ลือสนั่น! ชายแดนหาดเล็กเตรียมเปิด 7 หรือ 10 ก.ค.นี้? นายอำเภอคลองใหญ่ เผยยังไม่มีการยืนยันกำหนดการที่ชัดเจน แม้ทั้งสองจังหวัดจะมีความสัมพันธ์อันดีและมีการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก หลังจากการปิดจุดผ่านแดนมานานกว่า 11 วัน
วันที่ 5 ก.ค.68 นายเชิดศักดิ์ ชุ่มนาเสียว นายอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กล่าวว่า การปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการค้าขายในพื้นที่บ้านหาดเล็ก กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนระหว่างชาวกัมพูชาและชาวบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ ได้หยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง
มาตรการจากกองบัญชาการกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดที่ห้ามรถยนต์และรถบรรทุกสินค้าเข้า-ออก ประเทศกัมพูชา ทำให้ร้านค้าในบ้านหาดเล็กและการขนส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวและประชาชนจากทั้งสองประเทศมาซื้อขายเช่นเคย ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็กจึงอยู่ในภาวะซบเซาและเงียบเหงาอย่างมาก
นายอำเภอคลองใหญ่ยืนยันว่า สถานการณ์ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กไม่ได้มีเรื่องที่น่ากังวล เจ้าหน้าที่ชายแดนของทั้งสองจังหวัดได้เจรจาและหารือกันด้วยความเข้าใจอันดี ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น นักเรียนจากกัมพูชายังคงเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือตามปกติ โดยจำนวนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ จังหวัดตราดยังคงอนุญาตให้ผู้ป่วยจากเกาะกง ประเทศกัมพูชา เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของจังหวัดตราดได้ ซึ่งมีหลายกรณีแล้วที่ได้รับความช่วยเหลือ
สำหรับข่าวลือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กภายในวันที่ 7 หรือ 10 กรกฎาคม 2568 นั้น นายอำเภอคลองใหญ่กล่าวว่าเป็นเพียงข่าวที่ยังต้องประเมินสถานการณ์ความเป็นไปได้ ยอมรับว่ามีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถยืนยันกำหนดการที่ชัดเจนได้ในขณะนี้
ด้านนายนิโรจน์ วัติราชกูร หัวหน้าชุดศุลกากรคลองใหญ่ เปิดเผยถึงผลกระทบจากการปิดจุดผ่านแดนถาวรหาดเล็ก ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าการค้าขายสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านบาท และวันละ 100 ล้านบาท โดยประเทศไทยมีการส่งออกประมาณ 2.8 - 3.0 หมื่นล้านบาท และนำเข้าเพียง 3,000 ล้านบาท
แม้เศรษฐกิจของจังหวัดตราดที่ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดรายได้ไปในระดับหนึ่ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง เช่น กลุ่มผลิตชุดสายไฟรถยนต์สำเร็จรูป และกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ (กางเกงขาสั้นบุรุษทำด้วยโพลีเอสเตอร์, เสื้อเชิ้ตบุรุษทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์, เสื้อทีเชิ้ตสตรีทำด้วยโพลีเอสเตอร์, กางเกงขาสั้นสตรีทำด้วยโพลีเอสเตอร์) รวมถึงกลุ่มอาหารทะเลสด (ปลาสดหรือแช่เย็น, กุ้งมังกรทั้งตัวแช่เย็น, หอยนางรมแช่เย็น, ปูแสมทั้งตัวแช่เย็น) ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าได้รับผลกระทบอย่างมาก
โดยเฉพาะชุดสายไฟรถยนต์สำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากไทยกำลังขาดแคลนและอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่วนกลุ่มสิ่งทอซึ่งผลิตเสื้อชุดกีฬาชั้นนำส่งให้ทีมฟุตบอลในยุโรปยังคงผลิตต่อไปได้ เนื่องจากมีการสำรองวัตถุดิบล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม บางส่วนได้เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อ
"ผมก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเปิดด่านในช่วงวันที่ 7 หรือ 10 กรกฎาคม 2568 เช่นกัน เนื่องจากมีนักลงทุนรายใหญ่ได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อขอให้เปิดในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบกับนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ ซึ่งยังคงต้องติดตามกันต่อไป" นายนิโรจน์กล่าว
นอกจากนี้ มีการแจ้งจากนักธุรกิจชาวไทยที่สั่งซื้อสินค้าก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปิดด่าน โดยฝ่ายความมั่นคงได้อนุญาตให้ส่งออกได้แล้ว แต่ฝ่ายกัมพูชามีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นเรือบรรทุกสินค้าที่จดทะเบียนในกัมพูชาเท่านั้น ล่าสุดมีการจัดส่งสินค้าขึ้นที่ท่าเรือเกาะกงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา และมีภาพยืนยันการขนส่งเรียบร้อยแล้ว - 001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี