วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘ชาตินิยมข้น-ชุมชนอาเซียนจาง’  ต้นตอวิวาทะ‘วัฒนธรรมนี้ของใคร’

‘ชาตินิยมข้น-ชุมชนอาเซียนจาง’ ต้นตอวิวาทะ‘วัฒนธรรมนี้ของใคร’

วันจันทร์ ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.
Tag : ชาตินิยมข้น-ชุมชนอาเซียนจาง
  •  

“อาเซียน (ASEAN)” เป็นประชาคมที่ประกอบด้วย 10 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายคนฝันว่าวันหนึ่งจะสามารถ “หลอมรวม” ได้อย่างต้นแบบในอุดมคติอย่าง “สหภาพยุโรป (อียู - EU)” เห็นได้จากเมื่อช่วงก่อนปี 2558 หันไปทางไหนก็มีแต่คำว่า “เออีซี (AEC)” อันหมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการพูดถึงการเดินทางไปมาทั้งท่องเที่ยว เรียนหนังสือ ทำงาน ฯลฯ ได้อย่างเสรีในภูมิภาค

แต่ดูเหมือน “ความจริงจะตรงข้ามกับความฝันอย่างสิ้นเชิง” ไม่เพียงแต่อาเซียนจะไม่สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันได้เท่านั้น ยังมี“ความขัดแย้ง” ที่จะใช้ศัพท์ยอดฮิตของยุคนี้อย่าง “ดราม่า” ก็คงไม่เกินเลยไปอีกต่างหาก เพราะ “วัฒนธรรมต่างๆ ก็ยังมีการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงความเป็นเจ้าของ” ไล่ตั้งแต่ “มวย-โขน” ที่เป็นปัญหาอยู่เรื่อยๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือไม่นานนี้กับกรณี “อาหารแผงลอยข้างถนน (Hawking - Street Food)” ที่สิงคโปร์อ้างว่าเป็นวัฒนธรรมของตนแต่มาเลเซียก็ออกมาโต้แย้งทันทีว่าไม่ใช่


วิวาทะ “วัฒนธรรมนี้เป็นของฉัน” ดูจะเป็นเรื่องปกติของชาวอาเซียนไปเสียแล้ว นอกจากกรณีข้างต้น “มาเลเซีย-อินโดนีเซีย” ก็เป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กันมานาน ดังที่ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยกตัวอย่างไว้หลายเรื่องในเวทีเสวนา “เลือด (อาเซียน) ข้น คนจาง :วัฒนธรรมกับความขัดแย้งและชาตินิยม”ณ มธ. (ท่าพระจันทร์) เมื่อเร็วๆ นี้

เช่น “ทาริ เป็นเด็ท (Tari Pendet)” ระบำที่มีต้นกำเนิดบนเกาะบาหลีในอินโดนีเซีย เมื่อมีสารคดีที่เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียที่เผยแพร่ในสิงคโปร์นำระบำดังกล่าวไปใส่ไว้แม้แต่เพียงไม่กี่วินาที ชาวเกาะบาหลีพร้อมด้วยรัฐบาลอินโดนีเซียก็ออกมาประท้วงทันที แต่กรณีนี้ไม่บานปลายเพราะรัฐบาลมาเลเซียอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นความผิดของผู้ทำสารคดีในสิงคโปร์ต่างหาก

และยังมีอีกหลายกรณี เช่น “กริช (Keris)” อาวุธของนักรบในวัฒนธรรมมลายู(ดินแดนที่ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงภาคใต้ตอนล่างของไทย) ในปี 2550 มีนักการเมืองมาเลเซียเดินถือกริชเข้าไปในที่ประชุมพรรคเพื่อประกาศว่ากริชเป็นวัฒนธรรมของมลายูมาเลย์ แน่นอนอินโดนีเซียก็ประท้วงตามเคย หรือจะเป็น “ผ้าบาติก (Batik)” ที่ทั้ง 2 ชาติก็ยังอ้างสิทธิ์ว่าต้นกำเนิดอยู่ในประเทศตนเอง

แม้กระทั่งวัฒนธรรมที่คนไทยทางภาคใต้คุ้นเคยอย่าง “หนังตะลุง” เชื่อหรือไม่ว่ามาเลเซียกับอินโดนีเซียก็เคยมีวิวาทะกันมาแล้ว โดยในปี 2552 มาเลเซียที่เรียกหนังตะลุงว่า “วายัง กูลิท (Wayang Kulit)” รัฐบาลมาเลเซียต้องการประกาศให้หนังตะลุงเป็นสมบัติของชาติ ด้วยอ้างว่ามีมาก่อนหนังตะลุงบนเกาะชวาของอินโดนีเซีย แน่นอนชาวอินโดนีเซียย่อมไม่พอใจและออกมาประท้วง

หรือแม้แต่เพลง “ราซา ซายัง (Rasa Sayange)” ที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในมหกรรมกีฬาของชาวเอเชียอย่าง เอเชี่ยนเกมส์ (Asian Games) ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 18 ส.ค.-2 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียก็ไม่พอใจเช่นกัน โดยย้อนไปในปี 2550การท่องเที่ยวแห่งประเทศมาเลเซียที่คิดคำขวัญ “มาเลเซีย : เอเชียที่แท้จริง (Malaysia : Truly Asia)” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้จัดทำโฆษณาและมีการนำเพลงดังกล่าวไปประกอบ และยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะที่ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชชอาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่างตำนาน “พระโคพระแก้ว” ของชาวกัมพูชาที่เล่าสืบต่อกันมาว่า อารยธรรมเขมรในอดีตเคยรุ่งเรืองมีโค (วัว) ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์มากเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง กระทั่งเมื่อต้องสู้รบกับอาณาจักรของชาวสยาม (ชื่อเดิมของไทย) ในตอนแรกกองทัพชาวสยามไม่สามารถทำอะไรโควิเศษนี้ได้ กระทั่งต่อมาชาวสยามมีการสร้าง “โคยนต์” ออกมาสู้กับโควิเศษของกัมพูชาจนล้มโควิเศษลงได้ในที่สุด พร้อมกับทำลายอาณาจักรของกัมพูชาลง

ไม่เพียงเท่านั้น “เมื่อทัพสยามถอนกำลังออกไปแล้วยังได้นำร่างของโควิเศษไปด้วย ซึ่งตำนานของชาวกัมพูชาเล่าว่าในท้องของพระโควิเศษนั้นบรรจุสรรพวิทยาการต่างๆ ของอารยธรรมเขมรไว้เป็นจำนวนมาก” การที่ถูกชาวสยามหรือไทยแย่งชิงไป “ทำให้ชาวเขมรหรือกัมพูชาไม่มีความรู้ใดๆ จะมาฟื้นฟูหรือพัฒนาอาณาจักรของตนอีกเลย” กัมพูชาจึงเข้าสู่ยุคมืดยุคเสื่อมไปอีกนานแสนนาน

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ขัดแย้งกับไทยเท่านั้น เวียดนาม ก็เป็นอีกชาติที่ชาวกัมพูชาไม่ค่อยจะพอใจนัก ดังที่ชาวกัมพูชามีสำนวนว่า “อย่าทำชาของนายหก” ซึ่งมีที่มาจากยุคสมัยที่อาณาจักรของชาวญวน (ชื่อเดิมของเวียดนาม) แผ่อิทธิพลเข้าปกครองดินแดนของชาวกัมพูชา “ชาวเวียดนามนั้นปกครองอย่างทารุณโหดร้ายมาก” และมีบทลงโทษคือ “ขุดหลุมฝังชาวกัมพูชาที่ต่อต้านให้เหลือแต่ศีรษะ แล้วนำหม้อใส่ชาที่กำลังร้อนเดือดๆ วางไว้บนศีรษะหากขยับศีรษะน้ำชาเดือดๆ ก็จะหกราดใส่ทันที” เป็นภาพที่สยดสยองและน่าสะพรึงกลัว

ความเจ็บแค้นของชาวกัมพูชาต่อชาวเวียดนามนี้ปรากฏขึ้นในยุคสมัยการปกครองของ “เขมรแดง” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความทารุณโหดร้ายจนมีชาวกัมพูชาตายไปกว่า 2 ล้านคน ช่วงปี 2518-2522 ในเวลานั้นนอกจากชาวกัมพูชาที่เป็นปัญญาชนหรือคนชั้นกลางตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มเขมรแดงด้วยมองว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตขัดกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แล้ว ชาวเวียดนามหรือกัมพูชาเชื้อสายเวียดนามก็ตกเป็นเป้าด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายก็เป็นชาวกัมพูชาที่เปิดทางให้เวียดนามยกกองทัพเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไปเพราะทนความโหดร้ายของเขมรแดงไม่ไหว

ยังไม่นับ “ชาตินิยมในประเทศตนเอง” ดังตัวอย่างของ เมียนมา ที่ในสมัยการปกครองแบบเผด็จการทหาร มีการสร้าง “อนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์” ประกอบด้วย พระเจ้าอโนรธามังช่อ, พระเจ้าบุเรงนอง, พระเจ้าอลองพญา ขึ้นโดยมีความสำคัญคือ “ทั้ง 3 พระองค์เป็นกษัตริย์พม่าแท้” ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ทำเช่นเดียวกันบ้าง เช่นไทใหญ่ ที่ทำสงครามกลางเมืองหวังแยกตัวออกจากการปกครองของพม่า ก็มีการเชิดชู เจ้าเสือข่านฟ้า กษัตริย์ผู้เคยทำให้ชาวไทใหญ่มีอาณาจักรที่เกรียงไกร

ความขัดแย้งของชาวอาเซียนในเรื่องต่างๆ คงไม่ผิดหากจะบอกว่า “ชาตินิยมเป็นปัจจัยสำคัญ..แม้ความเป็นชาติของอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ยไม่ถึง 100 ปีก็ตาม จากการขีดเส้นแบ่งเขตแดนของฝรั่งตะวันตกนักล่าอาณานิคม” ทั้งที่ในอดีตผู้คนแถบนี้เคลื่อนย้ายไปมาค่อนข้างอิสระ แต่ถึงจะมีปัญหาทำนองนี้อยู่เป็นระยะๆ อาเซียนในฐานะประชาคมกลับไม่มีท่าทีอะไรนัก ซึ่งอาจารย์ดุลยภาค ให้มุมมองว่า“อาเซียนเป็นเรื่องท่าทีของผู้นำ” ถ้ารัฐบาลชาติต่างๆ ในอาเซียนเห็นตรงกันก็น่าจะมีนโยบายออกมาใช้ร่วมกันได้

แต่ขณะเดียวกัน “นโยบายไม่ยุ่งกับเรื่องภายในของเพื่อนบ้านก็ทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ไม่มีพลัง” เช่น การเลือกตั้งในกัมพูชาที่แม้นานาชาติจะตำหนิพรรครัฐบาลที่จัดการนักการเมืองฝ่ายค้านและผู้ต่อต้านจนราบคาบไม่เหลือคู่แข่งอีก แต่ชาติอาเซียนกลับนิ่งเฉยไม่แสดงท่าทีกดดัน หรือสื่อบางสำนักของอินโดนีเซียคัดค้านไทยไม่ให้เป็นประธานอาเซียนเพราะมีรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่อาเซียนก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ

“อาเซียนไม่มีตัวแบบอะไรเลยหรือที่จะสะท้อนถึงสันติภาพหรือการแก้ไขปัญหาแบบละมุนละม่อม? เราก็บอกว่ามันเป็นวิถีอาเซียน เรามาคุยกัน เพื่อนละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่เป็นบ้านเพื่อนเราก็ไม่ยุ่งนะ มันก็เป็นแบบนี้ กรณีที่ชัดมากกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารเมียนมา มันก็มีความพยายามรุกกลับเหมือนกัน ท่านสุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านบอกว่าอาเซียนหลักๆ คือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายใน แล้วก็การพัวพันเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) คือมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐสมาชิกทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมแต่ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง

รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ไทยรักไทยยุคทักษิณ ชินวัตร เลือก ConstructiveEngagement ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ของชวน หลักภัย ที่กดดันรัฐบาลทหารเมียนมา ทักษิณบอกว่าอย่าไปยุ่งกับเขามากเดี๋ยวจะเสียผลประโยชน์การค้าการลงทุน แต่ในช่วงเดียวกันคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้คลอดศัพท์การทูต คำว่า การพัวพันเชิงยืดหยุ่น (Flexible Engagement) คือหากรัฐสมาชิกสร้างปัญหาให้รัฐอื่นๆ ในอาเซียน อาเซียนสามารถเข้าไปแทรกแซงเชิงสันติ เข้าไปกดดันได้ มันก็มีความพยายาม” อาจารย์ดุลยภาคยกตัวอย่าง

จากภาพรวมกลับมาสู่ประเด็นทางวัฒนธรรม อาจารย์อรอนงค์ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป เคยมีการแย่งหอระฆังเก่าแก่ที่สร้างมาก่อนยุคแบ่งเขตประเทศในปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่าให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันของทั้ง 2 ชาติ “เรื่องวัฒนธรรมร่วมไม่ใช่ใครเสียเปรียบใคร” ขึ้นทะเบียนร่วมกันทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน “ท่าทีของผู้นำ” ก็มีผลด้วยว่าจะทำให้สถานการณ์บานปลายหรือไม่

“ในประเด็นมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ถ้าในระดับประชาชนอาจจะมีท้าตีท้าต่อยหรือมาด่ากันตามเว็บไซต์ คือเข้าใจกันได้ง่ายเพราะใช้ภาษาเดียวกัน ด่ากันก็เข้าใจได้ทันที แต่ในระดับผู้นำเขาไม่เล่นเกมนั้นไปด้วย แม้ในใจอาจจะอยากหรืออาจจะมีความชาตินิยมสูงแต่ระดับผู้นำเขาใช้วิธีแก้ปัญหาแบบประนีประนอม พยายามบอกว่าเราก็มีความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียงกัน ฉะนั้นพอเกิดปัญหาก็ควรคุยกันฉันมิตรในฐานะประเทศที่พรมแดนติดกัน มีประวัติความเป็นมาร่วมกัน” อาจารย์อรอนงค์ ฝากข้อคิด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ตชด.ซุ่มจับยาบ้า 3 แสนเม็ดริมโขงศรีสงครามพบสารอันตรายผสมหวังทะลักเข้าตอนใน

'นฤมล' ย้ำ 'กล้าธรรม'ไม่ใช่สาขาพรรคใคร เผยสาเหตุ'ธรรมนัส' พบ 'ทักษิณ'

แม่สายสกัดจับ! บุหรี่เถื่อนซุกพัสดุ เตรียมส่งกรุงเทพฯ-ชลบุรี

'นฤมล'ลุยนโยบายการศึกษากล้าธรรม ระดมความเห็นแก้ปัญหา ปลื้มหลายคนทยอยย้ายเข้าพรรค 

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved