กำลังจะเข้าสู่เดือนเมษายนแล้ว นั่นหมายความว่าอากาศร้อนจัดๆ กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ เมื่อฤดูเปลี่ยนทีก็เกิดความเสี่ยงกับการเกิดโรคใหม่ หรืออาการโรคเดิมอาจกำเริบ เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโรคที่จะมากับฤดูร้อนให้ดี
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในฤดูร้อนมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อนจัด และมีความชื้นสูง เรามาดูกันว่า ต้องระวังโรคอะไรในช่วงหน้าร้อนบ้าง
อันดับแรก คือ ผิวพรรณ ทุกคนรู้ดีว่าแดดเมืองไทยร้อนมาก และไม่เคยปรานีต่อผิวของใครก็ตาม เพราะฉะนั้น ปัญหาผิวไหม้แดด จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแดดเป็นเวลานานแต่ไม่ป้องกันแสงแดดแผดเผาผิว
อาการผิวไหม้แดด คืออาการผิวแดง ร้อน และเจ็บ แสบผิว อาจมีอาการคัน ผิวลอกใน 2-3 วันหลังโดนแดดเผา แต่หากรุนแรงมากอาจมีตุ่มน้ำพอง ปวดศีรษะ แต่สามารถป้องกันและบรรเทาอาการผิวไหม้แดดโดย ทาครีมกันแดด ที่มี SPF 30 ขึ้นไป และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดด เลี่ยงแดดแรงช่วง 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้นและแข็งแรง หลีกเลี่ยงแสงแดด รีบหลบเข้าที่ร่ม และหลีกเลี่ยงการโดนแดดเผาซ้ำ และใช้การประคบเย็นโดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรืออาบน้ำเย็นเพื่อลดความร้อนของผิว ทาโลชั่น หรือถ้าชอบสมุนไพรก็ใช้เจลว่านหางจระเข้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และลดการอักเสบ
ขอย้ำว่าต้องหลีกเลี่ยงการแกะหรือถูผิว ถ้าผิวลอก อย่าฝืนดึงออกเพราะอาจทำให้เกิดแผลและติดเชื้อ หากใช้ครีมมอยส์เจอไรเซอร์ ให้เลือกแบบที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการระคายเคือง ถ้ามีตุ่มน้ำพอง ห้ามเจาะ ต้องปล่อยให้หายเอง เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
นอกจากผิวไหม้แดดแล้ว โรคหรืออาการที่เกิดขึ้นจากความร้อนหรือแดดจัดโดยตรงก็คือ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เกิดจากร่างกายร้อนเกินไปจนควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ตัวร้อนจัดหน้าแดง มึนงง หัวใจเต้นเร็ว อาจหมดสติ สามารถป้องกันได้โดย หลีกเลี่ยงแดดจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพราะในช่วงอากาศร้อน ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจาก เหงื่อออกมากทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาการลมแดดที่พบ เช่น กระหายน้ำปากแห้ง เวียนศีรษะ ปัสสาวะน้อย ป้องกันได้โดยดื่มน้ำบ่อยๆ และต้องเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน
อากาศร้อนยังทำให้อาหารบูดง่าย และเชื้อแบคทีเรียเติบโตเร็วเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องดังนั้น จึงต้องเลือกรับประทานอาหารสะอาด ปรุงสุกใหม่ เก็บอาหารในที่เย็นเสมอ
นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้น อากาศร้อนสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงหรือเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง อากาศร้อนทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพราะร่างกายต้องสูบฉีดเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อระบายความร้อน อาจทำให้ความดันโลหิตลดลง หรือเพิ่มขึ้นในบางคน เสี่ยงภาวะ หัวใจวาย หรือ ลมแดดได้ง่าย
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความร้อนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวน เหงื่อออกมากและปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจทำให้ขาดน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินและยาบางชนิดเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในอุณหภูมิสูง จึงแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลบ่อยขึ้น เก็บอินซูลินและยารักษาเบาหวานในที่เย็น ห้ามเก็บไว้ในที่ร้อนจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอและระวังภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ฤดูร้อนยังเป็นช่วงที่ผลไม้ที่รสชาติอร่อยในประเทศไทยออกมามากมาย ชวนให้หลายคนคุมน้ำตาลไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องระวังการกินผลไม้ที่น้ำตาลสูงมาก ๆ ด้วย
ผู้ที่เป็นโรคปอดและโรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น หอบหืดถุงลมโป่งพอง อากาศร้อนและมลพิษที่เพิ่มขึ้นทำให้อาการหายใจลำบากขึ้นบางคนมีเสมหะข้นเหนียว ทำให้ทางเดินหายใจอุดตันได้ง่าย เสี่ยงต่อ อาการกำเริบ โดยเฉพาะเมื่อมีฝุ่นควันหรือมลพิษ ผู้ป่วยควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงอากาศร้อนอบอ้าว ใช้เครื่องฟอกอากาศในกรณีจำเป็น และพกยาพ่นขยายหลอดลมประจำตัวไว้เสมอ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อากาศร้อนทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมากขึ้นอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงภาวะขาดน้ำ และไตวายเฉียบพลันได้ง่าย ผู้ที่ฟอกไตควรระวังการเปลี่ยนแปลงของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่แพทย์แนะนำหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เพราะจะทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้นหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคทางสมอง โรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคลมชัก อาจมีปัญหาในการรับรู้ความร้อนและกระหายน้ำ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ และลมแดด ผู้ดูแลควรระวังให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้สม่ำเสมอ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ หลีกเลี่ยงอยู่ในที่ร้อนหรืออบอ้าว หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หัวหมุน ควรรีบหาที่ร่มและพักทันที หากมีโรคประจำตัวก็ควรไปพบแพทย์ด้วย หากมีอาการของโรคกำเริบ
โดยสรุป อากาศร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่างรวมถึงโรคเรื้อรังหลายประเภท โดยเฉพาะโรคหัวใจ เบาหวาน ไต และโรคทางเดินหายใจ ดังนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความร้อนจัด และเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย หากท่านมีคำถาม สามารถปรึกษาเภสัชกรได้ หรือสอบถามได้ทาง line @guruya ศูนย์ข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี