บริเวณลานกิจกรรมชั้น 2 ท่ามหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่งดงามและเงียบสงบ ภาพถ่ายใบใหญ่ของแม่ไก่ที่ถูกขังอยู่ในกรงแคบ ๆ กลับดึงสายตาผู้คนให้หยุดมอง หลายคนไม่เคยรู้เลยว่า “ไข่ฟองหนึ่ง” ที่เราคุ้นเคย อาจแลกมาด้วยชีวิตที่แสนอึดอัดและทุกข์ทรมาน
นิทรรศการภาพถ่าย “เบื้องหลังความโหดร้ายในอุตสาหกรรมไข่” ที่จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ คือการทำงานอย่างทุ่มเทของ ศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยขององค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล Sinergia Animal ผู้เลือกใช้พลังของภาพถ่ายเพื่อบอกเล่า “เรื่องจริง” ที่ซ่อนอยู่ในจานอาหารของเรา
“เราอยากให้ผู้คนได้เห็นชีวิตของแม่ไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม ว่าเธอไม่มีแม้พื้นที่ให้กางปีก... เพื่อให้ทุกคนได้ตั้งคำถามกับ ‘อาหาร’ ที่เรากินอยู่ทุกวัน” – ศนีกานต์ เล่าด้วยแววตามุ่งมั่น งานนิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลกที่รวบรวมภาพจาก 37 ประเทศ จัดแสดงพร้อมกันใน 7 ประเทศในกลุ่ม Global South รวมถึงประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ผ่านศิลปะและความจริง
เบื้องหลังไข่ไก่ฟองเล็กๆ ที่ไม่เล็กเลย
ในประเทศไทยมีแม่ไก่กว่า 95 ล้านตัว และมากกว่าครึ่งถูกเลี้ยงในระบบกรงที่แออัดจนแทบขยับตัวไม่ได้ ไข่ที่เราเห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายฟองอาจมาจากแม่ไก่ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนตะแกรงเหล็กตลอดชีวิต ถูกเร่งให้ผลิตไข่เกือบวันละฟองจนร่างกายอ่อนล้าอย่างหนัก นอกจากสวัสดิภาพของสัตว์แล้ว ศนีกานต์ ยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมฟาร์มขนาดใหญ่นี้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมโดยตรง
“เมื่อสัตว์อยู่ในความเครียดตลอดเวลา ภูมิคุ้มกันของพวกเขาก็ลดลง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโรคระบาดใหญ่ เช่น ไข้หวัดนก หรือการปนเปื้อนของเชื้อโรคอย่างซัลโมเนลลา (ในไข่ไก่)” ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มขนาดใหญ่ยังปล่อยของเสียจำนวนมหาศาลที่กระทบต่อคุณภาพอากาศและเป็นหนึ่งในต้นเหตุของ PM2.5 ที่เราทุกคนหายใจเข้าไปทุกวัน
เมื่อคนรุ่นใหม่ “กินอย่างมีจริยธรรม”
แม้ภาพรวมอาจดูท้าทาย แต่ ศนีกานต์ บอกกับเราด้วยรอยยิ้มว่า “ความหวังยังคงอยู่” เธอมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาหาร plant-based และในภาคธุรกิจที่เริ่มขานรับนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง
“ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทกว่า 80 แห่งแล้วที่ประกาศใช้นโยบายไข่ปลอดกรง เช่น Zen, Minor Food, Sukishi และล่าสุด ONYX Hospitality Group ที่ขยับเปลี่ยนมาใช้ไข่จากระบบที่ดีกว่า 100%”
เธอยังยกตัวอย่างความร่วมมือกับผู้ผลิตไข่และฟาร์มในประเทศที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น CP, Betagro, และสงวนฟาร์ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยก็พร้อมจะเดินหน้า เพียงแค่ต้องการแรงขับเคลื่อนร่วมกัน
พลังของผู้หญิงในงานเปลี่ยนแปลงสังคม
ศนีกานต์ เล่าว่า การทำงานรณรงค์ โดยเฉพาะในประเด็นที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงในแวดวง NGO ที่ต้องลงพื้นที่ ทำงานกับชุมชน และรับมือกับความไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่เธอค้นพบกลับเป็น “จุดแข็ง”
“ในฐานะผู้หญิง เรามีความเข้าอกเข้าใจ และใช้การสื่อสารที่อ่อนโยน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเราต้องทำให้คนเปิดใจและมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ และ งานนิทรรศการครั้งนี้ไม่ใช่แค่การจัดแสดงภาพถ่าย แต่คือการเริ่มบทสนทนาใหม่ในสังคม” และเธอยังหวังว่า ผู้ชมจะไม่เพียงแค่รับรู้ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง—เริ่มจากจานอาหารในบ้าน ไปจนถึงเสียงที่ส่งถึงแบรนด์ที่เราสนับสนุ
เป้าหมายที่มากกว่า “ไม่มีกรง” สู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน
เธอย้ำว่า แคมเปญนี้มิใช่จุดสิ้นสุด แต่เพียงเป็นก้าวแรกในภารกิจระยะยาว ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ตั้งเป้าหมาย ยุติการใช้ระบบกรงตับให้ได้ภายใน 5-7 ปี และสร้างระบบอาหารที่มีความเมตตา โปร่งใส และยั่งยืน อีกทั้ง ความสำเร็จของแคมเปญไม่ได้วัดแค่จากจำนวนบริษัทที่เปลี่ยนมาใช้ไข่ไก่ปลอดกรง แต่ยังวัดจากทัศนคติของผู้คนที่เริ่มมองเห็นว่า “ชีวิตของสัตว์มีคุณค่า” ไม่ต่างจากชีวิตของเรา
"เป้าหมายสูงสุดคือ อยากเห็นประเทศไทยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน และมีการใช้ไข่ไก่ปลอดกรงแบบ 100%" ศนีกานต์ทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชมไม่หยุดเพียงแค่การรับรู้ แต่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวนี้กับคนรอบข้าง เพื่อขยายพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี