นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าวการค้นพบ “สารชีวโมเลกุลใหม่ HeLP (Hevea Latex Polysaccharide) จากเซรั่มน้ำยางพารา” ซึ่งเป็นผลพลอยได้ (by-product) ที่ถูกทิ้งในปริมาณมหาศาลหลายล้านลิตรต่อปีจากอุตสาหกรรมผลิตยางแผ่น/ยางแท่ง โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ (CERB) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และทีมวิจัย และ ดร.นำโชค โสมาภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนซุส จำกัด ร่วมแถลง
นายศุภชัย กล่าวว่า การค้นพบ “สารชีวโมเลกุลใหม่ HeLP (Hevea Latex Polysaccharide) จากเซรั่มน้ำยางพารา” นวัตกรรมปรับสมดุลระดับเซลล์ โดยทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่ค้นพบสารใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนากระบวนการสกัดในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลกอีกด้วย ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ จะเป็นเป็นการสร้างโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี(Biorefinery) หรืออุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง(Inclusive economy) สนับสนุนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เนื่องจากเป็นการพัฒนาภาคเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า(Regenerative economy) สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เซรั่มน้ำยางพาราซึ่งเป็นผลพลอยได้เหลือทิ้งในกระบวนการผลิตไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)
ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทีมวิจัยได้จดสิทธิบัตรทั้งในไทยและต่างประเทศแล้ว และอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียน HeLP เป็นอาหารใหม่ (novel food) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในกลางปีนี้ รวมถึงอยู่ในระหว่างการสร้างโรงงาน Biorefinery เซรั่มน้ำยางพารามาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลกในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ โดยบริษัท อินโนซุส จำกัด โดยโรงงานดังกล่าวมีความสามารถในการสกัดเซรั่มน้ำยางพาราได้วันละประมาณ 20,000 ลิตร ซึ่งจะผลิต HeLP ได้ประมาณเดือนละ 5,000 กิโลกรัม รวมถึงยังสามารถผลิต functional ingredients อื่น ๆ ซึ่งมีศักยภาพพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง อาหารฟังก์ชั่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นวัตกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ผอ.CERB กล่าวว่า ต้นยางพารามีลักษณะพิเศษมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ ในโลกนี้คือ เป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่ถูกกระตุ้นด้วยการกรีดทำให้เกิดบาดแผลในทุกวัน ซึ่งปัจจัยตรงนี้จะกระตุ้นให้ต้นยางพารามีการสร้างสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารที่ช่วยในการสมานแผลตนเองหรือการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่บาดแผลของต้น และเราทราบว่าสารพิเศษเหล่านี้อยู่ในเซรั่มน้ำยางพารานอกเหนือจากตัวที่เป็นเนื้อยาง นี่เป็นที่มาที่ทำให้เราได้สกัดสารที่เกิดจากเซรั่มน้ำยางพาราและค้นพบสารที่มีชื่อว่า HeLP (Hevea Latex Polysaccharide) ซึ่งเป็นสารที่ค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก
จากการวิจัยต่อยอดเราสามารถพัฒนากระบวนการดังกล่าว จากเดิมที่เราสามารถสกัดในห้องแลปได้ แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมได้ เราจึงมีการพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมโดยสามารถจดสิทธิบัตรระดับนานาชาติได้ และนอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสกัดสารดังกล่าว เรายังมีการวิจัยถึงฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อวิจัยว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร จึงเป็นที่มาของการศึกษาเพิ่มเติมและก็ได้พบว่า สารดังกล่าวมีความสามารถในการต้านมะเร็งทั้งในระดับเซลล์และสัตว์ทดลอง และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกที่ช่วยลดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วย นี่เป็นตัวอย่างของการศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่เราค้นพบว่าสารดังกล่าวมีสรรพคุณหรือประโยชน์อย่างไรที่จะนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง เวชสำอาง ซึ่งพบว่าสารดังกล่าวมีสรรพคุณในการกระตุ้น การค้นพบนี้ถือว่าเป็นการพลิกสรรพคุณของต้นยางพาราได้แบบคนละขั้ว จากที่เราคิดว่าสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อยางพาราในอุตสาหกรรมหนังหรือยางรถยนต์ แต่ว่าการค้นพบตรงนี้ทำให้ภาพที่เรามองต้นยางพาราเป็นภาพของต้นยางพาราที่มีลักษณะคล้ายสมุนไพรเป็น Bio facturing ที่ผลิตสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์มากมาย
รศ.ดร.เภสัชกร ฐณะวัฒน์ กล่าวต่อว่า CERB ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากเซรั่มน้ำยางพารามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทจากทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านหน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ ภายใต้กระทรวง อว. เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท อินโนซุส จำกัด ที่สำคัญการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมุ่งเน้นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมด้านยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างผลกระทบ (impact) ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และ สังคม ได้แก่ ลดมลพิษและต้นทุนในการบำบัดเซรั่มจากโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางและส่วนของเซรั่ม ส่งเสริมสหกรณ์กองทุนสวนยางให้มีมาตรฐาน GMP นำไปสู่การสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราใหม่ ที่สร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมยางพารา สอดคล้องตามวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “มหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี