เปิดเวที Climate Tech ไทย: ปฏิบัติการจริงสู่ Net Zero ในงาน SITE 2025 “ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ” ชี้ไทยอาจยังไม่ใช่ผู้นำโลกด้าน Climate Tech แต่กำลังวางรากฐานที่มั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้าง Smart Grid และการเปิดรับนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพ ขณะที่ “สมิทธ์ พนมยงค์” ระบุกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน Climate Tech ต้องเลิกแบ่งฝ่าย “ผู้ร้าย-พระเอก”
6 กรกฎาคม 2568 Sustainability Forum ภายในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2025 (SITE 2025) เปิดมุมมองใหม่ของ “Climate Technology” กับสองผู้นำพลังงานไทย ที่ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ COO กลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน ปตท. และ นายสมิทธ์ พนมยงค์ Senior EVP กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ ร่วมเผยภาพรวมความท้าทายและโอกาสของ Climate Tech ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งอนาคตควบคู่กับ AI, Robotics และ Biotech ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero
ดร.บุรณิน ชี้ว่า Climate Tech คือหัวใจของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ผ่านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ตั้งแต่พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์และลม, รถยนต์ไฟฟ้า (EV), AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ระบบดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ไปจนถึงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ทั้งนี้ ปตท. ได้ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในไทยและอินเดีย, ปรับโรงงานปิโตรเคมีสู่ Bio-based, และศึกษาพัฒนา SMR (Small Modular Reactor) เพื่อรองรับพลังงานสะอาดในอนาคต
“ไทยเราอาจยังไม่ใช่ผู้นำโลกด้าน Climate Tech แต่กำลังวางรากฐานที่มั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้าง Smart Grid และการเปิดรับนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพ” ดร.บุรณิน กล่าว
ขณะที่ นายสมิทธ์ พนมยงค์ เน้นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ต้องเดินควบคู่กับความคุ้มค่าต่อผู้ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้ผู้คนพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยกตัวอย่างต้นทุนโซลาร์ที่ลดลงกว่า 5 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้พลังงานสะอาดกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ กัลฟ์ยังเดินหน้าลงทุนในโซลาร์และฟาร์มลมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง, ติดตั้งโซลาร์บนเสาโทรคมนาคม และร่วมกับไทยคมพัฒนาดาวเทียมวิเคราะห์การปล่อยคาร์บอน เพื่อลดต้นทุนคาร์บอนเครดิต
“Smart Grid และนโยบายรัฐที่ครอบคลุม คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน Climate Tech อย่างมั่นคง เราต้องเลิกแบ่งฝ่าย ‘ผู้ร้าย-พระเอก’ ในอุตสาหกรรมพลังงาน และร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น” นายสมิทธ์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ทั้งสองผู้นำเห็นตรงกันว่า Climate Tech จะประสบความสำเร็จได้จริงเมื่อเทคโนโลยีไม่ใช่แค่ “ของใหม่” แต่ต้องเกิดจากความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ
โดย ดร.บุรณิน ฝากข้อคิดว่า “อย่าให้ความเชื่อมานำหน้าองค์ความรู้” ขณะที่คุณสมิทธ์เสริมว่า “ทุกเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ ถ้าประชาชนเข้าใจและยอมรับ”
ดังนั้น งาน SITE 2025 จึงไม่ใช่แค่เวทีแสดงนวัตกรรมทั่วไป แต่เป็นจุดรวมพลังและโอกาสสำคัญของไทย ในการพลิกโฉมพลังงานและเศรษฐกิจสู่โลกใหม่ที่ยั่งยืน
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี