วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ

‘มหาสารคาม’เมืองรองสุดcool อุดมมนต์เสน่ห์พื้นถิ่นยิ่งเที่ยวยิ่งหลงรัก

วันศุกร์ ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561, 06.00 น.
Tag : กกบ้านแพง กาแฟขี้ช้าง คันแทนาเธียเตอร์ ททท. แนวหน้าพาเที่ยว พระธาตุนาดูน ฟาร์มช้างทองคำ มหาสารคาม สะพานไม้แกดำ หมอลำหุ่นกระติ๊บ หุ่นฟางยักษ์ อีสานแซ่บนัว ฮูปแต้ม coolisan
  •  

เมืองมหาสารคาม หรือ ตักศิลา แดนดินถิ่นอีสานที่อุดมไปด้วยแหล่งเพิ่มพูนความรู้หลายแห่ง เมืองใหญ่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าจะมีของดีซ่อนอยู่มาก เพียงก้าวแรกก็สามารถทำให้คุณประทับใจได้จากการต้อนรับด้วยไมตรีจิตจากพี่น้องชาวมหาสารคาม อีกทั้งจังหวัดนี้ยังแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์พื้นถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวแบบคูลๆ รอให้ผู้คนได้มาสัมผัส ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีมานานหลายสิบปี

โดยการเดินทางไปยังจังหวัดมหาสารคามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ในครั้งนี้ เริ่มต้นกันด้วยการไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กันที่ องค์พระธาตุนาดูน อ.นาดูน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี องค์พระธาตุสูงตระหง่านโดดเด่น รายล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพรรณให้ความร่มรื่นทั่วบริเวณ โดยความเป็นมาพื้นที่เดิมแห่งนี้เคยเป็นที่นา เมื่อปี พ.ศ.2522 นายทองดีเจ้าของนา ได้ขุดเจอพระพิมดินเผาจำนวนกว่า 17 ชิ้น และได้นำไปมอบให้พิพิธภัณฑ์ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวจะได้ไปขุดหากันบ้าง พอขุดไปได้ 6 เมตร ก็เจอลานอิฐแดง เจอสถูปซึ่งส่วนตรงกลางพบพระอบที่บรรจุพระอังคารไว้อยู่ เมื่อนำไปให้กรมศิลปากรตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นพระบรมสารีริธาตุ จึงได้นำไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอนาดูนและได้มีการจัดงานนมัสการสรงน้ำพระบรมสารีริธาตุ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2528 รัฐได้จัดสรรงบประมาณมาจัดสร้างพระบรมสารีริกธาตุ บนเนื้อที่ 902 ไร่ ก่อสร้างเสร็จปี พ.ศ.2530 และได้อันเชิญพระธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุแห่งนี้ หลังจากนั้นก็จัดงานนมัสการในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งจัดมาถึงปัจจุบันนี้ อีกทั้งพระธาตุแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการเรียกขานกันว่า พุทธมณฑลอีสาน


นอกจากนี้ตามความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่าพระธาตุแต่ละทิศนั้น สามารถไหว้ขอพรให้ประสิทธิผลได้ต่างกัน โดยทางด้านทิศด้านเหนือนั้นไหว้ขอพรเรื่องการงาน ทิศตะวันออกไหว้ขอพรเรื่องสุขภาพ ทิศตะวันตกไหว้ขอพรเรื่อง ครอบครัวความรัก  และทิศใต้ไหว้ขอพรเรื่องโชคลาภ ซึ่งเมื่อสมปรารถนาก็จะนำดอกไม้ 9 ช่อ ผลไม้ 9 อย่าง หรือฆ้องขนาดต่างๆ มาถวายด้วย

สถานที่ต่อไปเรายังอยู่กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยไปชมความงามของ “ฮูปแต้ม” หรือจิตรกรรมฝาผนังอายุนับ 100 ปี วาดด้วยสีฝุ่นผสมยางไม้ วรรณะสีเย็น ปรากฏเป็นเรื่องราวสวยงามอยู่บนฝาผนัง สิมวัดโพธาราม หมู่บ้านดง ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน โดยภาพวาดโดยรอบทั้งด้านนอกและด้านในบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวพุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก สังข์ศิลป์ชัย ผสมผสานกับวิถีชุมชนในสมัยนั้น และมีอักษร “ตัวธรรม” ซึ่งเป็นตัวอักษรภาษาลาว เขียนอธิบายภาพเอาไว้ด้วย ซึ่งศิลปกรรมทั้งหมดนี้เป็นผลงานอันวิจิตรที่รังสรรขึ้นโดยฝีมือชาวบ้านดงบัง 

สำหรับความเป็นมาของ สิมวัดโพธาราม คำว่า สิม เป็นภาษาอีสานแปลว่า พระอุโบสถ สร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2541 ลักษณะแบบท้องถิ่น อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานยกสูง มีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว ทางขึ้นประดับปูนปั้นรูปพญานาค ที่ปั้นโดยช่างญวณ ตามคำบอกเล่า ตรงกลางของอุโบสถ หรือที่เรียกว่า สะดือสิม มีของมงคลของขลังต่างๆ ฝังไว้ในตอนสร้างอีกด้วย แต่เดิมสิมใช้เพื่อกิจกรรมทางสงฆ์ สวดมนต์ ทำพิธีอันศักดิ์สิทธ์ต่างๆ ซึ่งในสมัยนั้นจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในตัวอุโบสถโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความเชื่อว่าจากทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมลง ส่วนในปัจจุบันอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมความงดงามภายในสิมได้ แต่ยังคงห้ามสุภาพสตรีไม่ให้เข้าไปด้านใน สามารถชมความงามได้จากภายนอกเท่านั้น ส่วนบริเวณโดยรอบยังมี หอแจก ศิลปะญวน ที่ใช้ในกิจกรรมสำคัญในการทำบุญของชาวบ้าน เป็นโรงทาน ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหอแจกหนึ่งเดียวในจังหวัดมหาสารคาม

ทั้งนี้ ฮูปแต้ม ศิลปะโบราณอันงดงามนี้ไม่มีแค่เพียงแห่งเดียว ห่างออกไปอีกหนึ่งกิโลเมตรจะพบกับ สิมวัดป่าเรไร ตั้งอยู่ที่บ้านหนองพอก ตำบลดงบัง สิมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2454 โดยรอบประดับไปด้วย ฮูปแต้ม เรื่องราวรามเกียรติ์ พระมาลัย พระเวสสันดรชาดก วาดโดยช่างท้องถิ่นคนเดียวกัน ซึ่งศิลปกรรมทั้งสองแห่งนี้ล้วนมีความวิจิตรและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควรแค่แก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ลูกหลานได้เรียนรู้และสืบทอดไปยังรุ่นต่อไป

หลังจากที่เต็มอิ่มกับเรื่องราวความเป็นมาในอดีตกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาไปสัมผัสวิถีพื้นบ้านและงานศิลปะสุดเจ๋งจากฝีมือคนรุ่นใหม่กันบ้าง โดยเราได้เดินทางไปต่อกันที่ คันแทนาเธียเตอร์ หรือโรงละครโฮม ทองศรี อุปถัมภ์ บ้านหนองใต้ ต.นาดูน อ.นาดูน ก้าวแรกเมื่อไปถึงก็ทำเอาผู้เขียนประทับใจเสียแล้ว เมื่อชาวบ้านได้นำพวงมาลัยดอกรักมาคล้องคอให้การต้อนรับอย่างความอบอุ่น ก่อนที่จะพาคณะเข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือรับขวัญตามประเพณท้องถิ่นโดยพ่อใหญ่แม่ใหญ่ของหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีก็ถึงเวลาอาหารกลางวันพอดี มื้อนี้เราล้อมวงทานขันโตกแบบอีสาน จกข้าวเหนียวทานคู่กับเมนูแซ่บนัว อาทิ ยำไข่มดแดง ต้มยำไก่บ้าน ต้มซุปหน่อไม้ ไก่ทอด น้ำพริก ที่ทำเอาอิ่มท้องชวนหนังตาหย่อนสุดๆ แต่ถึงแม้จะง่วงแค่ไหนก็ต้องอดใจไว้ก่อนเพราะยังมีกิจกรรมรออยู่อีกเพียบ

ไม่รอช้ามาถึงถิ่นหมอลำหุ่นกระติ๊บ คณะเด็กเทวดา ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยทั้งที จะไม่ชมการแสดงก็เห็นจะมาไม่ถึงที่ ซึ่งในวันนี้เราจะได้ชมหมอลำหุ่นกระติ๊บกันในละครเรื่อง องคุลีมาล ละครที่เนื้อหาสนุกและยังแฝงไว้ด้วยคำสอนเรื่องบาปบุญ ดำเนินเรื่องไปพร้อมเสียงแคนและคำร้องภาษาอีสาน ทำการแสดงโดยเยาวชนภายในชุมชน โดยมีนายปรีชา การุณ หรือครูเซียง เป็นผู้ฝึกสอน และลูกศิษย์ก็ได้ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นมานานกว่า 10 ปี ซึ่งตลอดการแสดงเราจะสัมผัสได้ถึงมนเสน่ห์และภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่หาชมได้ยาก ถือเป็นอีกหนึ่ง UNSEEN ที่อยากให้ทุกคนได้มาชมกัน (คลิกเพื่อชมคลิปหมอลำหุ่นกระติ๊บ)

เมื่อชมการแสดงหมอลำหุ่นกระติ๊บจบแล้ว ก็ลองมาทำหุ่นกระติ๊บเป็นของตัวเองกันบ้าง โดยใช้วัสดุจากกระติ๊บข้าวเหนียว ไม้ไผ่ ขี้เลื่อย และผ้าขาวม้า ซึ่งวิธีการประดิษฐ์นั้นไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ต้องค่อยๆ บรรจงลงมือทำแต่ละขั้นตอนอย่างใจเย็น ตั้งแต่การต่อตัวหุ่น ปั้นหน้า ไปจนถึงการแต่งตัวให้กับหุ่น ซึ่งกว่าจะสำเร็จเสร็จเป็นชิ้นผลงานก็ใช้เวลาไปหลายชั่วโมงเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านี้ ในพื้นที่นาใกล้เคียงกับโรงละครนั้น มีหุ่นฟางยักษ์เกือบ 20 ตัว จากเทศกาลหุ่นฟางยักษ์ ที่จัดการประกวดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งตระหง่านรอให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูป ชมความงาม ความอลังการของหุ่น โดยหุ่นฟางเหล่านี้เป็นฝีมือของเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมไปถึงชาวชุมชนที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา   

ก่อนที่จะไปสถานที่ต่อไป ขอคั่นการเดินทางด้วยการแวะจิบกาแฟที่ราคาแพงที่สุดในโลกก่อน โดยเราได้เดินทางไปยัง ฟาร์มช้างทองคำ ต.นาข่า อ.วาปีปทุม สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีพี่ช้างให้ชมและถ่ายรูประหว่างลิ้มรสกาแฟขี้ช้าง แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่คอกาแฟ แต่เมื่อได้ดื่มก็สามารถสัมผัสถึงความแตกต่างของรสชาติได้อย่างชัดเจน กาแฟขี้ช้างมีกลิ่นหอมละมุน มีรสขมรสเปรี้ยวน้อยกว่ากาแฟชนิดอื่นๆ และดื่มง่าย ส่วนราคาที่ว่าแรงและแพงที่สุดในโลกนั้น มีราคาแก้วละ 1,000 กว่าบาท หรือกิโลกรัมละ 40,000 บาท แน่นอนว่าราคาระดับนี้คงทำให้หลายคนถึงกับตกตะลึง แต่หากรู้ถึงปัจจัยและกระบวนการผลิตแล้วอาจทำให้คุณอยากลองชิมดูสักครั้ง

กาแฟขี้ช้างผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูกาลที่เมล็ดกาแฟพันธ์อาราบิก้าที่เลือกใช้จะสุกแดง โดยจะนำมาให้ช้างกินเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของอาหารต่อวัน หรือไม่เกิน 30-50 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ผลผลิตที่ได้หากช้างกินเมล็ดกาแฟไป 100  กิโลกรัม เมื่อช้างขับถ่ายออกมาจะได้เมล็ดกาแฟ 3 กิโลกรัมเท่านั้น จากนั้นก็นำไปคัดแยกเมล็กเพื่อเข้าสู่ขบวนการผลิตตามขั้นตอนต่อไป โดยใช้เวลาในการผลิตทั้งหมดกว่า 2 ปี จึงจะสามารถนำชงทานได้ และด้วยความแปลกความแรร์นี้เอง ทำให้ถูกใจตลาดต่างชาติไม่น้อย มีความต้องการสั่งซื้อสูง จนผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เมื่อพูดกาแฟกันไปแล้ว สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ แหล่งกำเนิดกาแฟขี้ช้าง สำหรับฟาร์มช้างทองคำ เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ตั้งมานานกว่า 9 ปี เพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อน ถูกทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้งจากสถานที่ต่างๆ มาดูแล ปัจจุบันมีช้างทั้งหมด 9 ตัว และมีแผนที่จะรับช้างมาดูแลเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ช่วงแรกที่ตั้งศูนย์ขึ้นมาจะใช้การระดมทุน-การบริจาคเพื่อนำเงินมาเลี้ยงช้าง ต่อมานายธนบดี พรหมสุข ประธานกรรมการ บริษัท ช้างทองคำ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เห็นช่องทางในการสร้างรายได้เพื่อดูแลช้าง จึงได้หันมาศึกษากาแฟขี้ช้างที่มีจุดเริ่มต้นมาจากจังหวัดเชียงราย โดยเจ้าตัวใช้เวลาลองผิดลองถูกด้วยตนเองนานกว่า 2 ปี เพื่อขจัดปัญหาเรื่องกลิ่น กระทั่งค้นพบสมุนไพรที่ช้างสามารถกินได้และยังดีต่อสุขภาพ สามารถแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกท้องเสียและทำให้มูลมีกลิ่นได้ จึงเริ่มทำการผลิตอย่างจริงจัง โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำมาเป็นทุนทรัพย์ สำหรับช่วยเหลือช้างทั้งระบบ ถึงแม้กาแฟขี้ช้างไม่มีเพียงที่นี่ที่เดียว แต่สิ่งที่ทำให้ฟาร์มช้างแห่งนี้ น่ามาเยือนคือ จิตสำนึกดีที่มีต่อเพื่อนร่วมโลก ความเมตตาต่อสัตว์ที่นับวันยิ่งลดน้อยลงและหาได้ยากในมนุษย์บางกลุ่ม

เมื่อพูดถึงพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เชื่อว่าภาพจำหลายคนคงนึกถึงความแห้งแล้ง แต่ในภาพจำเหล่านี้ยังมีแหล่งโอเอซิสซ่อนอยู่จำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับที่ สะพานไม้แกดำ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่จะพาคุณไปยินเสียงนกร้อง สูดกลิ่นสดชื่น รับลมเย็นที่พัดผ่านตัว และได้ไปสัมผัสวิถีชุมชนบ้านหัวขัว โดยสะพานแห่งนี้มีอายุราว 100 ปี ทอดตัวยาวกว่า 1 กิโลเมตร จากวัดดาวดึงษ์แกดำ ไปยังหมู่บ้านหัวขัว เพื่อให้ชาวบ้านใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน โดยฝั่งวัดจะเป็นบึงบัว มีต้นกกขึ้นเขียวชอุ่มเป็นแนวยาว เมื่อเดินไปอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะเป็นพบกับผืนน้ำกว้างใหญ่ ใสสะท้อนกับแสงแดดเป็นประกาย โดยบริเวณนี้เป็นอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ มีพื้นที่ 830 ไร่ ความจุ 1,800,000 ลูกบาศเมตร เป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญให้คนในพื้นที่ได้ใช้สอยเพื่อการเกษตร เก็บผักจับกุ้งจับปลามาทำเป็นอาหารได้ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันคือ ห้ามใช้ไฟฟ้าชอตและแหอวนลาก แลด้วยความความสมบูรณ์ของแอ่งน้ำนี้เองจึงมีนกเป็ดน้ำมาลอยตัวเล่นน้ำหาอาหารฝูงใหญ่ ทำให้เราเดินชมธรรมชาติเพลินตลอดเส้นทาง

เมื่อเดินไปสุดสะพานหมู่บ้านหัวขัวก็พบกับเหล่าแม่ใหญ่จากหมู่บ้านหัวขัวที่มาตั้งขบวน เซิ้งกระโจม หรือ จ่ายกาพย์เซิ้ง ให้การต้อนรับคณะ สำหรับการแสดงดังกล่าวเดิมมีขึ้นเพื่อขอฝนในประเพณีบุญบั้งไฟเดือนหก โดยการรำจะมีท่วงท่าที่เรียบง่ายแต่พร้อมเพรียง ประกอบเสียงร้องกลอนรำที่แต่งขึ้นมาจากวิถีชีวิตและเสียงกล้องใหญ่ให้จังหวะ ส่วนชุดเซิ้งเหล่าแม่ใหญ่ก็ทำขึ้นมาด้วยตนเอง ตั้งแต่ทอผ้า ตัดชุด และทำกระโจม หรือ หมวก  เครื่องประดับสำคัญสำหรับเซิ้งชุดนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หาชมได้ยาก

ก่อนที่จะโบกมือลาเมืองมหาสารคาม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือของฝาก ที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือไปให้ครอบครัวคนสนิทมิตรสหายเจ้านายกันสะหน่อย แต่ก่อนที่เราจะช็อปปิ้งกันนั้น เราได้เดินทางไปยัง ชุมชนบ้านแพง ต.แพง อ.โกสุมพิสัย เพื่อไปชมแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์กันเสียก่อน สำหรับหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่ประชาชนมีอาชีพหลักคือการทำนาปี มีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ดีกว่า คือการปลูกและแปรรูปต้นกกให้กลายผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื่อ กล่องพาชนะต่างๆ กระเป๋าดีไซน์เก๋ ที่โดนใจคนทุกรุ่นทุกวัยและยังถูกใจชาวต่างชาติอย่างมากอีกด้วย

โดยกว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้น คนในชุมชนเริ่มต้นทำด้วยตนเองตั้งแต่ปลูกต้นกกในแปรงนา เมื่ออายุกกได้ประมาณ 2-4 เดือน ต้นกกจะออกดอก ซึ่งเป็นระยะที่มีความเหนียวจึงเริ่มตัดกกได้ โดยใช้เคียวตัดบริเวณโคนต้น เพื่อให้กกแตกหน่อขึ้นมาใหม่  ในระยะเวลา 2 เดือน กกจะโตและสามารถตัดได้อีก โดยจะตัดได้มากปีละ 3 ครั้ง ส่วนระยะเวลาในการตัด 1 แปลง คือ 20 วัน - ครึ่งเดือน ถ้าปล่อยไว้นานกกจะแห้งไม่สวย หลังจากนั้น ก็นำไปสอยและตากแห้งประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อฆ่าเชื้อรา และเตรียมนำส่งขายต่อไป ซึ่งหมู่บ้านนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มมีผู้ปลูกต้นกก 30 เปอร์เซ็นต์ จะทำการปลูก ตัด และตากแห้งเท่านั้นไม่แปรรูป ส่วนกลุ่มแปรรูปอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะซื้อเส้นกกจากอีกกลุ่มมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และส่งขาย เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่สร้างอาชีพให้ทุกคนในชุมชนได้ เมื่อเราได้ชมหมู่บ้านกกจนทั่วแล้ว ก็ย้อนกลับมายังศูนย์ขาย เพื่อเลือกซื้อของที่หมายตากันไว้ตามความต้องการ ถือเป็นการจบทริปอย่างสมบูรณ์

สำหรับการมาเยือนมหาสารคามในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับรายการหลงรักยิ้ม ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสมาเปิดโลกเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ชมความงามของเมืองรองที่มีความคูลไม่แพ้เมืองหลัก ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเมืองไทยมีของดีอยู่มากมาย ยิ่งเที่ยวยิ่งหลงรัก.

พระธาตุนาดูน
พระธาตุนาดูน
ฮูปแต้ม สิมวัดโพธาราม
ฮูปแต้ม สิมวัดโพธาราม
พระประธาน ด้านในสิมวัดโพธาราม
พระประธาน ด้านในสิมวัดโพธาราม
หอแจก วัดโพธาราม
หอแจก วัดโพธาราม
 สิมวัดป่าเรไร
สิมวัดป่าเรไร
โดยรอบ สิมวัดป่าเรไร
โดยรอบ สิมวัดป่าเรไร
ฮูปแต้ม รามเกียรติ์ ณ วัดป่าเรไร
ฮูปแต้ม รามเกียรติ์ ณ วัดป่าเรไร
อาหารอีสานแซ่บนัว
อาหารอีสานแซ่บนัว
หมอลำหุ่นกระติ๊บ คณะเด็กเทวดา
หมอลำหุ่นกระติ๊บ คณะเด็กเทวดา
การแสดงเรื่อง องคุลีมาล
การแสดงเรื่อง องคุลีมาล
\
"บุญเพิ่ม" หุ่นกระติ๊บที่ผู้เขียนลงมือประดิษฐ์ด้วยตนเอง
พ่อใหญ่แสนใจดี ผู้สอนให้คณะได้ลองทำหุ่นกระติ๊บ
พ่อใหญ่แสนใจดี ผู้สอนให้คณะได้ลองทำหุ่นกระติ๊บ
แขนของหุ่นกระติ๊บที่ทำจากไม้ไผ่
แขนของหุ่นกระติ๊บที่ทำจากไม้ไผ่
หุ่นฟางยักษ์ สิงโต
หุ่นฟางยักษ์ สิงโต
ฟาร์มช้างทองคำ ด้านในจะเป็นโรงเลี้ยงช้าง ช่วงเย็นคนดูแลจะพาช้างออกมาด้านนอก
ฟาร์มช้างทองคำ ด้านในจะเป็นโรงเลี้ยงช้าง ช่วงเย็นคนดูแลจะพาช้างออกมาด้านนอก
ช้างเผือก ของฟาร์มช้างทองคำ
ช้างเผือก ของฟาร์มช้างทองคำ
กาแฟขี้ช้างหอมละมุน
กาแฟขี้ช้างหอมละมุน
ด้านหน้าของฟาร์มช้างทองคำ จะเป็นร้านกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มชิมรส
ด้านหน้าของฟาร์มช้างทองคำ จะเป็นร้านกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มชิมรส
สะพานไม้แกดำ
สะพานไม้แกดำ
เซิ้งกระโจม จากแม่ใหญ่ในหมู่บ้าน
เซิ้งกระโจม จากแม่ใหญ่ในหมู่บ้าน
เครื่องแต่งกายที่แม่ใหญ่ทำด้วยตนเอง
เครื่องแต่งกายที่แม่ใหญ่ทำด้วยตนเอง
ดอกต้นกก
ดอกต้นกก
สาธิตการเกี่ยวต้นกก
สาธิตการเกี่ยวต้นกก
ชาวบ้านทอเสื่อกก
ชาวบ้านทอเสื่อกก
ลอมข้าวพัน ณ วัดชัยประสิทธิ์   ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้าน และการแปรรูปกก
ลอมข้าวพัน ณ วัดชัยประสิทธิ์ ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้าน และการแปรรูปกก
ผลิตภัณฑ์ต้นกก จากฝีมือของชาวบ้าน
ผลิตภัณฑ์ต้นกก จากฝีมือของชาวบ้าน
กระเป๋าทรงเก๋ ที่สะพายได้ทุกวัยแถมดูเท่อีกด้วย
กระเป๋าทรงเก๋ ที่สะพายได้ทุกวัยแถมดูเท่อีกด้วย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ลือสนั่น!จ่อเปิดด่านหาดเล็ก 7-10 กค.นี้ นอภ.คลองใหญ่ยอมรับมีการเจรจาแต่ยังไม่ยืนยัน

ตร.เปิด 900 อัตราตำรวจชั้นประทวนวุฒินิติฯ สอบเลื่อนเป็น‘สัญญาบัตร’พนักงานสอบสวน

'สมเด็จพระเทพฯ' ทรงห่วงใย พระราชทานพระให้ 'มทภ.2' แจกจ่ายทหารชายแดนไทย-กัมพูชา

‘ดร.เฉลิมชัย’ปิดหลักสูตร‘ปธส.12’ สร้างผู้นำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตโลกเดือด

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved