วันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินของคนจีนตรงกับ "วันไหว้บ๊ะจ่าง" ซึ่งตรงกับปฏิทินไทย คือ วันนี้ (18 มิ.ย.61) หรือที่เรียกกันว่า "เทศกาลกินบ๊ะจ่าง" (จ้งจึ) และเชื่อว่ามีคนไทยเชื้อสายจีนไม่น้อยที่ยังรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ และทำไมเราต้องไหว้บ๊ะจ่าง? "ทีมข่าวแนวหน้าออนไลน์" จึงไปค้นหาประวัติและตํานานเทศกาลไหว้ขนมบ๊ะจ่างว่ามีความเป็นมาอย่างไร
เนื่องจากในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.268 ในรัชสมัยของกษัตริย์ก๊กฉู่ มีขุนนางผู้หนึ่งนามว่า "ชวีหยวน" (340-278 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นขุนนางตงฉิน รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตถือเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นที่ตั้ง จึงเป็นที่รักใคร่ของประชาชน แต่ก็ถูกขุนนางกังฉินคอยใส่ร้ายป้ายสีต่อองค์ฮ่องเต้ เสมอๆ
จนในที่สุดฮ่องเต้หูเบาก็หลงเชื่อสั่งให้เนรเทศชวีหยวนออกจากเมืองไป ระหว่างที่ร่อนเร่พเนจรอยู่นั้นชวีหยวนก็ได้แต่งบทกลอนเล่าถึงชีวิตที่รันทดและความอยุติธรรมของฮ่องเต้ไว้มากมาย พอความทราบถึงฮ่องเต้ ก็ยิ่งทรงพิโรธหนักเข้าไปอีก ส่วนชวีหยวนก็ยังอดรนทนไม่ได้ ที่จะกราบทูลเสนอแนะข้อราชการที่เป็นประโยชน์กับทางราชการให้กับองค์ฮ่องเต้ แต่ฮ่องเต้ก็ไม่ทรงสนพระทัยเลยแม้แต่น้อยนิด ขุนนางชวีหยวนน้อยอกน้อยใจมาก เลยไปกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำมี่โหล ในมณฑลหูเป่ยซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 นั่นเอง( บางตำราก็ว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง)
พอชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันไปช่วยงมหาศพแต่หาศพเท่าไหร่ก็หาไม่พบ ชาวบ้านเลยเอาข้าวโปรยลงไปในน้ำพร้อมกับอธิฐาน ขออย่าให้พวกปูปลามากัดกินศพของฉวี่หยวนเลย กินแต่ข้าวที่โปรยไว้ให้ก็พอ
จากนั้นเป็นต้นมาในแต่ละปีชาวบ้านที่ซึ่งชวีหยวนไปกระโดดน้ำตายก็จะมาร่วมกันระลึกถึงขุนนางผู้ซื่อสัตย์คนนี้ ด้วยการเอาใบไม้มาห่อข้าวและกับเมื่อห่อเรียบร้อยแล้วจึงเอาไปโยนลงน้ำ และนี่เองจึงเป็นที่มาของเทศกาลไหว้ขนมบ๊ะจ่างที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบัน
เทศกาลบ๊ะจ่างเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวจีน คือเทศกาลตรุษจีน (ชุนเจ๋) เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลบ๊ะจ่าง ซึ่งชาวจีนทั้งแผ่นดินใหญ่แล้วชาวจีนในประเทศต่างๆ ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ส่วนการไหว้บ๊ะจ่างในปัจจุบัน คนจีนจะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้ด้วยธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก การไหว้ด้วยธูป 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าหลัก 5 ธาตุ หรือ โหงวเฮ้ง ของจีน ประกอบด้วย ธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยตรง และถ้าเป็นการไหว้ในไทย ช่วงเช้าก็จะไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ แต่ที่พิเศษหน่อยก็ตรงที่มีบ๊ะจ่างเพิ่มเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดกิจกรรม “วันไหว้บ๊ะจ่าง” ขึ้นที่ตึกอักษรศาสตร์ โดย น.ส.ปิยนุช ทรงวัฒนา ผู้จัดการสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวว่า วันนี้ทางสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรม “วันไหว้บ๊ะจ่าง” โดยจะให้บุคลากร นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนภาษาจีนอยู่แล้ว ได้รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของจีนไปด้วย
สำหรับการไหว้บ๊ะจ่างนั้น 1 ปีครั้ง ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินของจีน เพื่อรำลึกถึงกวีที่รักชาติจนกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย และอีกอย่างหนึ่งที่คนจีนทำในวันไหว้บ๊ะจ่าง คือ พายเรือมังกร แต่ที่ประเทศไทยจะไม่มี ความเชื่อของคนจีนสมัยก่อนบอกว่าจะต้องหาอะไรมาทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ให้ปลามากินศพของกวีรักชาติ ก็เลยคิดค้นบ๊ะจ่างขึ้นมา เนื่องจากบ๊ะจ่างทำมาจากข่าว ซึ่งเมื่อก่อนจะไม่มีเนื้อสัตว์ หรือผักใดๆ เลย จะปั่นข่าวอย่างเดียว แล้วโยนลงไปในน้ำเพื่อที่จะให้สัตว์ที่อยู่ในน้ำมากินบ๊ะจ่างแทนศพของกวี
“ที่บ้านของตนที่เป็นเชื่อสายจีน พอถึงวันไหว้บ๊ะจ่าง ตามความเชื่อของคนจีนพอถึงวันไหว้บ๊ะจ่าง ก็จะห่อบ๊ะจ่าง ไหว้เจ้า ไหว้พระ จากนั้นก็จะนำบ๊ะจ่างมากิน เพราะเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลต่อคนที่กินบ๊ะจ่าง” น.ส.ปิยนุช กล่าว
ด้าน นายเจียง ฮ่าวอวี่ อาจารย์อาสาสมัครชาวจีน ประจำสถาบันฯ กล่าวต่อว่า ที่ประเทศจีนนั้น ไม่ได้มีการไหว้บ๊ะจ่าง จะหอบ๊ะจ่างไว้ เมื่อหอเสร็จก็จะตั้งบ๊ะจ่างไว้ในบ้านทั้งวัน ก่อนจะนำมากิน จากนั้นก็จะมีพิธีการพายเรือมังกร จะมีการกินเหล้า เพราะหากกินเหล้าแล้วร่างกายจะแข็งแรง สุขภาพดี และจะมีการนำหญ้าไปวางไว้ที่หน้าประตู เพื่อช่วยไล่ยุง แมลง ไม่ให้เข้าบ้านมา สำหรับการไหว้บ๊ะจ่างนั้น บางที่ก็ยังอนุรักษ์วัฒนธรรมเอาไว้ แต่บางที่ก็ไม่มีแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี