ผู้นำหญิงไทยบนเวทีโลก! 'ศุภมาส' นำเสนอวิสัยทัศน์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง สู่สังคมที่ยั่งยืน เท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนเวที STI Forum 2025 ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในเวที The 10th Multi-stakeholder Forum on Science, Technology and Innovation for the Sustainable Development Goals (STI Forum 2025) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–8 พฤษภาคม ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เวที STI Forum ปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี โดยจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Harnessing Science and Technology for the Effective Delivery of Sustainable, Resilient, and Innovative Solutions” มีผู้แทนระดับสูงจากกว่า 19 ประเทศเข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ในเวทีนี้ นางสาวศุภมาส ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทย โดยตอกย้ำความมุ่งมั่นในการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างสังคมที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ประเทศไทยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technologies) และการดำเนินนโยบายเชิงเป้าหมายที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมสุขภาพ ความเสมอภาคระหว่างเพศ การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเล และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์ SDG 3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการสุขภาพทั้งในประเทศและระดับสากล
รัฐมนตรี อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 (SDG 5) ประเทศไทยได้ขยายการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการฝึกอบรมทักษะสูง โดยเน้นที่การเสริมพลังสตรีผ่านการศึกษาและการฝึกทักษะใหม่ที่ครอบคลุม เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ปัจจุบันมีสตรีกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และยังมีการดำเนินการภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 8 (SDG 8) โดยเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงในสาขาเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาทักษะระดับชาติ รวมถึงมาตรการจูงใจภาคเอกชนในการร่วมพัฒนาศักยภาพแรงงาน
ขณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยยังเดินหน้าผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แนวคิด BCG ยังครอบคลุมการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างรับผิดชอบ หรือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 14 (SDG 14)
น.ส.ศุภมาส ยังกล่าวอีกว่า ในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังคงส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือระดับโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือล่าสุดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างสันติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 (SDG 17) และสำหรับปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ที่กำลังใกล้เข้ามา ตนในนามผู้แทนประเทศไทยขอเชิญชวนประชาคมโลกเร่งเสริมสร้างความร่วมมือ ยกระดับนวัตกรรม และขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยพร้อมร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับโลกหลังยุคเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะยังคงเป็นพลังสำคัญในการนำพาโลกไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
“การเข้าร่วมเวที STI Forum 2025 ของประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของประเทศในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนถึงบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในเวทีโลก โดยไม่เพียงแต่เสนอแนวปฏิบัติของไทยเท่านั้น หากยังร่วมมือกับนานาประเทศในการผลักดันนโยบาย วิสัยทัศน์ และนวัตกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับระบบ โดยสอดคล้องกับแนวทางของ Pact for the Future ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ทั้งนี้ เวที STI Forum ก่อตั้งขึ้นจากข้อเสนอใน Addis Ababa Action Agenda และ 2030 Agenda for Sustainable Development เพื่อเป็นกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี (Technology Facilitation Mechanism – TFM) โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเวทีสำคัญระดับโลกที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับนโยบาย และส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี