ทุกวันนี้ โรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่หลายคนอาจมองข้าม แต่กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเกินไป ในขณะที่คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายเผชิญกับความเสี่ยงของโรคเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
เมื่อไขมันในเลือดสูง ร่างกายจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
นายแพทย์ นิธิวัฒน์ ศรีกาญจนวัชร อายุรแพทย์ ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ให้ข้อมูลว่า ไขมันในเลือดสูงไม่ใช่แค่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในผลตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในระบบไหลเวียนโลหิต ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญหลายส่วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคร้ายแรง ดังนี้
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease - CAD) เมื่อไขมันสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดเป็นระยะเวลานาน หลอดเลือดจะเริ่มแข็งตัวและตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง หากอาการรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เช่นเดียวกับหัวใจ สมองก็ต้องการเลือดที่ไหลเวียนอย่างเพียงพอ แต่เมื่อไขมันอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง อาจทำให้สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
3. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เมื่อหลอดเลือดตีบลง หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลผ่านไปได้ตามปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคไตตามมาได้
4. โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) ภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับหลอดเลือดเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งตับในระยะยาวได้
5. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) การมีระดับไขมันในเลือดสูงมักสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
6. โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease - CKD) เมื่อไขมันสะสมอยู่ในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต อาจทำให้การทำงานของไตลดลง และหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี อาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตในระยะสุดท้ายได้ ดังนั้น การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการ "รู้เท่าทันโรค" และการควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เรามีสุขภาพดีและลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แต่ยังช่วยให้สามารถรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที และลดการลุกลามของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี