ปศุสัตว์นครพนมยกการ์ดสูง ตั้งกำแพงกั้นโรคแอนแทรกซ์ เตือนสายซกเล็กงดบริโภคดิบ ห้ามซื้อเนื้อจากแหล่งไม่รู้ที่มา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 มีผู้ป่วยเป็นชายอายุ 53 ปี ชาวบ้าน ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เข้ารับการรักษาที่ รพ.ดอนตาล ด้วยอาการไข้ขึ้นสูงและมีตุ่มบริเวณผิวหนัง ภายหลังได้มีการส่งตัวไปรักษาต่อที่เข้ารับการรักษาที่ รพ.มุกดาหาร และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เมษายน โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า มีการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์
ต่อมา อำเภอดอนตาล ได้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ห้ามมีการเคลื่อนย้ายโค กระบือ แพะ และ แกะ เข้าออกในพื้นที่ที่มีการพบเชื้อ หากพบสัตว์ดังกล่าวมีอาการไข้สูง ไม่กินหญ้าแต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีน้ำลายปนเลือดไหลออกมา หายใจลำบาก ยืนโซเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ให้กักขังสัตว์ไว้ ห้ามฆ่าหรือชำแหละโดยเด็ดขาด รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
ล่าสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ในส่วนของ จ.นครพนม ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ จ.มุกดาหาร แม้จะไม่พบการแพร่ระบาดจากโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค นายสามารถ อ่อนสองชั้น ปศุสัตว์ จ.นครพนม จึงสั่งการเร่งด่วนไปยังปศุสัตว์อำเภอและตำบล ตรวจสอบจำนวนโค กระบือ แพะ แกะ ในพื้นที่ที่ดูแลรับผิดชอบ และติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานให้ทราบทุกระยะ
ด้าน นายประกิจ ศรีใสย์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีรายงานพบการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ ในเขตลาวใต้แขวงจำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยพบเชื้อเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ทางการลาวได้ออกประกาศแนวทางการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นทั้งห้ามซื้อขาย และเคลื่อนย้ายเข้าออกสัตว์ภายในเมืองโดยเด็ดขาด และห้ามชำแหละ ห้ามประกอบอาหารจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งให้เจ้าของกักขังสัตว์เลี้ยงเพื่อติดตามอาการ
โดย จ.มุกดาหาร อยู่ตรงข้ามกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว มีอำเภอพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ได้แก่ อ.หว้านใหญ่ อ.เมืองฯ และ อ.ดอนตาล การแพร่ระบาดเท่าที่ทราบ ต.เหล่าหมี ก็มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง โอกาสติดเชื้อแอนแทรกซ์ก็มีสูงเช่นกัน ทั้งนี้วิถีของชาวลุ่มน้ำย่อมข้ามไปมาหาสู่กัน อย่างรายที่เสียชีวิตจากติดเชื้อ ทราบว่าเป็นคนลงมือชำแหละในงานบุญผ้าป่า และนำเนื้อไปแจกจ่ายกินกันภายในหมู่บ้าน
โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เชื้อนี้จะแพร่กระจายรวดเร็วมาก เมื่อเจอกับออกซิเจนภายนอก และให้หมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ถ้ามีอาการซึมไม่กินหญ้า มีน้ำลายปนเลือด ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นแอนแทรกซ์ อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัสตัวสัตว์ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ทันที
สำหรับผู้บริโภค มีความกังวลเรื่องซื้อเนื้อวัวในตลาด เพื่อมาประกอบอาหาร หวั่นจะไม่ปลอดภัยนั้น เบื้องต้นโรงฆ่าสัตว์แต่ละแห่ง ต้องมาขออนุญาตชำแหละ ที่สำคัญคอกหรือฟาร์ม จะผ่านการฉีดวัคซีนตามรอบที่กำหนด และเพื่อความมั่นใจให้ดูตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ของกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้า ประเภทเนื้อสัตว์รวมถึงไข่สด ถ้าเห็นป้ายนี้ถือเป็นการรับรองว่าผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐาน
กรณีมีเขียงเนื้อที่ตั้งร้านขายอยู่ในชุมชน เบื้องต้นต้องรู้แหล่งที่มาชัดเจน และช่วงนี้อย่าซื้อจากรถเร่ขายตามหมู่บ้าน ยิ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดยิ่งไม่ควรซื้อมา เพราะไม่ทราบแหล่งชำแหละ อาจจะเป็นสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วชำแหละขายในราคาถูก ทางที่ดีช่วงนี้งดบริโภคเนื้อโค กระบือ แพะ และแกะดิบ เพื่อความปลอดภัยควรปรุงให้สุกก่อน - 001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี