูมิห้อง”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้อีดำอีแดงสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 02-9510000 ต่อ 98328 และศูนย์เฝ้าระวังและประสานงานทางห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร.02-9510000 ต่อ 99248 หรือแอดไลน์ที่ Line Official account : @769baxtr
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี