สุดยอดภูมิปัญญาไทบ้าน! คุณตาเมืองช้างผลิตระหัดผัดหม่อนไหมขายสร้างรายได้
วันเสาร์ ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561, 17.50 น.
27 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทอง แข่งขัน หรือคุณตาทอง อายุ 65 ปี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ หลังเสร็จจากการทำนา ซื้อปลา ขายปลา ได้ทำระหัดผัดหม่อนไหม (ภาษาเขมรพื้นถิ่นสุรินทร์) หรือเครื่องปั่นด้ายกรอไหมโบราณ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะมีกลุ่มทอผ้าไหมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง สั่งทำ 2-3 อันต่อเดือน พอว่างจากการซื้อหนองจับปลาขาย คุณตาทอง ก็จะมาทำระหัดผัดหม่อนไหม ตามออเดอร์ สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

คุณตาทอง แข่งขัน เป็นคนสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว ทำทุกอย่างที่ เพื่อหารายได้เข้าครอบครัว หลังฤดูการทำนา ไม่ว่าจะเป็น การทำคันเบ็ด สำหรับตกใส่ปลา ทำอีจู้สำหรับใส่ปลาไหล ทำกระด้ง ทำตุ้งดักปลา สานตะกร้า ซึ่งได้เรียนรู้จากคุณพ่อบึง แข่งขันซึ่งเครื่อง ปั่นด้าย กรอไหม เครื่องปั่นด้ายหรือกรอไหม บางพื้นที่เรียกว่า ไน หลา กงปั่นด้าย หลา ปั่นด้าย เครื่องกรอไหม บางท้องถิ่นทางภาคเหนือเรียก กวง หรือ เผี่ยน หรือ เพียน เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องของล้อและเพลา ในสมัยโบราณ เครื่องมือปั่นด้ายเรียกว่า “แว” มีลักษณะกลมใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย มีรูตรง กลางสำหรับเสียบไม้ปั่นด้าย ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องปั่นด้าย หรือไน ลักษณะทั่วไปของไน จะเป็นวงกลม ติดตั้งอยู่ระหว่างขาสองอันที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง และมีเหล็กสอดเป็นคันสำหรับหมุนวงล้อ ส่วนขาติดตั้งอยู่บนส่วนหัวของฐานที่ทำ ด้วยไม้ท่อนยาวประมาณ 30 นิ้ว โดยที่ส่วนปลายของท่อนไม้จะมีเหล็กไนสอดอยู่กับขาตั้งโดยโผล่เหล็กไนออกมา ไว้สำหรับเป็นที่สวมของหลอดไม้ไผ่ที่ทำเป็นที่ กรอด้าย และระหว่างวงล้อจะมีสายพานทำด้วยเชือกโยงมาเพื่อหมุนเหล็กไน ดังนั้นเมื่อมีการหมุนวงล้อเหล็กไนก็จะหมุนไปด้วย เครื่องมือนี้ใช้สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเกลียวแน่นจนเป็นเส้นด้าย หรือใช้กรอ เส้นด้ายเข้าไส้หลอดสำหรับเป็นเส้นพุ่ง โดยใช้คู่กับระวิงหรือกงกว้าง โดยการนำด้ายที่ผ่านการล้อหรือดิ้วจนเป็นหลอดแล้ว มาจ่อที่ไนแล้วหมุนวงล้อ ในขณะที่วงล้อหมุนไนก็จะหมุนตาม เกิดเป็นแรงเหวี่ยงที่ดึงม้วนด้ายที่จ่อไว้ตีเป็นเกลียว ให้ใช้มือที่ถือหลอดม้วนด้ายดึงออกจากไนจะทำให้เกิดเป็นเส้นด้าย จากนั้นให้ผ่อนแรง มือเส้นด้ายก็จะม้วนอยู่กับไน ทำเช่นนี้จนใกล้หมดม้วนด้ายก็นำม้วนด้ายใหม่ต่อ เนื่องกันไปเป็นเส้นฝ้ายเดียวกันจนเต็มไน

นายทอง แข่งขัน อายุ 65 ปี เปิดเผยว่า ตนอยากจะอนุรักษ์ระหัดผัดหม่อนไหม แม้ว่าจะรายได้จากการทำระหัดผัดหม่อนไหม (ภาษาเขมรพื้นถิ่นสุรินทร์) หรือเครื่องปั่นด้ายกรอไหมโบราณ ไม่มากนัก กำไรต่อชิ้นประมาณ 1,500 บาท เดือนหนึ่งจะทำได้ประมาณ 3 อัน มีรายได้ประมาณ 4,500 บาท กระบวนการผลิตหรือการปั่นด้ายมีวิธีการที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก เป็นเครื่องมือตามภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และสร้างคุณภาพ ในกระบวนการผลิตผ้าไหมสุรินทร์แบบโบราณซึ่งนับวันยิ่งจะสูญหายไปจากสังคมไทย