28 มิ.ย.61 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า ช่วงนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เฒ่าแม่เฒ่า และชาวบ้าน หมู่บ้านช้าง บ้านหนองบัว และบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และชาวบ้านหนองตาด และบ้านยาง ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ นำโดย นายทอง มาดี อายุ 76 ปี พร้อมด้วย นายดำ ศาลางาม อายุ 83 ปี ,นายตุ๋ย ศาลางาม อายุ 65 ปี ,นางเจ็ก ศาลางาม อายุ 65 ปี ,นายเพ็ง หงค์ทอง อายุ 82 ปี และนายสีรา พรมงาม อายุ 82 ปี
ซึ่งเหล่าบรรดาพ่อเฒ่า แม่เฒ่า และชาวบ้าน ต่างมาช่วยกันด้วยจิตอาสา พร้อมยินดีร่วมมือกันทำกระโจมนาค ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้าง เป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากการพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน พูดคุยกันถึงเรื่องอดีตอย่างมีความสุข และอีกหนึ่งสีสันที่สำคัญคือ พ่อทอง มาดี ยังนำเอาแคนคู่กาย มาเป่าเล่นเพื่อความบันเทิงของกลุ่ม สร้างสีสันในการทำงานได้อย่างลงตัว
สำหรับประเพณีบวชนาคช้างนั้นเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวกูย หรือ ชาวกวย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และที่บ้านตากลางแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักของผู้คนในชื่อ หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเพณีบวชนาคช้างจะถูกจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี เมื่อหนุ่มชาวกวยทุกๆ คนที่ออกไปทำงานต่างถิ่นต่างแดนได้มีอายุครบบวช ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวกูยแล้ว หากลูกหลานคนใดต้องการจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ก็ต้องกลับมาบวชที่บ้านตากลางแห่งนี้เท่านั้น หากบวชที่อื่นก็ไม่ถือว่าการบวชนั้นสำเร็จ ประเพณีนี้จึงเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ คนในหมู่บ้าน เป็นพิธีอุปสมบทหมู่ที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์
ในวันแรกนั้นจะมีการทำพิธีปลงผมนาค หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำพิธีทำขวัญ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของนาคตามแบบประเพณีบวชนาคช้างของชาวกูยที่มีมาแต่โบราณนั้น จะเน้นให้มีสีสันสดใส จะเว้นอยู่สีเดียวคือสีดำ และเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและแตกต่างกันออกไปอีก นาคจะต้องแต่งหน้าทาปาก นุ่งโสร่งสวมเสื้อขาวสว่าง คลุมผ้าสี และสวมกระโจมนาคหรือชฎานาค ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ “ผ้าหลากสี” เปรียบดังแสงรุ้ง 7 สีของผู้มีบุญวาสนา “เสื้อสีขาวสว่าง” คือการไม่หมกมุ่นในที่มืด และ “กระโจมนาค” หรือ “ชฎานาค” ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้างนั้น มีความหมายว่า ยอดที่แหลมเปรียบดั่งสมองอันหลักแหลมในการศึกษาพระธรรม กระดาษสีเปรียบดั่งความเปลี่ยนแปลงของแสงสี ไม่ให้เราหลงละเลิงไปกับมันเพราะทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ “นุ่น” ที่ห้อยไว้ด้านข้างของกระโจมนาค ถูกใช้แทนต่างหู เปรียบได้ว่าอย่าได้เป็นคนหูเบา อีกทั้งยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกเช่น สังวาล, ตรึม, กำไล (เครื่องประดับโบราณ) ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว จึงมีการใส่สร้อยทองแทน ในส่วนของปะรำทำขวัญนาค ก็จะมีบายศรี กรวยบวงสรวงเจ้าที่ เครื่องบวงสรวงต่างๆ เช่น ข้าวต้มมัด 8 คู่ ไก่ต้ม เหล้า เป็นต้น ซึ่งในขณะประกอบพิธีทำขวัญนาคนั้น นาคเจ้าภาพและนาคเพื่อน จะต้องถือเคียวและเต้าปูนไว้ตลอดพิธีสู่ขวัญด้วย ซึ่งเคียวมีความหมายคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเต้าปูน คือความหนักแน่น อีกทั้งบาตรก็จะมีการตกแต่งให้เป็นรูปม้า ซึ่งจะหมายถึง ม้ากัณฐกะ พาหนะที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงใช้เดินทางไปแม่น้ำอโนมานและทรงปลงผมที่แม่น้ำแห่งนั้น
เมื่อครั้งอดีต ชาวกูยทั้งหมู่บ้านจะพร้อมใจกันแห่นาคช้าง ไปประกอบพิธีอุปสมบทที่ดอนบวชอันเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่าวังทะลุ เป็นจุดที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน โดยจะใช้พื้นที่ในจุดนี้ทำพิธีอุปสมบทนาคแทนโบสถ์ เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีโบสถ์ จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ”สิมน้ำ” แต่ในปัจจุบันจะประกอบพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่พระอุโบสถวัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง โดยนาคแต่ละคนนั้นจะขึ้นช้างที่บ้าน และแห่นาคไปพร้อมขบวนแห่ของครอบครัว และไปฉันเพลร่วมกันที่วัดแจ้งสว่าง หลังเสร็จจากการฉันเพลก็จะไปรวมกันที่ศูนย์คชศึกษา อันเป็นที่ตั้งของ "ศาลปะกำ" ศาลศักดิ์สิทธิ์ของชาวกูย เพื่อที่จะประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจะมีหมอช้างเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ที่เล่าไว้ว่าหากชาวกูยจะประกอบพิธีใดๆ ก็จะต้องมาบวงสรวงศาลปะกำให้พิธีดังกล่าวสำเร็จลุล่วง หากไม่บวงสรวงก็จะเกิดอาเพศ เสร็จจากการบวงสรวงศาลประกำแล้ว ก็จะเป็นการจัดขบวนแห่นาคช้างไปประกอบพิธีที่ดอนบวช โดยจะมีหมอช้างเป็นผู้นำในการบวงสรวงศาลปู่ตา ซึ่งพ่อแม่นาค นาค ช้าง และชาวบ้านจะไปรวมกันที่ดอนบวชแห่งนี้ โดยในปัจจุบันการประกอบพิธีที่บริเวณดอนบวช คือการไปบวงสรวงศาลปู่ตาเพื่อเป็นการบอกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจะกลับไปประกอบพิธีอุปสมบทที่โบสถ์วัดแจ้งสว่าง
พระครูดร.สมุหาญ ปัญญาธโร อายุ 65 พรรษา เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง บ้านหนองบัว กล่าวว่า อยากให้มีการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีการจักสารกระจอมนาค เพราะเวลามีงานบวช ทางชุมชนหรือคนที่จะบวช จะมีกระจอม เพื่อใส่ในการแห่นาค และประกอบพิธีสู่ขวัญนาค เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี