ปวดคอ ปวดไหล่ ไหล่ติด สาเหตุและอาการ นี่คือการส่งสัญญาณเตือนจากร่างกายแล้วว่า เราใช้งานหนักเกินไป มักจะพบปัญหาเหล่านี้กับหนุ่มสาวออฟฟิศ แต่โรคภัยไข้เจ็บของคนในยุคปัจจุบันนี้มักมากับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ อย่างโทรศัพท์ แทปเลท มีประโยชน์ หากใช้ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกทาง มักก่อให้เกิดโทษ จะเห็นได้ว่าอาการปวดคอ ปวดไหล่ ไหล่ติด สามารถเกิดได้กับทุกวัยที่ใช้เทคโนโลยีนานเกินไป
เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) เผยว่า ในยุคของ Social media ผู้คนติดต่อสื่อสารกันผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ติดสมาร์ทโฟน ติดแทปเลท ติดไอแพด ไอโฟน หันไปทางไหนก็เห็นคนก้มมองจอตลอดเวลา ผู้คนสื่อสารกันแบบไม่ต้องเห็นหน้า พิมพ์ตัวอักษรผ่านเครื่องมือซึ่งมีขนาดเล็ก หากลองหลับตานึกภาพก็จะเห็นท่าทางของผู้คนที่ก้มคอ คางยื่น หลังค่อม ไหล่งุ้ม ตัวงอมาด้านหน้า ฯลฯ ท่าทางทั้งหมดนั้นส่งผลเสียต่อโครงสร้างร่างกายมากๆ เลย
พฤติกรรมอุ้งมือต้องงอตลอดเพื่อถือสมาร์ทโฟน ข้อมือเกร็งงอค้างไว้ ศอกอยู่ในท่างอค้างตลอดเวลา ไหล่จะงุ้มงอและลำตัวจะค่อมพับมาด้านหน้า คอก้ม คางยื่นจากการจ้องมองจอ ฯลฯ ท่าทางเช่นนี้หากเล่นทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมง ก็จะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างร่างกาย อาการปวดคอ ปวดไหล่ ไหล่ติด เพราะเล่นมือถือนานจึงเกิดขึ้นได้ ด้วยโครงสร้างของคอ บ่า ไหล่ แขน เป็นโครงสร้างทั้งหมดที่ถูกเชื่อมโยงกันแบบแยกไม่ได้
กระดูก (Skeletal Bone) เริ่มตั้งแต่กระดูกต้นคอ ก้านคอจนถึงหัวไหล่ แล้วต่อไปเป็นกระดูกต้นแขน แขน และกระดูกปลายแขน จนไปถึงนิ้วมือ ตั้งแต่ศีรษะ จรดปลายมือ กระดูกแต่ละชิ้นจะเชื่อมต่อกัน สรุปได้ว่าเมื่อมีการบาดเจ็บข้อต่อส่วนใดส่วนหนึ่งและไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องปัญหาก็จะกระทบไปถึงส่วนต้นและส่วนปลายของข้อนั้นๆ ด้วย
เส้นเอ็นที่เชื่อมข้อ / เยื่อที่เชื่อมกระดูกเข้าหากัน (Ligament / interosseous membrane) เป็นเยื่อหุ้มที่เป็นตัวเชื่อมกระดูกเข้าหากัน ซึ่งถ้ามีการบาดเจ็บเรื้อรังก็จะทำให้เยื่อตรงนี้เกิดพังผืด และทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้
กล้ามเนื้อ (Muscle) กล้ามเนื้อเชื่อมต่อกันตั้งแต่คอมาที่หัวไหล่และต่อมาถึงแขน กล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลเป็นตัวดึงให้ข้อต่อตั้งแต่คอ บ่าหน้าต่อหัวไหล่ ผิดไปจากแนวโครงสร้างฯ และทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อด้านหน้าอก ซึ่งเกาะจากไหล่ไปอก เวลาอยู่ในท่างุ้มไหล่ หลังค่อม กล้ามเนื้อรั้งมากๆ ก็ดึงกระดูกหัวไหล่ให้ดันมาทางด้านหน้า มีผลดันเส้นประสาทด้านหน้า ซึ่งอาจทำให้เส้นเอ็นด้านหน้าหัวไหล่โดนเบียด เกิดการอักเสบ ปวดร้าวลงแขน หรืออาจไปดันเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนให้ตึงตัวมาก จึงเกิดอาการปวดร้าวลงแขนได้
เส้นประสาทและเส้นเลือด เป็นเส้นเดียวกันตลอดแนวตั้งแต่คอจนถึงปลายมือเลย เห็นไหมว่าเพียงการเล่นเกมส์ที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย การใช้ชีวิตประจำวันปกติของคนทำงานหรือการเล่นกีฬาที่ใครๆ คิดว่าน่าจะแข็งแรงไม่ควรเจ็บปวด กลับส่งผลต่อร่างกายจนถึงขั้นใช้แขนไม่ได้ สร้างความความหงุดหงิดรำคาญใจ ในการใช้ชีวิตประจำวัน
สรุปได้ว่าสาเหตุของการปวดคอ ปวดไหล่ ไหล่ติด คือ กล้ามเนื้อแต่ละส่วนที่อยู่รอบหัวไหล่ จะมีจุดเกาะเชื่อม มาจากคอเกือบทั้งสิ้น รวมทั้งลายกล้ามเนื้อก็ทอดพาดผ่านทั้งด้านหน้าและด้านหลังของหัวไหล่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมใดก็ตามที่คออยู่ในท่าก้ม คางยื่น หัวไหล่งุ้มงอ หลังค่อม ลำตัวก้มมาด้านหน้า ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อด้านหน้าและด้านหลัง ถ้าเป็นช่วงคอก็เสมือนคอถูกแรงดึงกระชากลงมาด้านหน้าตลอดเวลาที่นั่งผิด เกิดแรงอัดที่หมอนรองกระดูกคอ กล้ามเนื้อมัดลึกที่ให้ความมั่นคงของกระดูกคอจะอ่อนกำลังลง หมอนรองกระดูกคอจะแคบ เมื่อมีการกดเบียดที่รากประสาทก็จะทำให้มีอาการปวดลึกๆ แปลบๆ ร้าวมาด้านหน้าหัวไหล่ ร้าวลงศอก ร้าวมาต้นแขนด้านหลังและร้าวถึงสะบักก็เป็นได้
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลร่างกายให้อยู่ได้โดยไม่ป่วยไข้ ไม่เจ็บปวด คือต้องรู้จักร่างกาย เหตุเกิดจากตรงไหนก็ไปแก้ที่ตรงนั้น ต้องใช้ร่างกาย ให้เป็น ใช้ให้เหมาะสม ไม่มากไปหรือน้อยไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี