วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
กฎหมายห้าม‘อุ้มหาย-ศาลเตี้ย’  บทพิสูจน์‘ปฏิรูปยุติธรรม’รัฐไทย

กฎหมายห้าม‘อุ้มหาย-ศาลเตี้ย’ บทพิสูจน์‘ปฏิรูปยุติธรรม’รัฐไทย

วันพฤหัสบดี ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561, 06.00 น.
Tag : กฎหมาย ยุติธรรม รัฐไทย ศาลเตี้ย อุ้มหาย
  •  

“ทนง โพธิ์อ่าน”, “พฤษภาทมิฬ2535”, “สงครามยาเสพติด 2,500 ศพ”,“ทนายสมชาย นีละไพจิตร”, “กมลเหล่าโสภาพันธ์”, “บิลลี่ พอละจีรักจงเจริญ”, “ชัยภูมิ ป่าแส”… ชื่อบุคคลและเหตุการณ์ข้างต้นนี้แม้จะต่างกาลเวลาและไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือเป็น “เหยื่อความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ” บางรายถูกทำให้หายสาบสูญจนทุกวันนี้ก็ยังไม่พบร่องรอย ขณะที่บางรายเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่รัฐให้เหตุผลว่าพยายามต่อสู้เจ้าพนักงาน หรือบางกรณีก็ว่าเป็นการฆ่าตัดตอนหักหลังกันเองของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย

ที่งานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการต่อต้านการบังคับให้สูญหาย หรือวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งจัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) POLICE WATCH ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้นๆว่า “อุ้มหาย” มักมีลักษณะเหตุการณ์ดังนี้


“เป็นการดำเนินการโดยใช้คนจำนวนมาก มีการใช้อาวุธโดยทีมผู้ชำนาญด้านการใช้อาวุธและการใช้กำลังบังคับคน มักเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีผู้สั่งการให้กระทำการ มีแผนการเตรียมการ ผู้สั่งการมักมีตำแหน่ง มีอำนาจและมีบริวาร ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักเป็นผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆผู้สั่งการมีเจตนาชัดเจนที่จะกำจัดคนเหล่านี้ให้ไม่มีโอกาสออกมาเรียกร้องและให้คนอื่นๆ ในสังคมไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว”

ในหลักเกณฑ์สากล สุรพงษ์ ระบุว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในปี 2553 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออก อนุสัญญาระหว่าง
ประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : CED) ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย การออกมาตรการต่อต้านการอุ้มหายเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า

โดยเฉพาะ “(ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ..” เป็นกฎหมายที่มีการผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทว่าเมื่อไปถึงชั้นการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ถูกตีกลับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข จนขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

ขณะที่ สัณหวรรณ ศรีสดที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ตั้งข้อสังเกตถึงร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค. 2561 อาทิ “นิยามการอุ้มหาย” ที่ต้องมีองค์ประกอบ“ครบทั้ง 2 ข้อ คือต้องมีการนำพาบุคคลไป และต้องปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น” แต่ในความเป็นจริง ผู้นำพาไปกับผู้ที่ปฏิเสธมักเป็นคนละคนกัน การเอาผิดอาจทำได้ยาก หรือประเด็น “ความผิดของผู้บังคับบัญชา” ที่ร่างกฎหมายของไทยใช้คำว่า “ทราบ” ต่างจากกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้คำว่า “ทราบหรือควรทราบ” ซึ่งพิสูจน์ได้ยากเช่นกัน

มุมมองของผู้เคยอยู่ในแวดวงคนบังคับใช้กฎหมาย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวว่า นอกจากการอุ้มหายแล้ว “ในอดีตมักมีกรณีวิสามัญฆาตกรรม” ให้เห็นในข่าวอาชญากรรมบ่อยครั้ง ทำนองตำรวจไปจับคนร้ายแล้วคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ “เหตุมักเกิดช่วงกลางดึกตีหนึ่งตีสอง” เช้าขึ้นมาก็มีข่าวการชันสูตรพลิกศพ “แต่ระยะหลังๆเรื่องเหล่านี้เงียบหายไป เพราะมีการแก้กฎหมายให้อำนาจอัยการร่วมชันสูตรพลิกศพ รวมถึงมีอำนาจร่วมสอบสวนในคดีวิสามัญฆาตกรรมด้วย” การจะใช้วิธีไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเรื่องยากขึ้น

“ประชาชนทั่วไปทำไม่ได้ จะต้องมีอำนาจรัฐนั่นก็คืออำนาจสอบสวน ถ้าคุมอำนาจสอบสวนไม่ได้ก็อุ้มฆ่าใครไม่ได้ เพราะมันจะเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐาน อาชญากรรมทุกอย่างมันมีพยานหลักฐานทั้งสิ้น มันมีร่องรอย ร้อยละ 90ถ้ามีการสืบสวนที่มีประสิทธิภาพและมีความจริงใจ มันจับคนร้ายได้ทั้งสิ้นอย่างน้อยรู้ตัวคนร้ายหรือผู้กระทำแต่ปัญหาที่มันดำมืดอยู่ทุกวันนี้เพราะมันเป็นการกระทำโดยผู้มีอำนาจรัฐไม่ว่าจะได้รับการส่งสัญญาณจากระดับสูง หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติกระทำไปโดยพละการแล้วผู้มีอำนาจก็ปกป้องทำเป็นไม่รู้” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ยังยกตัวอย่างข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา อาทิ “คดีฆาตกรรมถ้าไม่พบศพตำรวจก็ไม่สามารถสืบสวนคดี” สุดท้ายก็ต้องจำหน่ายเป็นบุคคลสาบสูญไป ซึ่งหากร่างกฎหมายต่อด้านการอุ้มหายสามารถผ่านออกมาบังคับใช้จะสามารถอุดช่องว่างดังกล่าวได้ เพราะกฎหมายนี้แม้ไม่พบศพก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานสืบคดีไปจนถึงที่สุดได้ แม้การเอาผิดจะไม่ใช่ข้อหาฆ่าคนตาย แต่เป็นความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายก็ตาม

อีกทั้ง “คดีอุ้มหายอาจไม่มีอายุความ” เพราะร่างกฎหมาย “กำหนดให้สืบสวนต่อไปจนกว่าจะพบผู้สูญหายไม่ว่าเป็นหรือตาย” ดังนั้นท้ายที่สุด “ไม่ว่าจะสามารถสืบทราบตัวคนร้ายได้หรือไม่” แต่อย่างน้อย“ผู้ก่อเหตุคงอยู่แบบหนาวๆ ร้อนๆไปชั่วชีวิต” เพราะผู้ก่ออาชญากรรมแล้วยังไม่ถูกจับกุมจะต้องนับเวลารอให้หมดอายุความแล้วเมื่อนั้นก็จะไม่มีใครทำอะไรได้อีก การไม่มีอายุความจึงหมายถึงความผิดที่ก่อไว้อาจถูกรื้อขึ้นมาสืบสวนสอบสวนเมื่อใดก็ได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังกล่าวถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นปัญหา เช่น “กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงาน “สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปกักไว้ ณที่อื่นที่ไม่ใช่สถานีตำรวจได้ 3 วัน”โดยตั้งคำถามว่าการให้อำนาจพิเศษนี้เหมาะสมหรือไม่? เพราะรู้กันอยู่ว่าผู้ต้องหาที่ถูกนำไป “สอบขยายผล” ในสถานที่ดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการทรมานให้รับสารภาพ

“จับคนแล้วไปขังไว้ในบ้านที่ผมเรียกว่าบ้านผีสิง ไม่ใช่เซฟเฮ้าส์ (Safe House) เขาต้องไปเช่าอยู่ไกลๆ อยู่ห่างผู้คน พอจับแล้วแทนที่จะพาไปโรงพักก็พาไปที่บ้านนี้ หนักมือไปบ้างก็ตาย พอตายก็เป็นแขวนคอตายบ้างอะไรบ้าง มันน่าเศร้ามาก ต้องทบทวนในประเด็นนี้ อย่างการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เขาจะให้การจับตามหมายและการค้นต้องบันทึกภาพและเสียง ยกเว้นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน อันนี้ก็ดีระดับหนึ่ง

ที่สำคัญคือการสอบสวนต้องบันทึกภาพและเสียง แต่การจับคนไปขังในบ้านผีสิง 3 วัน ผมก็ไม่ทราบเป็นการสอบสวนหรือเปล่า? เขาถือเป็นการขยายผล แต่ขยายผลก็เป็นคำที่ชั่วร้าย ก็ไม่รู้ทำอะไรกันบ้างในกระบวนการนั้น อยู่ในมือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลุ่มหนึ่ง แล้วมันก็จะนำไปสู่การละเมิดมากมาย” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ

ประเด็นการ “อุ้มหาย” หรือการ “วิสามัญฆาตกรรมอย่างมีข้อน่าสงสัย” ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สื่อและประชาชนก็อาจเข้าข่ายร่วมสนับสนุนให้กระบวนการนี้ยังดำรงอยู่” เช่น เมื่อครั้งที่รัฐบาลสมัยหนึ่งประกาศสงครามยาเสพติดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 2,500 ศพกระแสสังคมก็ออกไปในทำนอง “สมควรแล้ว..ตายไปเสียได้ก็ดี” หรือบอกว่าเห็นด้วยเพราะทำให้บ้านเมืองสงบ

“ทรรศนะของสื่อ ทรรศนะของประชาชน มองว่าคนชั่วค้ายาเสพติดบ้าง ลักขโมยบ้างอะไรบ้าง แต่ไม่มีผู้มีอิทธิพลถูกฆ่า มีแต่คนจน ทำให้ไม่ได้ติดตาม อย่าว่าแต่อุ้มฆ่าเลยคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเราจะได้ยินเสมอว่ามีคนถูกยิงตาย เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับการหรือระดับสูงอะไรก็แล้วแต่ บอกผู้ตายมีพฤติการณ์พัวพันกับธุรกิจมืดอะไรต่างๆ คือรู้เห็น จะกระทำหรือไม่กระทำไม่ทราบแต่ว่ารู้เห็น” พ.ต.อ.วิรุตม์ฝากประเด็นชวนคิด

อีกด้านหนึ่ง วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีคนหายสาบสูญที่เชื่อว่าน่าจะถูกอุ้มไปฆ่า ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายว่าหากไม่พบศพตำรวจย่อมไม่อาจสืบสวนในฐานะเป็นคดีฆาตกรรม เรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมานานแล้ว ดังนั้นการที่ปัญหาดังกล่าวไม่ถูกแก้ไขจึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าเป็นการจงใจปล่อยไว้ด้วยจุดประสงค์บางอย่างหรือไม่?

“ผมมองว่าเขาไม่อยากแก้ไข เขาไม่อยากทำให้กระบวนการตรวจสอบคนหายในสังคมไทยมันมีการทำงานอย่างเข้มแข็งแล้วก็โปร่งใส เพราะเขาจะเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการจัดการกับคนเห็นต่าง หรือคนที่จะมาขัดขวางผลประโยชน์ของเขา กรณีที่เกิดขึ้นจากการเห็นต่างกับผู้มีอำนาจหรือไปขัดขวางผลประโยชน์เจ้าหน้าที่ของรัฐ มักจะประสบชะตากรรมเช่นนี้มาโดยตลอด” วีระ ตั้งข้อสังเกต

อีกผู้ได้รับผลกระทบจากเหยื่อความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ที่วันนี้ก็ยังคงติดตามคดีผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนวิธีการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ เพราะเมื่อผู้บริหารสูงสุดส่งสัญญาณ กลไกอื่นๆ ก็พร้อมดำเนินการ เช่นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเพิ่มโทษผู้ขับรถโดยไม่พกใบขับขี่ ทุกหน่วยงานต่างถอยทั้งหมด

“ผมขอเรียกร้องท่านพลเอกประยุทธ์ ขณะที่ท่านกำลังจะวางมือไปสู่การเลือกตั้ง ทำเรื่องดีๆ ให้สาธารณะสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกระบวนการยุติธรรมได้ไหม? เพราะหากตำรวจมีความยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ รับรองได้ว่าที่มันเกิดเหตุการณ์อุ้มหายมันจะลดน้อยถอยลงทันที” ปธ.คกก.ญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ฝากทิ้งท้าย

 

ย้อนไปเมื่อปี 2559 เคยมีข่าวการพบซากหัวกะโหลกและโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติกุดจับ หมู่ 3 บ้านคำบอนเวียงชัย ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สภาพพื้นที่ค่อนข้างเปลี่ยวโดยเฉพาะตอนกลางคืนจะไม่มีผู้สัญจรไป-มา และคนในพื้นที่ทราบกันดีว่าที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ฆ่าคนหรือใช้ทำลายศพที่ถูกฆ่าจากที่อื่น 
โดยมีเรื่องเล่ามาหลายสิบปีทั้งที่เป็นชาวบ้านฆ่ากันเองเพราะฝ่ายหนึ่งไปขโมยวัวควายของอีกฝ่ายหนึ่ง และที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
ฆ่าบุคคลที่เชื่อว่ามีพฤติกรรมพัวพันกับยาเสพติด
ย้อนไปเมื่อปี 2559 เคยมีข่าวการพบซากหัวกะโหลกและโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติกุดจับ หมู่ 3 บ้านคำบอนเวียงชัย ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สภาพพื้นที่ค่อนข้างเปลี่ยวโดยเฉพาะตอนกลางคืนจะไม่มีผู้สัญจรไป-มา และคนในพื้นที่ทราบกันดีว่าที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ฆ่าคนหรือใช้ทำลายศพที่ถูกฆ่าจากที่อื่น โดยมีเรื่องเล่ามาหลายสิบปีทั้งที่เป็นชาวบ้านฆ่ากันเองเพราะฝ่ายหนึ่งไปขโมยวัวควายของอีกฝ่ายหนึ่ง และที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฆ่าบุคคลที่เชื่อว่ามีพฤติกรรมพัวพันกับยาเสพติด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ถึงเวลา \'หาที่อยู่ที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความยุติธรรมให้ผู้อยู่เหนือกฎหมาย\' ได้แล้ว ถึงเวลา 'หาที่อยู่ที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความยุติธรรมให้ผู้อยู่เหนือกฎหมาย' ได้แล้ว
  • ‘นักวิชาการ’มองปัญหา‘แก๊งคอลฯ’ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐและกฎหมาย ‘นักวิชาการ’มองปัญหา‘แก๊งคอลฯ’ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐและกฎหมาย
  • ‘ถาวร เสนเนียม’  คดี‘ตากใบ’รอยด่าง‘ยุติธรรม’  จับตาสถานการณ์‘ปลายด้ามขวาน’ ‘ถาวร เสนเนียม’ คดี‘ตากใบ’รอยด่าง‘ยุติธรรม’ จับตาสถานการณ์‘ปลายด้ามขวาน’
  • เตือนตัวแทนไฟแนนซ์ ทวงรถคืนได้อย่างเดียว ขู่ขอค่าอื่นๆเข้าข่ายผิดกฎหมาย เตือนตัวแทนไฟแนนซ์ ทวงรถคืนได้อย่างเดียว ขู่ขอค่าอื่นๆเข้าข่ายผิดกฎหมาย
  •  

Breaking News

(คลิป) วิเคราะห์การไต่สวนคดี! 'นช.ทักษิณ'ชั้น14 เตือน! ระวังให้การเท็จ 'ซักซ้อมมาอย่างดี แต่รายระเอียดเป๋'

เขตดินแดงแห่งใหม่ สูง 18 ชั้นเตรียมเปิดให้บริการก.ค.นี้

ซีรีส์วายช่อง7 HD'อาการมันเป็นยังไงไหนบอกหมอ'จัดพิธีบวงสรวงเอาฤกษ์ก่อนเปิดกล้อง

(คลิป) 'อุ๊งอิ๊งค์'อ้าง! เตรียมเอกสารไม่ทัน ชำแหละเบื้องหลัง ขอขยายเวลา 15 วัน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved